ไม่ใช่สัตว์อะไรก็ได้ที่จะเป็น “สัตว์ทดลอง” ในห้องวิจัย การควบคุม “ตัวแปร” หรือปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการทดลองเป็นเรื่องสำคัญในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ความคงที่ทางพันธุกรรม สภาพจิตใจและความแข็งแรง ปลอดจากเชื้อโรคจึงเป็นเรื่องสำคัญ
การใช้ “สัตว์ทดลอง” ในงานวิจัยวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะการศึกษาทางด้านการแพทย์ สาธารณสุขหรือสัตววิทยาจะไม่สามารถเริ่มขึ้นได้ ซึ่งตามคำอธิบายของ ดร.ประดน จาติกวนิช ประธานคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระบุว่า หากไม่นำมาสัตว์มาใช้ในการทดลองก็จะมีคนจำนวนมากต้องตาย
“ในอดีตนั้นใช้นักโทษมาทดลอง ต่อมาเมื่อมีเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องพยายามหาสิ่งมีชีวิตอื่น เดิมมีการใช้สัตว์ใหญ่อย่างวัวหรือสุกร แต่เนื่องจากเป็นสัตว์ใหญ่ ทำให้การทำงานลำบาก และการรักษาพันธุกรรมให้นิ่งเป็นเรื่องยาก เพราะในการทดลองวิทยาศาสตร์เราจำเป็นต้องรู้พันธุกรรมของสัตว์ที่ใช้ และต้องใช้สายพันธุ์ การเพาะขยายพันธุ์ให้ได้สัตว์ที่มีพันธุกรรมนิ่ง ทำได้ในสัตว์เล็ก และเลือกสัตว์ที่ไม่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หนูแรท หนูเมาส์ จึงถูกนำมาใช้มาในงานวิจัย เพราะเลี้ยงในแหล่งกักขังและสืบสายพันธุ์ได้” ดร.ประดนกล่าว
นอกจากเรื่องพันธุกรรมที่ต้องนิ่งแล้ว ดร.ประดนระบุว่า เพศ อายุและน้ำหนักตัวของสัตว์ทดลองต้องใกล้เคียงกัน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็น “ตัวแปร” ในการทดลอง ทำให้งานวิจัยไม่ได้มาตรฐาน อีกทั้งสัตว์ในการทดลองต้องไม่ติดเชื้อหรืออยู่ในภาวะเครียด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทดลองได้ นำไปสู่หลักการเลี้ยงและดูสัตว์ทดลอง “อยู่ดี กินดี ไม่เครียด ไม่ติดเชื้อ” และเมื่อนำสัตว์ไม่ใช่ในการทดลองต้องไม่ทำให้สัตว์เจ็บปวดหรือทรมาน ซึ่งนักวิจัยต้องมองประเด็นเหล่านี้ให้ออกแล้วออกแบบการทดลองให้สอดคล้องต่อจริยธรรมในการใช้สัตว์ทดลอง
จากหลักการเลี้ยงและดูสัตว์ทดลองนำไปสู่การออกแบบสถานที่เลี้ยงที่ต้องป้องกันไม่ให้สัตว์ติดเชื้อ หรือมีการแพร่กระจายของสารพิษหรือเชื้อโรคได้โดยง่าย รวมถึงการเลี้ยงดูที่ต้องให้อาหารเหมาะสมแก่ชนิดพันธุ์ เช่น จะนำอาหารสำหรับนกขุนทองไปเลี้ยงหนูเมาส์ไม่ได้ เป็นต้น และต้องควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น การถ่ายเทอากาศ แสง เสียงและกลิ่น เพื่อไม่ให้สัตว์ทดลองเครียดหรือตกใจ
ในเรื่องของการเลี้ยงไม่ให้ติดเชื้อนั้นมีทั้งระดับการเลี้ยงตั้งแต่ปลอดเชื้อทุกชนิด ปลอดเชื้อบางชนิด และระดับคุมได้บ้าง-ไม่ได้บ้างที่จัดเป็นระดับอนามัยชนิดเข้ม ซึ่ง ดร.ประดนให้ข้อมูลแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าขณะนี้ห้องทดลองในเมืองไทยสามารถเลี้ยงสัตว์ทดลองได้ดีที่สุดแค่ระดับ “ปลอดเชื้อบางชนิด” เท่านั้น และปัญหาของไทยคือบุคลากรที่มีอยู่ยังไม่เข้าใจถึงปัญหาของการเลี้ยงสัตว์ทดลองให้ได้มาตรฐานตามต้องการ ยังขาดสัตวแพทย์ที่เข้าใจว่าสัตว์ทดลองนั้นต้องปลอดเชื้อระดับใด ขาดคนเลี้ยงสัตว์ทดลองและอุปกรณ์ที่จะทำให้การเลี้ยงได้มาตรฐาน
