xs
xsm
sm
md
lg

‘หมอประดิษฐ’ ตัวร้ายทำลายระบบสุขภาพไทย! ถีบหัวส่งบัตรทอง 48 ล้านคนเป็นอนาถาเต็มขั้น (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การเมืองเตรียมรื้อโครงสร้างระบบสุขภาพใหม่หมด ยึดอำนาจกลับสู่กระทรวงสาธารณสุข ตามแผนเดินหน้า Medical Hup ดึงผลประโยชน์ 2 แสนล้านเข้าบริหารเอื้อกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน-บรรษัทยาข้ามชาติตามแผน ที่เดินหน้าด้วยการส่งคนการเมืองเข้าเป็นบอร์ด สปสช. ตามด้วยกำจัดหมอวิฑิตออกจากองค์การเภสัชฯ เหตุทำ CL บรรษัทยาข้ามชาติเสียผลประโยชน์ แถมเตรียมเดินหน้า Co-pay คู่ P4P ที่ต่อไปคนไข้ 30 บาทในกลุ่มคนจนจะกลายมาเป็นคนไข้ในระบบอนาถาเต็มขั้น!

เรียกเสียงฮือฮาได้ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข” ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2555 เพราะเส้นสายเบื้องหลังการเข้ามารับตำแหน่ง ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายกฯ สาวคนนี้อย่างยิ่ง แต่เพียงระยะเวลา 7 เดือนหลังจากเข้ารับตำแหน่ง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เจ้ากระทรวงหมอคนนี้ได้ชื่อว่า เป็นรัฐมนตรีที่เข้ามาในกระทรวงสาธารณสุขแล้วทำให้เกิดการแตกแยกของคนประกอบวิชาชีพแพทย์มากที่สุด มากกว่ายุคการทุจริตยาที่มีความขัดแย้งระหว่างหมอรุ่นใหม่คือหมอชนบท และหมอรุ่นเก่าที่กุมอำนาจในท้องถิ่นอย่าง นพ.สสจ. (นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด) ในช่วงปี 2546

ศึกเสื้อกาวน์ที่กำลังปะทุอยู่ในขณะนี้ถือเป็นศึกใหญ่ ที่บรรดาแพทย์รุ่นพี่ รุ่นน้อง ที่ปฏิบัติงานดูแล รักษาคนไข้แตกแยกกันอย่างรุนแรง

ขณะที่ นพ.ประดิษฐเตรียมแผนผ่าตัดระบบสุขภาพไทยยกใหญ่ ที่มีเบื้องหลังแอบอิงกลุ่มทุน หวังเข้ามาหาประโยชน์จากกระทรวงหมอเบ็ดเสร็จตามแผนใหญ่ที่ “นาย” สั่งมา?

แผนปฏิบัติการของ นพ.ประดิษฐในวันนี้มีเป้าหมายชัดเจน สังเกตได้จากการประกาศหน้าเว็บไซต์
กระทรวงสาธารณสุข ด้วยภารกิจ 2 อย่างที่ต้องทำให้ประสบผลสำเร็จ!

เรื่องแรกคือเรื่องของการปฏิรูประบบสุขภาพ ดึงอำนาจการจัดการระบบสุขภาพของไทยคืนสู่กระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด (MOPH Reform)

เรื่องที่สองคือการผลักดันเรื่องของการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขตามผลการปฏิบัติงาน หรือ P4P (เฉลี่ยเงินตามงาน)

2 เรื่องนี้ มีการสื่อสารโดยใช้ภาษาเหมือนใบปลิวประท้วง แต่ปัญหาคือ เป็นใบปลิวที่อยู่บนเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นหน่วยงานราชการ

เท่ากับเป็นการตอบย้ำให้สังคมได้เห็นว่า นพ.ประดิษฐกำลังรุกคืบสู่เป้าหมายยึดกุมอำนาจระบบสุขภาพไทยจากที่หน่วยงาน และงบประมาณเหล่านี้ ได้ต่อสู้และหลุดพ้นการครอบงำของนักการเมืองไปแล้ว ต้องกลับเข้าสู่มือนักการเมืองที่กุมอำนาจกระทรวงสาธารณสุขเบ็ดเสร็จ!

