xs
xsm
sm
md
lg

ความทรงจำแย่ๆ ถ่ายทอดผ่านยีนจากรุ่นสู่รุ่นได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การทดลองในหนูทดลอง พบว่า ความทรงจำระดับยีนในเรื่องการเกลียดกลิ่น สามารถส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นได้ (บีบีซีนิวส์)
จากการศึกษาในสัตว์พบว่าพฤติกรรมที่สัตว์แสดงออกเป็นผลสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านความทรงจำในระดับพันธุกรรม โดยการทดลองแสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์ร้ายๆ มีผลกระทบต่อดีเอ็นเอในสเปิร์ม ซึ่งส่งผลสมองและพฤติกรรมของทายาทในรุ่นถัดๆ มา

บีบีซีนิวส์อ้างรายงานในเนเจอร์นิวโรไซน์ (Nature Neuroscience) ที่แสดงให้เห็นว่า หนูทดลองที่ได้รับการฝึกให้หลบเลี่ยงกลิ่นบางอย่าง สามารถถ่ายทอดความรังเกียจดังกล่าวสู่รุ่นลูกได้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ผลการทดลองนี้สำคัญต่องานวิจัยในเรื่องโรคกลัวและความกังวล โดยสัตว์ทดลองถูกฝึกให้กลัวกลิ่นที่ใกล้เคียงกับดอกซากุระ (cherry blossom) ซึ่งทีมวิจัยจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยอีโมรี (Emory University School of Medicine) สหรัฐฯ ได้ศึกษาผลการทดลองดังกล่าวว่า เกิดอะไรขึ้นภายในสเปิร์ม

ทีมวิจัยเผยให้เห็น มีชิ้นส่วนดีเอ็นที่ตอบสนองต่อความไวในการรับรู้กลิ่นดอกซากุระ ส่งผลมากขึ้นในสเปิร์มของหนูทดลอง โดยที่หนู 2 กลุ่ม คือหนูรุ่นลูกและรุ่นหลานจะไวต่อกลิ่นดอกซากุระมากขึ้น และจะหลีกเลี่ยงกลิ่นนี้ แม้ว่าหนูเหล่านั้นจะไม่เคยสูดกลิ่นนี้มาก่อนเลยในชีวิตก็ตาม และยังพบว่าโครงสร้างของสมองของพวกมันถูกเปลี่ยนไปด้วย

งานวิจัยนี้สรุปว่า ประสบการณ์รุ่นพ่อแม่ แม้ก่อนการตั้งท้อง ส่งอิทธิพลอย่างเด่นชัด ทั้งต่อโครงสร้างและการทำงานของระบบประสาทต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น โดยการค้นพบนี้เป็นหลักฐานในเรื่อง “มรดกทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น” โดยสิ่งแวดล้อมมีผลต่อลักษณะทางพันธุกรรมเฉพาะตัว และสืบทอดต่อๆ กันได้

หนึ่งในทีมวิจัย คือ ดร.ไบรทัน ดิแอส (Dr.Brian Dias) กล่าวกับบีบีซีนิวส์ว่า  นั่นเป็นกลไกอย่างหนึ่งที่ลูกหลานแสดงลักษณะฝังใจที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ จึงไม่มีข้อสงสัยใดๆ ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับไข่และสเปิร์มส่งผลต่อเนื่องไปยังลูกหลาน

ทางด้าน ศ.มาร์คัส เพมเบรย์ (Prof Marcus Pembrey) จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่งต่อโรคกลัวสิ่งต่างๆ ความกังวล และโรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง (Post Traumatic Stress Disorder: PTSD) และให้หลักฐานที่ต้องจำยอมว่า การก่อร่างความทรงจำนั้นสามารถส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้

ศ.เพมเบรย์ ให้ความเห็นด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่นักวิจัยทางด้านสาธารณสุขต้องให้ความสำคัญต่อการถ่ายทอดทางพันธุกรรมอย่างจริงจังแล้ว และเขายังสงสัยว่าเราอาจจะไม่เข้าใจถึงความผิดปกติในโรคเกี่ยวกับจิตเวชศาสตร์ โรคอ้วน โรคเบาหวาน และความผิดปกติในระบบเผาผลาญ หากเข้าไม่ถึงการถ่ายทอดทางพันธุกรรมในรุ่นต่างๆ

ในส่วนการศึกษาเรื่องการเกลียดกลิ่นนี้ เชื่อว่าบางกลิ่นนั้นไปสิ้นสุดในกระแสเลือด ซึ่งมีผลต่อการผลิตสเปิร์ม หรือสัญญาณจากสมองส่งไปยังสเปิร์มเพื่อปรับเปลี่ยนดีเอ็นเอ







กำลังโหลดความคิดเห็น