นักวิจัยไทยใช้เทคนิคใหม่เพาะไวรัสไข้เลือดออกได้ความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่าเดิมเป็นหมื่นเท่า ปูทางสู่การผลิตวัคซีนป้องกันโรคเขตร้อนที่ปัจจุบันยังไม่มียารักษา โดยรับทุนจากแคนาดา 3 ล้านเพื่อดำเนินโครงการเป็นเวลา 18 เดือน แต่มีคำถามว่า ไวรัสที่เพาะมามากมายจะทำให้นักวิจัยกลายเป็น “ซอมบี้” ไหม?
หลังจากนำเสนอรายงานเกี่ยวกับงานวิจัยของ ดร.บรรพท ศิริเดชาดิลก นักวิจัยหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ซึ่งได้รับทุน 3 ล้านบาทจากแกรนด์ชาเลนจ์แคนาดา (Grand Challenge Canada) องค์กรสนับสนุนทุนวิจัยจากแคนาดา เพื่อพัฒนาเชื้อไวรัสเด็งกี่มีชีวิตที่อ่อนฤทธิ์ (live attenuated vaccine approach) ด้วยเทคนิคใหม่เพื่อให้มีความหลากหลายเป็นหมื่นเท่าของเทคนิคเดิม เป็นระยะเวลา 18 เดือน ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้รับคำถามว่า ทีมวิจัยจะควบคุมไวรัสเหล่านั้นได้อย่างไร แล้วไวรัสจะแพร่กระจายจนทำให้นักวิจัยในห้องปฏิบัติการกลายเป็นผีดิบหรือไม่?
ทั้งนี้ ดร.บรรพท ได้ชี้แจงแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ระหว่างเปิดให้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ณ โรงพยาบาลศิริราช ว่าการแพร่กระจายของไวรัสเด็งกี่ หรือไวรัสไข้เลือดออกนั้นไม่ง่ายเหมือนไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยทีมวิจัยเลี้ยงเชื้อไวรัสในอาหารเหลว ซึ่งการจะติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกได้ต้องมี “ยุง” เป็นพาหะ หรือนักวิจัยฉีดเชื้อไวรัสเข้ากระแสเลือด ส่วนการแพร่กระจายของไวรัสไข้หวัดใหญ่จะเกิดขึ้นง่ายกว่าหากทำให้ไวรัสอยู่ในรูปฝอยละออง หรือสัมผัสสารเหลวที่มีเชื้อไวรัสตามร่างกาย
ดร.บรรพท อธิบายด้วยว่า ปกติเมื่อรับเชื้อไวรัสไข้เลือดออกกลุ่มแรกมักไม่เป็นโรคไข้เลือดออกในทันที เนื่องจากร่างกาย จะสร้างภูมิคุ้มกันไว้ แต่เมื่อรับเชื้อกลุ่มอื่นซ้ำจะทำให้เป็นโรค เนื่องจากไวรัสกลุ่มแรกได้สร้าง “ช่องทางลับ” ที่ลวงภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทั้งนี้ โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาสาธารณสุขของไทยและประเทศในเขตร้อนและร้อนชื้น โดยแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกประมาณ 100 ล้านคน และมีประชากรราว 3,000 คน มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก โดยมีเชื้อทั้งหมด 4 กลุ่ม และเพิ่งค้นพบเชื้อกลุ่มใหญ่อีกกลุ่ม
(อ่านเพิ่มเติม - นักวิจัยไทยเพาะไวรัสหมื่นสายพันธุ์ ปูทางวัคซีนไข้เลือดออก )