เอเอฟพี – หากคุณเป็นคนหนึ่งที่คิดว่าการรับประทานน้ำตาลเทียมแล้วจะช่วยให้ได้รับพลังงานส่วนเกินน้อยลง คุณจะต้องเปลี่ยนความคิดแน่ๆ หลังจากที่อ่านงานวิจัยใหม่ของมหาวิทยาลัยเยลแล้ว
งานวิจัยฉบับใหม่ของเยลพบว่า การรับประทานผลิตภัณฑ์รสหวานที่ให้พลังงานต่ำ แท้ที่จริงแล้วเป็นการบั่นทอนความพยายามลดปริมาณแคลอรีที่บริโภคเข้าไป เพราะจะไปกระตุ้นให้เราต้องการรับประทานอาหารที่มีแคลอรีสูงขึ้นในภายหลัง
หรือ อย่างที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ถึงแม้เราจะมีความตั้งใจดีก็ตาม แต่อย่างไรเสียน้ำตาลเทียมพวกนี้ก็หลอกสมองของเราไม่ได้
นั่นก็เป็นเพราะว่า ในงานวิจัยที่ใช้หนูทดลองชิ้นนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้สังเกตเห็นว่า สัญญาณเฉพาะทางสรีรวิทยาอย่างหนึ่ง ที่มีหน้าที่ควบคุมระดับสารโดปามีน ซึ่งเป็นสารเคมีที่จะหลั่งออกมาเมื่อเกิดความรู้สึกพึงพอใจ จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อน้ำตาลสลายตัวอยู่ในรูปที่สามารถเผาผลาญและเป็นพลังงานแก่ร่างกายได้
ในการวิจัยครั้งนี้ คณะนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดสอบทางพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสารให้ความหวานและน้ำตาล และวัดปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นในวงจรของสมอง
“ตามข้อมูลที่ได้ เมื่อเราให้สสาร (น้ำตาลเทียม) ที่ไปรบกวนขั้นตอนสำคัญยิ่งในกระบวนการ ‘เปลี่ยนน้ำตาลเป็นพลังงาน’ สัตว์ทดลองจะรู้สึกสนใจบริโภคสารให้ความหวานน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ในเวลาเดียวกันระดับของโดปามีนในสมองก็ลดลงไปมากเช่นกัน” อีวัน เด อาเราโจ หัวหน้าคณะผู้เขียนของวารสาร “Journal of Physiology” อธิบาย
ในบทความแสดงความคิดเห็นซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร “Trends in Endocrinology & Metabolism” เมื่อช่วงฤดูร้อนนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญอ้างถึงงานวิจัยคล้ายๆ กันซึ่งชี้ว่า การรับประทานสารให้ความหวานที่ให้พลังงาน 0 กิโลแคลอรี จะไปเปลี่ยนแปลงศูนย์ความสุขในสมอง และทำให้ร่างกายแสดงปฏิกิริยาตอบสนองรสหวานแบบเบื่อหน่ายหดหู่ ส่งผลให้หนูทดลองหันมากินอาหารที่ให้พลังงานสูงขึ้นในภายหลัง
นอกจากนี้ น้ำตาลเทียมยังมีส่วนทำให้เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวานประเภท 2 และโรคหลอดเลือดหัวใจ
บทเรียนทั้งหมดที่ได้จากงานวิจัยชิ้นนี้คือ ควรจำกัดการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาล หมั่นดื่มน้ำเปล่า และถ้าอยากกินของหวานจนทนไม่ได้ ก็ลองเปลี่ยนไปดื่มน้ำผลไม้ที่มีกากใยสูง และไม่ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ หรือพวกสมูทตีแทน