xs
xsm
sm
md
lg

ว้าวๆ ปลูกฟันจากเซลล์เหงือก!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สักวันหนึ่งเราอาจปลูกฟันใหม่ขึ้นทดแทนโดยใช้เซลล์เหงือกของเราเอง (บีบีซีนิวส์)
ความหวังของคนฟันหลอ เมื่อนักวิจัยอังกฤษสามารถทดแทนฟันซี่ที่หลุดไปด้วยฟันใหม่ที่ปลูกขึ้นมาจากเหงือก แต่ยังอยู่ในขั้นการทดลองกับหนู คาดว่าคงใช้เวลาอีกหลายปีกว่าหมอฟันจะได้เริ่มใช้เทคนิคนี้ปลูกฟันให้คนไข้

รายงานจากบีบีซีนิวส์ ระบุว่าทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจลอนดอน (King's College London) ได้ใช้เนื้อเยื่อเซลล์เหงือกของผู้ใหญ่ และผสมกับเซลล์ประเภทอื่นของหนูทดลองเพื่อปลูกฟันขึ้นใหม่

การใช้แหล่งกำเนิดฟันที่มีอยู่เหลือเฟือและพร้อมใช้นี้ช่วยให้เทคโนโลยีนี้ขยับใกล้การนำไปใช้จริงกับผู้ป่วยได้มากขึ้น แต่คงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่ทันตแพทย์จะนำเทคนิคนี้ไปใช้จริง

ขณะที่การพัฒนาเทคนิคอื่นๆ นั้นพุ่งเป้าไปที่การใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนเพื่อสร้าง “ฟันชีวภาพ” ขึ้นมาใหม่ ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าทำได้จริงแต่แพงและยังไม่ได้ผลในทางปฏิบัติเมื่อไปใช้ในระดับคลินิก

สำหรับการศึกษาล่าสุดนี้ทีมวิจัยได้ใช้เซลล์เยื่อบุเหงือกของคนไข้ และเพิ่มจำนวนเซลล์ในห้องปฏิบัติการ จากนั้นผสมเข้ากับเซลล์เยื่อมีเซนไคม์จากหนูทดลอง ซึ่งเซลล์จากหนูนี้ถูกเหนี่ยวนำให้สามารถใช้เซลล์เยื่อบุเหงือกเริ่มต้นไปสู่การสร้างฟันได้

เมื่อปลูกถ่ายเซลล์ผสมให้หนูทดลองมนักวิจัยสามารถปลูกฟันผสมระหว่างฟันหนูและฟันคนได้ โดยมีรากฟันที่เจริญเติบโตได้ และทีมวิจัยได้รายงานเรื่องนี้ในวารสารเจอร์นัลออฟเดนทัลรีเสิร์ช (Journal of Dental Research)

งานวิจัยดังกล่าวชี้ว่าเมื่อปลูกถ่ายก้อนเล็กๆ ของเซลล์ที่เหมาะสมลงบนขากรรไกรแล้ว ก้นเหล่านั้นจะพัฒนาเป็นฟันที่ใช้งานได้ โดยก้าวต่อไปนั้นคือการเข้าถึงแหล่งมีเซนไคม์ของมนุษย์ให้ได้ง่ายๆ และเพาะเลี้ยงให้มีจำนวนมากพอเพื่อเป็นเทคนิคอันเปี่ยมประโยชน์ในทางคลินิก

ศ.พอล ชาร์ป (Prof Paul Sharpe) หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า พบเซลล์มีเซนไคม์ได้ในเนื้อฟันคุด แต่ความยากคือหาวิธีให้ได้เซลล์ชนิดนี้ในปริมาณมากพอ ซึ่งทีมวิจัยกำลังหาวิธีง่ายๆ ในการสกัดเอาเซลล์มีเซนไคม์ออกมา

“ความท้าทายสำคัญคือการหาวิธีเพาะเลี้ยงเซลล์มีเซนไคม์จากผู้ใหญ่ที่โตแล้วให้สามารถเหนี่ยวให้เกิดฟันได้ เหมือนที่เราสามารถทำได้แล้วในการใช้เซลล์มีเซนไคม์จากตัวอ่อน” ศ.ชาร์ปกล่าว

เขาหวังว่าวันหนึ่งเทคโนโลยีนี้จะแทนที่การฝังรากฟันเทียมในปัจจุบัน ซึ่งไม่อาจแทนที่รากฟันธรรมชาติได้ โดยการเสียดสีจากการกินและการเคลื่อนไหวของขากรรไกรนั้นเป็นต้นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กระดูกที่อยู่รอบๆ รากฟันเทียมได้ และพยายามหาวิธีพัฒนาให้เทคนิคนี้ทำได้ง่ายและราคาถูก

ด้าน ศ.อลาสแตร์ สโลน (Prof. Alastair Sloan) ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยากระดูก และวิศวกรรมเนื้อเยื่อจากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ (Cardiff University) สหราชอาณาจักร กล่าวว่างานวิจัยนี้เป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ยังมีอุปสรรคอีกมาก

“พวกเขาใช้เซลล์จากเหงือก และความจริงที่ว่ามันสร้างรากฟันได้ด้วยนั้นเป็นความก้าวหน้าที่น่าตื่นเต้น เรายังอยู่บนหนทางในการสร้างฟันทั้งซี่ขึ้นมา แต่สิ่งที่ทำให้งานวิจัยสะดุดคือการพัฒนาให้เกิดความรู้สึกเป็นธรรมชาติด้วย ดังนั้นคาดว่ากว่าเทคโนโลยีจะใช้ได้จริงคงใช้เวลาอีก 10-15 ปี” ศ.สโลนกล่าว
ภาพฟันผสมระหว่างฟันหนูและฟันมนุษย์ (Journal of Dental Research/บีบีซีนิวส์)






กำลังโหลดความคิดเห็น