นักวิจัยขุดพบไวรัสขนาดใหญ่ที่สุดอีกครั้ง คราวนี้ใหญ่กว่าไวรัสที่เคยพบเป็น 2 เท่า และคาบเกี่ยวระหว่างนิยามของ "สิ่งมีชีวิต" กับ "ไวรัส"
ตามปกติไวรัสทั่วไปมีขนาดใหญ่แค่ 20-300 นาโนเมตร และไวรัสส่วนมากอย่างเช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่และไวรัสเอชไอวี (HIV) นั้นมียีนแค่ 10 ยีนหรือน้อยกว่านั้น ทว่าไวรัสที่เพิ่งค้นใหม่นี้มียีนกว่า 2,500 ยีน
ไลฟ์ไซน์ระบุก่อนหน้านี้ราว 10 ปีที่ผ่านมา มีขนาดใหญ่กว่า 700 นาโนเมตร และมียีนมากกว่า 1,000 ยีน ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของแบคทีเรีย ทำให้ไวรัสดังกล่าวได้ชื่อว่า "มิมิไวรัส" (mimivirus) ซึ่งหมายถึงการเลียนแบบจุลินทรีย์
ส่วนไวรัสขนาดใหญ่ที่สุดที่เพิ่งค้นพบนี้ มียีนราวๆ 2,500 ยีน มีขนาดเล็กกว่าเส้นผม 100 เท่า และมองเห็นผ่านกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง ซึ่งต่างจากไวรัสทั่วไป
ชานทัล อาเบอร์เกล (Chantal Abergel) ผู้วิจัยและผู้อำนวยการวิจัยจากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส (French National Center for Scientific Research) ในมาร์กเซย ฝรั่งเศส กล่าวว่า การค้นพบนี้ได้เขย่าความเข้าใจพื้นฐานที่เรามีต่อไวรัส
รูปทรงของไวรัสคล้ายคลึงเหยือกของกรีกโบราณ จึงเป็นที่มาของชื่อว่า "แพนโดราไวรัส" (pandoraviruses) ซึ่งทีมวิจัยพบระหว่างการเตรียมค้นหาไวรัสใหม่ที่มียีนอยู่ในช่วง 1,000-2,000 ยีน
นักวิจัยพบไวรัส แพนโดราไวรัส ซาไลนัส (Pandoravirus salinus) ซึ่งถูกขุดพบจากปากแม่น้ำตันเควนทางชายฝั่งตอนกลางของชิลี ส่วนไวรัส แพนโดราไวรัส ดัลซิส (Pandoravirus dulcis) อีกชนิดขุดขึ้นจากใต้สระน้ำจืดในเมลเบิร์น ออสเตรเลีย
สิ่งคล้ายไวรัสแพนโดรานั้นถูกพบครั้งแรกเมื่อ 13 ปีก่อน แต่ไลฟ์ไซน์ระบุว่า ครั้งนั้นยังไม่ถูกระบุว่าเป็นไวรัส ส่วนไวรัสขนาดใหญ่ที่เพิ่งพบนี้ เดิมทีถูกเข้าใจผิดว่าเป็นแบคทีเรีย ซึ่งทีมวิจัยพบอยู่ในตัวอะมีบา
หลังอะมีบากลืนกินแพนโดราไวรัสเหล่านี้เข้าไป 2-4 ชั่วโมง นิวเคลียสของอะมีบาก็เปลี่ยนรูปไปอย่างไม่เหลือเค้าเดิม แล้วที่สุดก็หายเกลี้ยง เมื่ออะมีบาตายแล้วก็มีไวรัสแพนโดราอีกประมาณ 100 ไวรัสออกมา
อย่างไรก็ดี ไลฟ์ไซน์ระบุว่า อะมีบาที่นักวิจัยใช้ในการทดลองนี้อาจจะไม่ใช่เป้าหมายในการเป็นแหล่งฝังตัวตามธรรมชาติของไวรัส โดยคาดว่าเป้าหมายหลักของไวรัสเหล่านี้น่าจะเป็นโปรโตซัวหรือสาหร่าย ซึ่งยากที่จะเลี้ยงหรือรักษาไว้ในห้องปฏิบัติการ
นักวิจัยจึงเลือกใช้โปรโตซัวแทนเพราะสามารถเบี้ยงไว้ได้ในห้องปฏิบัติการ และสวาปามสิ่งต่างๆ รอบตัวโดยได้ไม่ยั้ง และกวาดเอาทุกอย่างที่น่าจะเป็นอาหารได้เข้ามากิน จึงเป็นเป้าหมายที่ดีในการจับไวรัสยักษ์
มียีนของไวรัสแพนโดรากว่า 93% ที่เรายังไม่รู้จัก ซึ่งทำให้กำเนิดของไวรัสยังเป็นปริศนา และจากการวิเคราะห์จีโนมของพวกมันบงบอกว่า ไวรัสแพนโดรานั้นไม่ใกล้เคียงกับตระกูลไวรัสใดๆ ที่เรารู้จัก
อาเบอร์เกลกล่าวว่า ไวรัสเหล่านี้มียีนที่เราไม่รู้จักมาก่อนมากกว่า 2,000 ชนิด ในการให้รหัสสร้างโปรตีนและเอ็นไซม์ที่เราไม่ทราบว่าใช้ทำอะไร ซึ่งการไขความกระจ่างในกลไกทางชีวเคมีและกลไกควบคุมของไวรัสอาจจะเป็นเรื่องน่าสนใจยิ่งสำหรับการประยุกต์ทางไบโอเทคโนโลยีและชีวการแพทย์
"เราอยากเสนอทำโครงการศึกษาจีโนมไวรัสแพนโดราอย่างเต็มรูปแบบ" อาเบอร์เกลกล่าว
ด้าน ฌอง-มิเกล คลาวิรี (Jean-Michel Claverie) หัวหน้าห้องปฏิบัติการข้อมูลโครงสร้างและพันธุกรรม (Structural and Genomic Information Laboratory) ในมาร์กเซย ฝรั่งเศส กล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่ว่า ไวรัสแพนโดรานั้นต่างจากตระกูลไวรัสยักษ์อื่นๆ อย่างสิ้นเชิงนั้น อาจบ่งบอกถึงไวรัสยักษ์ตระกูลอื่นๆ อีกที่เรายังค้นไม่พบ