xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลังวงการวิทย์แดนภารตะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปรี๊ดเคยเดินทางไปอินเดียจะสัมผัสได้ว่าแม้จะประชากรจำนวนมากและอดีตที่ขมขื่นจากระบบจักรวรรดินิยม แต่คนอินเดียมีแนวคิดชาตินิยมและมีต้นแบบด้านวิทยาศาสตร์หลายคน ซึ่งส่วนกระตุ้นให้เกิดการสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์ควบคู่กับการศึกษาอย่างเข้มข้น แม้กระทั่งเด็กเล็กๆ ก็มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีมาก หลายคนพูดจาฉะฉานมั่นใจว่า “โตขึ้นหนูจะเป็นนักวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาประเทศ”
ท่ามกลางกระแสการเมืองบ้านเราที่ร้อนระอุ อินเดียได้ส่งจรวดเพื่อสำรวจดาวอังคารสำเร็จเป็นประเทศแรกของเอเชีย นี่เป็นเพียงความสำเร็จที่เห็นชัดของการปฏิรูปวงการวิทยาศาสตร์แดนภารตะ ซึ่งกำลังวิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและไม่หยุดนิ่ง

หากเทียบอินเดียกับไทย ขนาดเศรษฐกิจของอินเดียใหญ่กว่าไทยมากกว่า 10 เท่า จึงอาจไม่แปลกหากอินเดียจะกล้าหาญคิดพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ให้ทัดเทียมกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ แต่ก็มีคำถามว่าหากรัฐบาลอินเดียใช้เงินทุนมหาศาลกลับไปใช้เลี้ยงปากท้องคนในประเทศกว่าพันล้านคนจะดีกว่าไหม? หรือความคุ้มค่าของการลงทุนนั้นจะหวังผลระยะยาวได้เพียงใด?

รัฐบาลอินเดียเริ่มปฏิรูปวงการวิทยาศาสตร์มากว่า 50 ปี จนประสบความสำเร็จในระดับต้นๆ ของเอเชีย หลักฐานที่คนทั่วโลกเห็นชัดคือสายงานด้านอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีอวกาศ และการออกแบบยา แต่ไม่หยุดแค่นั้น วงการวิทยาศาสตร์อินเดียกำลังรุ่งโรจน์ เพราะรัฐบาลอินเดียกำลังดำเนินการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ตามแผน 12 ในระยะ 5 ปี (2554-2559) และมีเป้าหมายการลงทุนถึง 2% ของ GDP (ราว 1.5หมื่นล้านบาท) โดยยันยืนว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและสามารถสร้างงานในวงการวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดด

โดยตั้งสถาบันการศึกษาและวิจัยแห่งชาติ 5 แห่ง สถาบันวิทยาศาสตร์ศึกษาเพื่อการวิจัย 9 แห่ง และมหาวิทยาลัยแห่งชาติที่เน้นงานวิจัยอีก 28 แห่ง และเพิ่มเงินทุนอีก 30% ให้กับสถาบันวิจัยเดิมที่ดำเนินงานวิจัยอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น สถาบันวิจัยเทคโนโลยีอวกาศ และสถาบันวิจัยที่ร่วมกับเอกชนอย่าง TATA เป็นต้น

ในช่วงเวลาที่เอเชียกำลังเติบโตทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อ คนทั่วโลกจึงหันมาสนใจกับการเปลี่ยนแปลงภายในภูมิภาคของเราไม่เว้นแม้แต่วงการวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะคนเอเชียที่เดินทางไปร่ำเรียน หรือทำงานวิจัยในต่างประเทศ ก็กำลังมองหาโอกาส “กลับบ้าน” หากมีโอกาสก้าวหน้า มีทุนวิจัย มีตำแหน่งงานมากพอ แต่ค่าครองชีพถูกลง ทำไมคนเก่งๆ จะไม่อยากกลับมาอยู่กับครอบครัวที่อบอุ่นและคุ้นเคย

นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ๆ ที่มีศักยภาพสูงของอินเดียที่มักเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศและเลือกทำงานเป็นอาจารย์ นักวิจัย หรือนักวิจัยหลังปริญญาเอกในยุโรปและอเมริกา มากกว่ากลับมาทำงานในอินเดีย เมื่อเทียบสัดส่วนประชากรอินเดียกับประชากรโลก คนอินเดียกลุ่มนี้จึงถือเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของวงการวิทยาศาสตร์โลกด้วยเช่นกัน ดังนั้น พวกเขาจึงเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาลอินเดียที่ต้องการให้เกิดปรากฏการณ์สมองไหลกลับมาทำงานที่บ้าน เพราะมีศักยภาพพร้อมทำงาน มีเครือข่ายระดับโลก และส่งต่อทักษะให้กับคนรุ่นใหม่ได้ทันที