“คนเลี้ยงสัตว์ทดลองจำเป็นต้องมีความรู้เรื่อง มีความรู้เรื่องการป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งในความคิดผมความรู้ระดับอาชีวศึกษาถือว่าเพียงพอ แต่ต้องได้รับการอบรม แต่คำถามคือเรารับคนระดับไหนเข้ามาดูแลสัตว์ทดลอง ยังไม่มีกฎเกณฑ์ออกมา ทั้งที่เขาคือคนในระดับปฏิบัติการที่ใกล้ชิดสัตว์ทดลองโดยตรง ซึ่งบ้านเรายังไม่มีตรงนี้ มีเพียงคนเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ และยังขาดสัตวแพทย์ที่ควบคุมคนเลี้ยงสัตว์ทดลอง และไม่รู้ว่าสัตว์ต้องได้รับการป้องกันการติดเชื้อถึงระดับไหน” ดรงประดนระบุปัญหา
ทั้งนี้ คณะกรรมการแห่งชาติเพื่อพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พยายามร่างพระราชบัญญัติเพื่อควบคุมการใช้สัตว์ทดลองมาตั้งแต่ปี 2548 แต่ด้วยปัญหาการเมืองและปัญหาทางด้านเทคนิคหลายๆ อย่างทำให้ยังไม่มีพระราชบัญญัติดังกล่าวออกมา แต่ล่าสุดร่างพระราชบัญญัติได้ผ่านถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือนำเรื่องเข้าสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอความเห็นจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากผ่านความเห็นชอบก็จะนำไปสู่การร่างกฏกระทรวงต่อไป
ดร.ปัทมารัตน์ กุญชร ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย วช. ซึ่งดูแลเรื่องการร่างพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สัตว์ทดลองกล่าวถึงประโยชน์ของการมีกฏควบคุมว่า จะเป็นการส่งเสริมการวิจัย เพราะการเลี้ยงสัตว์และใช้ให้ได้มาตรฐานจะทำให้งานวิจัยได้มาตรฐานด้วย ซึ่งจะทำให้งานวิจัยนั้นได้รับการยอมรับในระดับสากล โดย ดร.ประดนได้เสริมว่า ส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัยให้การผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จคือการขาดสัตว์ทดลอง ซึ่งไม่ใช่ว่าจะใช้สัตว์อะไรก็ได้มาทดลอง แต่ต้องเป็นสัตว์ที่มีการควบคุมตามมาตรฐานสัตว์ทดลองดังที่ระบุข้างต้น
ดร.ปัทมารัตน์เสริมอีกว่า ปัจจุบันมีการใช้สัตว์ในงานวิทยาศาสตร์ที่ขยายวงกว้างไปถึงสัตว์น้ำ สัตว์เศรษฐกิจและสัตว์ป่า ดังนั้น จึงมีการประชุมวิชาการการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 3 เพื่อให้มีการตระหนักถึงการเลือกใช้สัตว์หรือทางเลือกอื่นนอกจากการสัตว์ เช่น ใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ การใช้เนื้อเยื่อเพาะเลี้ยงแทนสัตว์ทดลอง หรือใช้สัตว์เลือดเย็นอย่างปลา เป็นต้น
ภายในประชุมวิชาการดังกล่าวซึ่งจัด ขึ้นระหว่างวันที่ 29-31 ก.ค.56โดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (สลช.) สำนักงานคณะคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ยังจัดให้มีการสัมมนาประชาพิจาร์ณร่างมาตรฐานการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานวิทยาศาสตร์ โดยคาดหวังว่าผู้ใช้สัตว์ในงานวิทยาศาสตร์และผู้สนใจจะเข้าร่วมวิพากษ์ และให้ข้อเสนอแนะเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดมาตรฐานให้เหมาะสมแก่การพัฒนางานให้ได้มาตรฐานสากลต่อไป