แทรกแซงบอร์ด สปสช.ส่งคนการเมืองคุม

สำหรับภารกิจแรกของการเข้ามาสู่การเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของ นพ.ประดิษฐ คือการสั่นคลอนอำนาจของ สปสช. หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีรูปแบบการทำงานแบบคณะกรรมการ และส่วนใหญ่คนที่เข้ามามีบทบาทเป็นกลุ่มหมอชนบท ที่เป็นต้นความคิดเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะซื้อไอเดียไปทำนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค จนพรรคไทยรักไทยได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงปี 2544 ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เพราะนโยบายประชานิยมอย่าง “30 บาทรักษาทุกโรค” เป็นเรื่องที่ “โดนใจ” คนไทยที่สุด

แต่การเกิดขึ้นของ สปสช.ที่มีการทำงานในรูปแบบคณะกรรมการนั้น ทำให้ลดอำนาจที่เคยเป็นของข้าราชการและนักการเมืองกระทรวงสาธารณสุขไปอย่างมาก นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ “คนเบื้องหลัง” มีการสั่งการให้ “ส่งคน” ของตัวเองเข้าไปเป็นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่วนคนที่เป็นคณะกรรมการในกลุ่มหมอชนบทก็ต้องมีการหว่านล้อมเอามาเป็นพวกให้ได้

แม้กระทั่งหัวใหญ่ของ สปสช.เวลานี้ แม้ยังเป็นคนที่ได้รับการสนับสนุนมาจากกลุ่มหมอชนบทมาตลอด บัดนี้ก็มีกระแสข่าวลือว่า “เปลี่ยนสี” ไปเรียบร้อยแล้ว แบบ “การเมืองสั่งได้”

ทำไมการเมืองต้องการคนแบบสั่งได้ หรือเป็นเพราะว่าคนเบื้องหลังก็เป็นคนที่ทำธุรกิจด้านสุขภาพ โดยเฉพาะธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดบรรษัทยาข้ามชาติ ที่ต้องการทำลายความเข้มแข็งของระบบสุขภาพไทยในเวลานี้ เพื่อเปิดช่องผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน และกลุ่มการเมืองบนผลประโยชน์มหาศาล?

เบื้องหลังย้ายหมอวิฑิต-ครอบองค์การเภสัชฯ

นพ.วิชัย โชควิวัฒน รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (คนที่ 2) กล่าวว่า สิ่งที่เป็นข้อบ่งชี้ว่ากลุ่มทุนการเมืองกำลังจะเข้ามามีบทบาทในระบบสาธารณสุขไทย คือการเปลี่ยนตัว นพ.วิฑิต อรรถเวชกุล ออกจากการเป็นผู้อำนวยการเภสัชกรรม โดยมีเป้าหมาย 8 ประการคือทำประเทศไทยให้เป็น Medical Hub

โดยกระบวนการทำให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub สำเร็จได้ และให้ผลประโยชน์ที่เข้าประเทศเป็นของกลุ่มนายทุนนั้น จะเริ่มต้นจากการยึดองค์การเภสัชกรรมให้ได้เสียก่อน เพราะมีผลประโยชน์จำนวนมหาศาลเกี่ยวข้องกับบรรษัทยาข้ามชาติ และการทำให้ระบบการดูแลสุขภาพไทยอ่อนแอ

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องเปลี่ยนหมอวิฑิต คำตอบที่ชัดเจนที่สุดคือ หมอวิฑิตเป็นคนที่ต้านอำนาจบรรษัทยาข้ามชาติ และทำงานเพื่อประชาชน ทำให้ผลประโยชน์หลุดไปอยู่ในมือกลุ่มทุนการเมืองน้อยมาก

ผลงานที่ชัดเจนของ นพ.วิฑิตเมื่อมาอยู่ที่องค์การเภสัชกรรมได้สร้างไว้หลายเรื่อง โดยเฉพาะ 2 เรื่องสำคัญ คือ การทำ CL ยาโรคหัวใจ Clopidrogel หรือยาเกี่ยวกับยาละลายลิ่มเลือด ที่บรรษัทข้ามชาติขายยานี้ราคาเม็ดละ 70-75 บาท แต่หมอวิฑิตสามารถไปหายาประเภทเดียวกัน คุณสมบัติเหมือนกันทุกอย่างแต่เป็นการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยามาได้ในราคาเพียงเม็ดละ 1 บาท และขณะนี้แพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ ได้มีการสั่งจ่ายยานี้ให้คนไข้โรคหัวใจในประเทศไทยไปแล้วกว่า 100 ล้านเม็ด

“เฉพาะยาตัวนี้ตัวเดียว ภาครัฐลดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 7 พันกว่าล้านบาท ซึ่ง 7 พันกว่าล้านบาทนี้เองที่บรรษัทยาข้ามชาติเสียไป และวิ่งเต้นเข้าหานักการเมืองทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ก้อนนี้กลับคืนมา” นพ.วิชัยระบุ