เมื่อปลายเดือนตุลาคม ก่อนการปล่อย “มงคลยาน” ไม่นานนัก วารสาร Science Careers จึงได้เสนอบทความเจาะลึกเบื้องหลังชีวิตและมุมมองการเลือกงานของนักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียทั้งในประเทศและที่เลือกทำงานในต่างประเทศ บนคำถามซึ่งพื้นที่สุดคือ “รัฐบาลเค้าลงทุนขนาดนี้แล้วคุณคิดว่าวงการวิทยาศาสตร์ของอินเดียน่าทำงานไหม?”

นักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียที่กำลังเรียนหรือทำงานในต่างประเทศส่วนมาก คิดเห็นตรงกันว่า “การกลับมาทำงานในอินเดียตอนนี้ ไม่ใช่แค่ทางเลือกแต่เป็นจุดหมาย” การทำงานในต่างประเทศแม้จะสะดวกสบายกว่า แต่เมื่อโครงสร้างพื้นฐานในอินเดียพร้อมสรรพแล้ว ทำไมคนถึงจะไม่อยากกลับบ้าน ยิ่งคนอินเดียที่ได้ชื่อว่ามีความเป็น “ชาตินิยม” เข้มขนขนชาติหนึ่ง การกลับบ้านเพื่อทำงานพัฒนาประเทศน่าจะเป็นเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจนมาก
ดร. เอ. พี. เจ. อับดุล กลาม อดีตประธานาธิบดีของอินเดีย นักการเมืองผู้สำเร็จการศึกษาสาขาวิศกรรมอวกาศจาก MIT เป็นที่รู้จักจากผลงานด้านนิวเคลียร์ฟิสิกส์และวิศกรรมอวกาศ จึงเป็นบุคคลต้นแบบ ที่เด็กอินเดีย “กรี๊ด” มาก การเข้าบรรยายในห้องประชุมไม่ต่างกับขึ้นเวทีคอนเสิร์ตเกาหลีในประเทศไทย ต่างกันที่เด็กอินเดียรุมล้อมนักวิทยาศาสตร์เผื่อตั้งคำถาม พูดคุย และขอจับมือ
นักวิทยาศาสตร์รุ่นเก๋าซึ่งทำงานในอินเดียมาตลอดชีวิตเสริมว่า “วงการวิทยาศาสตร์ในอินเดียตอนนี้ เหมือนได้ทำงานบนสวรรค์” ทุกอย่างพรั่งพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน กำลังคน และที่สำคัญคือทุนวิจัยที่ได้มากกว่าเดิมอย่างน้อย 30% ในทุกๆ โครงการ หรือแม้กระทั่งจะเลือกทำงานในมหาวิทยาลัยสักแห่ง และควบตำแหน่งกับการเป็นนักวิจัยในสถาบันวิจัยแห่งชาติอีกสักแห่งก็ได้ เพราะโอกาสและตำแหน่งงานตอนนี้มีเหลือเฝือจริงๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับสิบหรือยี่สิบปีก่อน ถือว่าเป็นปรากฏการณ์พลิบหน้ามือเลยทีเดียว

ทว่าในดีก็ย่อมมีเสีย เพราะอินเดียยังมีข้อจำกัดในด้านการบริหารจัดการ ตามแบบฉบับ “อินเดียโอน์ลี่” ซึ่งฟังดูก็คล้ายๆ กับบ้านเรา เช่น ความล่าช้าของการขนส่งและการจัดการเอกสาร ปัญหานี้ดูเป็นเรื่องไร้สาระแต่สำหรับงานวิจัยโดยเฉพาะด้านชีววิทยา เคมี ชีวเคมีหรือเภสัชศาสตร์ สารเคมี หรือเอมไซม์หนึ่งตัว ถือเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้งานทั้งโครงการเดินเครื่องได้ ในศูนย์วิจัยและหมาวิทยาลัยชื่อดังของโลกมีตู้กดเอมไซม์อัตโนมัติวางไว้ให้เลือกกดได้ในไม่กี่นาทีไม่ต่างจากตู้กดน้ำอัดลม แต่อินเดียกลับขึ้นชื่อเรื่องความยุ่งยากในการทำเอกสารนำเข้า และระบบขนส่งที่เชื่อมั่นได้น้อย ทำให้เกิดปัญหาที่คาดไม่ถึทำให้งานวิจัยล่าช้าเป็นประจำและไม่เคยปรับเปลี่ยนได้เลย

