กินเค้กช็อกโกแลตสักชิ้น น้ำอัดลมสักแก้ว ก่อนนอน ให้ผลร้ายต่อสุขภาพมากกว่ากินอาหารประเภทเดียวกันนี้ในตอนเช้า โดยงานวิจัยใหม่ยืนยันและตอกย้ำชัดเจนลงไปว่า ร่างกายมีแนวโน้มจะแปลงอาหารมื้อดึกไปเป็นไขมันมากขึ้น ในขณะที่ระหว่างร่างกายจะแปลงอาหารเหล่านั้นไปเป็นพลังงาน
งานวิจัยดังกล่าวไลฟ์ไซน์ระบุว่า เป็นการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารเคอร์เรนท์ไบโอโลจี (Current Biology) ซึ่งพบว่า ความสามารถในการควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดของหนูนั้นแปรเปลี่ยนไปในระหว่างวัน ยิ่งกว่านั้นการรบกวนสมดุลของนาฬิกาชีวิต (circadian clock) ที่ส่งสัญญาณให้หลับหรือตื่น ด้วยการให้อะไรเข้าไปในร่างกาย เป็นสาเหตุให้หนูเหล่านั้นอ้วนขึ้น และการศึกษานี้ยังอธิบายว่าเหตุใดคนงานกะกลางคืนจึงมีแนวโน้มที่อ้วนและเป็นเบาหวานได้มากกว่าปกติ
คาร์ล จอห์นสัน (Carl Johnson) นักชีววิทยาลำดับเวลา (chronobiologist) จากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt University) สหรัฐฯ กล่าวว่า การรบกวนนาฬิกาชีวิตจะนำไปสู่การรบกวนกระบวนการเมตาบอลิซึม หรือกระบวนการเผาพลาญอาหาร ซึ่งยิ่งจะทำให้อ้วนมากขึ้น แม้ว่าอาหารที่กินจะมีแคลอรี่เท่ากันหรือเป็นอาหารชนิดเดียวกันก็ตาม ดังนั้น จึงไม่ใช่แค่ใส่ใจว่ากินอะไร แต่กินเวลาไหนก็เป็นเรื่องสำคัญ
หลายๆ การศึกษาก่อนหน้านี้เผยให้เห็นว่า คนทำงานกะกลางคืนนั้นมีน้ำหนักตัวมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเป็นเบาหวานได้มากกว่าปกติ งานวิจัยเก่าๆ แสดงให้เห็นว่า หนูที่ออกหากินในช่วงเวลากลางคืนจะมีไขมันมากขึ้น แม้ว่าจะได้รับปริมาณแคลอรี่เท่ากัน ซึ่งนักวิจัยสันนิษฐานว่านาฬิกาชีวิตนี้มีบทบาทสำคัญ แต่มีบทบาทอย่างไรนั้นยังเป็นปริศนา
เพื่อหาคำตอบดังกล่าว จอห์นสันและคณะจึงทดสอบว่ากระบวนการสร้างอาหารตลอด 24 ชั่วโมงของหนูเป็นอย่างไร ปกติในช่วงกลางวันหนูจะไม่ค่อยกินอะไรมากก็จะตอบสนองต่ออินซูลินน้อยลง ซึ่งอินซูลินนี้เป็นฮอร์โมนที่บอกเนื้อเยื่อในร่างกายให้ใช้น้ำตาลจากเลือดเพื่อเป็นพลังงาน ซึ่งน้ำตาลที่ไม่ถูกใช้เป็นพลังงานก็จะถูกเปลี่ยนไปเป็นไขมัน
ในทางกลับกันเมื่อรบกวนนาฬิกาชีวิตของหนู โดยให้อยู่ภายใต้แสงสีแดงหรี่ๆ ทั้งวัน หนูทดลองก็มีสัญญาณของการต้านอินซุลินมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า เนื้อเยื่อร่างกายไม่ตอบสนองต่อสัญญาณอินซูลินเพื่อรับเอาน้ำตาลไปใช้ และทำให้หนูมีไขมันมากขึ้น และการต้านต่ออินซูลินนี้ก็สัมพันธ์ต่อเบาหวาน และโรคหัวใจในมนุษย์ด้วย ซึ่งจอห์นสันกล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้บอกเป็นนัยว่าการกินขนมมือดึกนั้นอาจส่งผลแย่ต่อคนทั่วไปมากกว่าการกินอาหารในตอนเช้าๆ ของวัน
ด้าน สัทชิดานันทะ พันดะ (Satchidananda Panda) นักชีววิทยาจากสถาบันซอล์ก (Salk Institute) ในลาจอลลา แคลิฟอรืเนีย สหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้ร่วมในการศึกษาครั้งนี้ ให้ความเห็นทางไลฟ์ไซน์ว่า เป็นการศึกษาที่น่าประทับใจ เพราะเป็นงานแรกที่สรุปให้เห็นว่า มีจังหวะของนาฬิกาชีวิตต่อการตอบสนองอินซูลินภายในสัตว์ และมีศักยภาพที่จะเป็นเช่นนั้นในมนุษย์ได้เช่นกัน โดยงานวิจัยเก่าๆ เผยให้เห็นว่ามนุษย์มีจังหวะขึ้นลงของระดับกลูโคส ซึ่งสัมพันธ์กับความไวต่ออินซูลินที่ขึ้นลงระหว่างวันด้วย