อีกผลงานหนึ่ง หมอวิฑิตได้ทำเช่นเดียวกันกับยาต้านไวรัสเอดส์ ซึ่งเป็นยาที่ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนของคนไข้โรคเอดส์ได้เป็นอย่างดี แต่เดิมในระบบประกันสุขภาพไม่มีการจ่ายยาตัวนี้ให้คนไข้ แต่เมื่อหมอวิฑิตได้ไปหายาที่มีราคาถูกกว่าเดิมได้ 20 เท่าตัว สปสช.ก็มาซื้อยานี้ไปใช้ในบัญชียาหลัก คนไข้โรคเอดส์จำนวนมากก็มีอาการใกล้เคียงปกติมากขึ้น ไม่ต้องติดเชื้อฉวยโอกาส ไม่ต้องห่วงปอดบวม วัณโรค ฯลฯ เพราะจะมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ลดภาระกับครอบครัวได้อย่างมาก

นี่ยังไม่รวมถึงยามะเร็งอีกหลายตัว ที่มีการทำ CL เช่นเดียวกัน และในช่วงวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ น้ำเกลือที่คนไข้ต้องใช้สำหรับอาการท้องเสีย, คนไข้ในโรงพยาบาล และคนไข้ล้างไตขาดแคลน เพราะบริษัทผลิตน้ำเกลือรายใหญ่ที่ผลิตน้ำเกลือได้ 1 ใน 3 ของความต้องการใช้น้ำเกลือในประเทศไทยจมน้ำที่นวนคร มีการไปสั่งซื้อน้ำเกลือจากฟิลิปปินส์มาในราคาถุงละ 28 บาท การบินไทยคิดถุงละ 60 บาท แต่ได้ไปขอต่อรองเหลือ 30 บาท รวมภาษีน้ำเกลือถุงหนึ่งราคา 60 กว่าบาท แต่ราคากลางของน้ำเกลือที่จะนำมาใช้ในประเทศไทยมีราคากลางอยู่ที่ 32 บาท

ดังนั้นการขาดทุนทั้งหมด องค์การเภสัชกรรมในสมัยหมอวิฑิตเป็นผู้อำนวยการเป็นผู้รับไป โดยเอากำไรรายได้ยาจากตัวอื่นๆ มาถัวกำไร-ขาดทุน ซึ่งหากเป็นภาคเอกชน ใครจะยอมเป็นผู้ขาดทุน เพื่อช่วยผู้ป่วยอย่างนี้ ยุคที่หมอวิฑิตเป็นผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมถือว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุด เพราะช่วยเหลือประชาชนยากจนได้มาก แต่องค์การก็ไม่ขาดทุน จากที่เคยมีรายได้อยู่ระดับ 5,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปีกว่าๆ องค์การเภสัชฯ มีรายได้ไป 12,000 ล้านบาท

“หมอวิฑิตทำความดีอย่างมากกับวงการสาธารณสุขไทย แต่ทำความผิดในสายตาของนักธุรกิจ”
นพ.วิชัย โชควิวัฒน
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ย้ำด้วยว่า หากหมอวิฑิตยอมเรื่องนี้ ก็เท่ากับหยิบยื่นผลประโยชน์ให้กับคนแค่กลุ่มเล็ก ต่อไปประชาชนก็จะเป็นฝ่ายที่เสียประโยชน์

นี่คือเหตุผลสำคัญที่หมอวิฑิตยอมไม่ได้!

และเป็นเหตุผลสำคัญที่หมอวิฑิตต้องถูกปลดพ้นองค์การเภสัชฯ

“การปลดหมอวิฑิตแค่ส่วนหนึ่ง ความจริงต้องการทำลายองค์การเภสัชกรรม ทำลายการทำ CL เพราะขณะนี้องค์การเภสัชกรรมเท่ากับหอกข้างแคร่ของกลุ่มทุนที่เชื่อมอยู่กับบรรษัทยาข้ามชาติ ที่ผ่านมาก็มีฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงที่จะปลดหมอวิฑิตมาตลอด และจะไม่ยอมให้มีการต่ออายุในการดำรงตำแหน่งครั้งที่ 2 สุดท้ายก็ต่อได้ แต่กว่าจะต่อได้ก็เหนื่อย มารผจญเยอะ นักการเมืองชั่วร้ายมีเยอะ”

