นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นโคลนหนูขึ้นจากเลือดหยดเดียว โดยใช้เลือดจากหางของหนูตัวให้เพื่อผลิต “หนูโคลน” ที่ได้ออกมาเป็นเพศเมีย มีอายุยืนตามปกติและออกลูกได้
การโคลนหนูดังกล่าวเป็นผลงานของทีมนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ริเกนไบโอรเสิร์ช (Riken BioResource Center) ในสึคุบะ ญี่ปุ่น ซึ่งบีบีซีนิวส์รายงานว่า พวกเขาได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานลงวารสารไบโอโลจีออฟรีโปรดัคชัน (Biology of Reproduction)
หนูที่ถูกโคลนออกมานั้นมีชวิตยืนยาวตามปกติและออกลูกได้ ซึ่งกว่าจะได้หนูโคลนนิงดังกล่าวทีมนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นได้สำเนาที่ถอดแบบพันธุกรรมของหนูตัวหนึ่งถึง 600 สำเนา โดยอาศัยพันธุกรรมจากหลายส่วนในร่างกายหนู รวมถึงเซลล์เม็ดขาวจากต่อมน้ำเหลือง ไขกระดูกและตับ
ทั้งนีี้ ทีมวิจัยญี่ปุ่นพยายามพิสูจน์ว่า เซลล์เลือดที่ไหลเวียนในร่างกายนั้นสามารถนำไปโคลนได้เช่นกัน ผโดยเป้าหมายเพื่อหาแหล่งพันธุกรรมที่หาได้ง่ายจากเซลล์เพื่อโคลนหนูทดลองที่มีสายพันธุ์มีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์
งานวิจัยดังกล่าวนำโดย อัตซูโอะ โอกูระ (Atsuo Ogura) จากศูนย์ริเกนไบโอซอร์ส ซึ่งพวกเขาได้นำเลือดจากหางของหนูบริจาค จากนั้นยกเอาเซลล์เม็ดเลือดขาวออก ใช้เฉพาะนิวเคลียสของเซลล์เพื่อทดลองโคลนนิง เทคนิคเดียวกับการผลิตแกะดอลลี่ (Dolly) สัตว์เลี้ยงลูกนมโคลนนิงตัวแรกในเอดินบะระ สหราชอาณาจักร
เทคนิคดังกล่าวคือการย้ายฝากนิวเคลียสเซลล์ร่างกาย (somatic cell nuclear transfer) ซึ่งเป็นการย้ายฝากนิวเคลียสจากเซลล์ร่างกายตัวเต็มวัย เช่น เลือด หรือ เซลล์ผิวหนัง เป็นต้น เข้าไปยังเซลล์ไข่ที่ยังไม่ได้รับการผสม และถูกนำนิวเคลียสออก
บีบีซีนิวส์ระบุว่าในรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงวารสารไบโอโลจีออฟรีโปรดัคชันนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้แจงถึงการศึกษาดังกล่าวว่า เป็นการสาธิตครั้งแรกว่าหนูถูกโคลนได้ด้วยการใช้นิวเคลียสของเซลล์เลือด และใช้เซลล์ที่ได้มาโคลนทันทีหลังเก็บจากสัตว์ตัวให้พันธุกรรม โดยที่เราไม่จำเป็นต้องฆ่าสัตว์เหล่านั้นด้วย
ทีมวิจัยระบุว่าเทคนิคนี้จะประยุกต์ได้สำหรับการสร้างสำเนาสายพันธุ์หนูที่ประเมินค่าไม่ได้ ซึ่งไม่อาจรักษาไว้ด้วยเทคนิคขยายพันธุ์อื่นแบบเดิมๆ อย่างการเพาะเลี้ยงจากหลอดแก้วแบบไอวีเอฟ (in vitro fertilisation: IVF) หรือการฉีดอสุจิเข้าไปผสมโดยตรงแบบอิคซี่ (intracytoplasmic sperm injection: ICSI) ได้
นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นทีมนี้ใช้เวลาอยู่หลายปีในการโคลนหนู และได้เผยให้เห็นหนูเกือบ 600 ตัวที่ได้จากการโคลนหนูตัวเดียวอย่างต่อเนื่อง 25 รอบ โดยงานวิจัยนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อการผลิตขนาดใหญ่สำหรับสัตว์ที่มีคุณภาพสูงในระดับฟาร์มหรือเพื่อการอนุรักษ์
ด้าน ศ.โรบิน โลเวลล์-แบดจ์ (Professor Robin Lovell-Badge) จากสถาบันวิจัยการแพทย์การแพทย์เอ็มอาร์ซี (MRC National Institute of Medical Research) ในลอนดอน อังกฤษ ให้ความเห็นว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นความก้าวหน้าเล็กๆ ที่ได้จากงานวิจัยก่อนหน้าที่แสดงให้เห็นว่า เป็นไปได้ที่จะโคลนหนูจากเซลล์เต็มวัยหลายๆ ชนิด ซึ่งรวมถึงเซลล์เม็ดเลือดขาวด้วย
โลเวลล์-แบดจ์กล่าวว่า การโคลนจากเซลล์เลือดนี้ให้ประสิทธิภาพที่ดีมาก ซึ่งบ่งบอกว่าแม้แต่เลือดหยดเล็กๆ ก็เพียงพอที่จะใช้ในการโคลนเพื่อเพิ่มจำนวนสิ่งมีชีวิตที่หาได้ยากหรือเป็นชนิดที่มีคุณค่ามากๆ