ลิ้นจี่มีสรรพคุณป้องกันโรคตับ
“ลิ้นจี่”เป็นผลไม้ที่มีสีแดงมีมายาวนานกว่าพันปี ซึ่งมีต้นกำเนิดของผลไม้ชนิดนี้มาจากประเทศจีนมีหลากหลายสายพันธุ์ทั้ง กิมเจ็ง ฮงฮวย และ จักรพรรดิ ในบ้านเราแหล่งที่มีพื้นที่ปลูกมากจะอยู่ในภาคเหนือ และเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้ไทย รศ.ดร.ภญ.พาณี ศิริสะอาด คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงศึกษาค้นคว้าคุณประโยชน์ผลไม้ดังกล่าว
รศ.ดร.ภญ.พาณี เปิดเผยว่า... ช่วงนี้เราเริ่มเห็นผลลิ้นจี่ทยอยสุก แต่สียังไม่เข้มจัดการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่มักเริ่มในเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน เมื่อลิ้นจี่ออกสู่ท้องตลาดลิ้นจี่จะเป็นของฝากที่มีคุณค่าที่เหมาะสำหรับผู้รับ เนื่องจากอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต และโปรตีน และช่วยย่อยอาหาร ช่วยในการบำรุงอวัยวะภายในต่างๆ ภายในร่างกาย
ทั้งนี้จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลพบว่าเนื้อลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามิน และเกลือแร่ น้ำมันจากเมล็ดลิ้นจี่มีสารประกอบ เป็นกรดไขมันที่สำคัญ เช่น ปาล์มมิติก 12% โอลิอิก 27% และไลโนเลอิก 11% เปลือก จะมีสารกลุ่มฟลาโวนอลที่สำคัญคือ โพรไซยาไนดินบี 4 ไพรไซยา-ไนดินบี 2 และอีพิคาเทชิน ส่วนที่สำคัญคือ ไซยาไนดิน-3-รูตินโนไซด์ ไซยาไนดิน-3กลูโคไซด์ เควอเซทิน-3-รูติโนไซด์ และเควอเซทิน-3-กลูโคไซด์ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง
และ...ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเต้านมจากสรรพคุณดังกล่าว ชาวแดนมังกรจึงนิยมกินผลไม้ดังกล่าวเพื่อช่วยบำรุงแก้อาการไอเรื้อรัง คัดจมูก อาการท้องเดิน ลดกรดในกระเพาะอาหาร และยังนำมาทำเป็นชาชงเพื่อบรรเทาอาการหวัด แก้การติดเชื้อในลำคออาการท้องเสียอย่างอ่อน และโรคจากการติดเชื้อไวรัส
เปลือกเนื้อใน รวมทั้งเมล็ดล้วนมีโอสถสาร
จากรายงานวิจัยยังพบว่าสารสกัดลิ้นจี่ลดขนาดเนื้องอกในสัตว์ทดลอง แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นสารสกัดส่วนใดของลิ้นจี่สำหรับงานวิจัยนักวิทยาศาสตร์ของไทยพบว่า สารสกัดผลลิ้นจี่มีฤทธิ์ในการปกป้องตับ ในหนูที่เหนี่ยวนำให้ได้รับสารพิษและเป็นโรคตับ