เรื่องขวัญกำลังใจหรือรายได้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเก่งๆ ของอินเดียที่กระจายอยู่ในยุโรปและอเมริกายังลังเลใจที่จะกลับบ้าน เพราะแม้โครงสร้างพื้นฐานหรือเงินที่ลงทุนในงานวิจัยจะมากมายขนาดไหน แต่เงินเดือนสำหรับอาจารย์และนักวิจัยในองค์กรของรัฐกลับต่ำอย่างน่าใจหาย คือ ราว 2-3 หมื่นบาท (ก็เท่าๆ บ้านเรานะราคานี้...แหะๆ) และเงินทุนที่รัฐบาลให้มาก็เป็นเงินที่จำกัดให้ซื้อวัสดุและคุรุภัณฑ์ มากกว่าแค่ตอบแทนส่วนตัว คือมีสัดส่วนราว 70:30 ซึ่งกลับกันกับลักษณะการให้ทุนของยุโรปและอเมริกาที่มีสัดส่วนค่าตอบแทนนักวิจัยสูงกว่า การรับทุนของอินเดียจึงเปรียบเสมือนว่าเงินเกือบทั้งหมดต้องใช้ไปกับการซื้อคุรุภัณฑ์และวัสดุ และอาจถึงขั้นต้องควักเนื้อเงินเดือนนักวิจัยเข้าไปอีก

อย่างไรก็ตาม ข้อดีและดูจะสำคัญมากที่สุดที่นักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียเห็นตรงกันคือ “การเปิดพื้นที่วิจัยใหม่” เพราะหากเลือกทำงานในประเทศมหาอำนาจต่างๆ ก็ต้องแข่งขันกับคนเก่งๆ จากทั่วโลก มากมาย หากยังไม่มีศักยภาพมากพอก็จะมีสถานะเป็นเพียงผู้ตามไม่สามารถกำหนดทิศทางงานวิจัยของตนเองได้ แต่หากกลับมาทำงานในประเทศตามโจทย์ที่สอดคล้องกับบริบทพื้นฐาน และนักวิจัยมีศักยภาพสูงพอจะเป็นผู้นำ การแข่งขันแม้จะมีบ้างแต่ก็ถือเป็นการแข่งขันเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศ เพราะผลดีที่ได้ก็จะตกอยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ของอินเดียเอง ไม่ต้องแข่งกันทำงานเพื่อชนชาติอื่นอีกต่อไป

สุดท้ายน่าติดตามว่า การอัดฉีดเงินเข้าไปในวงการวิทยาศาสตร์ของอินเดียตามแผนปฏิรูป 5 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดราวปี 2559 จะได้ผลเป็นอย่างไร จะดึงคนเก่งๆ กลับมาสำนึกรักบ้านเกิดได้มากขนาดไหน และจะมีผลกระทบอย่างไรบ้างกับวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเอเชียจนถึงระดับโลก คำถามนี้แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียก็ยังตั้งคำถามว่า “จะรุ่งหรือร่วง และหวังว่าทุนวิจัย 2% GDP จะไม่ใช่นโยบายขายฝัน” (คุ้นๆ ไหมครับ)

หากกลับมาดูในบ้านเรา แม้นายปรี๊ดจะเกิดไม่ทัน แต่พอรู้ว่าเราเริ่มใส่แนวคิดการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาประเทศในแผนพัฒนาเศรฐกิจและสังคมแห่งชาติมาเกือบ 50 ปี เท่าๆ กับอินเดีย และมีศูนย์วิจัยแห่งชติเมื่อสัก 20 ปีที่ผ่านมา ไม่นานนี้เราก็เริ่มคุยกันเรื่องมหาวิทยาลัยวิจัย และรัฐบาลเราก็เคยขายฝันทุนวิจัย 2% GDP เหมือนกันเป๊ะ...น่าคิดว่าในเมื่อเริ่มต้นออกวิ่งเมื่อ 50 ปีที่แล้วเหมือนกัน อะไรที่ทำให้อินเดียทิ้งห่างกับเราออกไปไกลมากมายขนาดนี้?

เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว

ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์







กำลังโหลดความคิดเห็น