xs
xsm
sm
md
lg

สมุนไพรไม้เป็นยา : เจตมูลเพลิงแดง ต้านการเกิดเนื้องอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตำรับยาสมุนไพรไทยที่เรียกว่า “เบญจกูล” ประกอบด้วยพืช 5 ชนิด ได้แก่ ผลดีปลี รากช้าพลู เถาสะค้าน เหง้าขิงแห้ง และสุดท้ายที่สำคัญใช้สำหรับปรับสมดุลร่างกายของผู้ป่วยมะเร็งก่อนจะทำการรักษา นั่นคือ “รากเจตมูลเพลิงแดง”

เจตมูลเพลิงแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Plumbago Indica L. ชื่อภาษาอังกฤษว่า Rose-colored Leadwort และมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ปิดปิวแดง (ภาคเหนือ), ปิดปีแดง(เลย), ไฟใต้ดิน(ใต้), คุ้ยวู่(กระเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ตั้งชู้โว้(กระเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) และอุบะกูจ๊ะ (มลายู-ปัตตานี)

ลักษณะเป็นไม้พุ่มล้มลุกขนาดเล็ก สูงประมาณ 0.5-1.5 เมตร ลำต้นกลมเรียบ กิ่งก้านทอดยาวสีเขียวปนแดง บริเวณข้อและยอดอ่อนสีแดง ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมน ก้านใบและแกนกลางใบอ่อนมีสีแดง ดอกออกเป็นช่อ ข่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม กลีบบางมี 5 กลีบสีแดงสด ปลายกลีบกลม เป็นติ่งหนามตอนปลาย เป็นไม้ที่ชอบอยู่ในที่ร่ม ตามป่าดงดิบ และป่าเบญจพรรณทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และการปักชำ

รศ.ดร.อรุณพร อิฐรัตน์ สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลอง พบว่า ตำรับเบญจกูล แยกสารบริสุทธิ์ ได้ 3 ชนิด ได้แก่ piperine, plumbagin และ 6-gingerol สามารถต้านเซลล์มะเร็งปอดและมะเร็งเต้านมได้ดี ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ กระตุ้นภูมิคุ้มกันการทำงานของ NK cells กระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเมล็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ ยับยั้งการอักเสบทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง โดยมีกลไกการออกฤทธิ์คล้ายกับยาในกลุ่มสเตียรอยด์ แต่ให้ผลดีกว่ายาสเตียรอยด์ ชนิด Phenylbutazone ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดหนอง ได้แก่ Staphylococcus aureus, Bacillus subtilisและยับยั้งเชื้อรา Candida albicans

โดยเจตมูลเพลิงแดงมีสารสำคัญในราก ได้แก่ plumbagin, sitosterol, stigmasterol, campesterol และ 6-hydroxyplumbagin ซึ่งในสาร plumbagin มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย การเกิดเนื้องอก ต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้และเซลล์มะเร็งทุกชนิด

นอกจากนี้ รากยังช่วยย่อยอาหาร เจริญอาหาร แก้ปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียด ขับลม ปวดเสียด แน่นหน้าอก รักษาอาการอันเกิดจากธาตุไฟทั้ง 4 เช่น ตัวเย็น ไอแห้ง ปวดท้อง นัยน์ตามัว มือเท้าเป็นเหน็บชา เบื่ออาหาร ฯลฯ

สำหรับส่วนอื่นๆ ได้แก่ ต้น ใช้ขับโลหิตระดู แก้ปวดท้อง เปลือก ฆ่าแมงดาเรืองเข้าหู แก่น แก้ขี้เรื้อนกวาง แก้เรื้อนน้ำเต้า ดอก แก้โรคที่ทำให้หนาวและเย็น และ ลูก แก้พยาธิผิวหนัง แก้ฝี

สมุนไพรชนิดนี้จัดเป็นสมุนไพรเก่าแก่ชนิดหนึ่งของอินเดียและไทย เป็นสมุนไพรประจำธาตุไฟ เพราะมีรสร้อน เมื่อสัมผัสโดนยางจากรากจะทำให้ผิวหนังไหม้พอง เหมือนโดนเพลิงไฟ

ข้อควรระวัง! :

หญิงที่มีครรภ์ห้ามรับประทาน เพราะรากมีสารบางอย่างทำให้แท้งได้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 152 สิงหาคม 2556 โดย มีคณา)




กำลังโหลดความคิดเห็น