สปสช.อยู่ในวิกฤต-เอื้อเอกชน-ประชาชนสุดช้ำ

นพ.วิชัยกล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากคือ สปสช.ที่ขณะนี้การเมืองได้ส่งคนของตัวเองไปยึดได้เกือบหมดแล้ว ส่วนหมอชนบทที่ยังเหลืออยู่ ก็เหมือนคนที่กำลังนั่งดูการข่มขืนประชาชน เพราะไม่นานหลังจากการเมืองส่งคนของตัวเองเข้ามาในบอร์ด สปสช. ได้มีมติให้เก็บเงินประชาชน 30 บาท จากเดิมไม่มีการเก็บเงิน แต่ต้องเข้าใจก่อนนะว่า การไม่เก็บเงินนี้ไม่ใช่ว่าประชาชนไม่ได้จ่าย ประชาชนเขาจ่ายไปแล้วในรูปแบบภาษี และไม่ใช่แค่คนที่ทำงานในระบบ เพราะคนที่เป็นเกษตรกร หรือพ่อค้า หรือคนอื่นๆ ก็ต้องจ่ายภาษีในรูปภาษี VAT ในการซื้อสินค้าอยู่ดี

เรื่องต่อมาที่ชี้ให้เห็นถึงการครอบงำ สปสช. ก็คือการเพิ่มตำแหน่งใหม่ มีการตั้งรองเลขาฯ เพิ่มถึง 2 ตำแหน่ง จากเดิมมีอยู่แล้ว 3 คน ก็เป็น 5 คน เพื่อขยายตำแหน่ง เอาคนของตัวเองเข้ามาเป็นเสียงในการโหวตเรื่องต่างๆ

นพ. “อ.” และ นพ. “ส” คือ 2 คนนั้น

อีกเรื่องคือการประชุมเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา การเมืองก็เอาเรื่องของ Co-pay เข้ามาโดยผลักดันผ่านเลขาธิการ สปสช.

Co-pay จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กลายเป็นระบบแยกคนรวยออกจากคนจน และคนจนจะกลายไปเป็นผู้ป่วยอนาถาเหมือนสมัยก่อน

“ความจริงแล้ว Co-pay ทำได้หลายวิธี แต่หลักการคือมันไม่เป็นธรรม หลักการใหญ่ของระบบประกันสุขภาพที่ดีคือความเป็นธรรม แต่ถามหน่อย ข้าราชการต้อง Co-pay ไหม ไม่ แถมรัฐจ่ายให้แพงกว่า Co-pay 5 เท่า”

ขณะที่ข้าราชการ 5 ล้านคนและครอบครัว ได้ใช้เงินงบประมาณดูแลสุขภาพไปปีละ 70,000 ล้านบาท ขณะที่คนที่ใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีถึง 48 ล้านคน มีเงินงบประมาณส่วนนี้ประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี แต่ต้องมีการหักเงินเดือนประจำของเจ้าหน้าที่ออกมาด้วย

“ทำไมไม่ให้ข้าราชการทำ Co-pay แต่มา Co-pay ที่บัตรทอง นี่เป็นการเลือกปฏิบัติ 2 มาตรฐานหรือไม่ Co-pay อย่างเดียวก็แย่แล้ว เดี๋ยวนี้โรงพยาบาลที่ไม่มีคุณธรรมมีเยอะ แพทย์หลายคนก็เหมือนกัน รู้ไหม Co-pay ถูกนำมาใช้จะเกิดอะไรขึ้น แพทย์จะดูแลดีเฉพาะคนที่มีตังค์ร่วมจ่าย แต่คนจนจะกลายเป็นระบบอนาถาเหมือนสมัยก่อน”

แถมจะเกิดกรณี ยาที่ไม่ควรจะต้องจ่าย ก็ต้องจ่าย

“สมมติยามะเร็ง การรักษาแบบมาตรฐานใช้ยาตัวนี้ก็พอ แต่หมอบางคนอาจจะบอกว่า มียาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนบัญชียาหลักนะ แต่ผ่านการวิจัยมาแล้ว คนไข้จะเอาไหม ญาติจะเอาไหมยาตัวนี้ แต่ต้องจ่ายเองนะ คนไข้หรือญาติก็ต้องตอบว่า เอา สุดท้ายกินยารักษาในสิ่งที่ไม่ควรรักษาหรือเปล่า”

แค่นั้นยังไม่พอ ยังต่อด้วยโครงการ P4P หรือ Pay for performance การจ่ายตามปฏิบัติงานที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่กับระบบสาธารณสุขไทย เพราะจะเป็นการทำให้แพทย์ และบุคลากรด้านสาธารณสุข ทำงานเหมือนหุ่นยนต์ และการรักษาคนไข้ด้วยใจจะค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไป

โดยแต่เดิม ระบบตอบแทนที่มีอยู่จะเป็นแบบ 3 เหลี่ยมที่ชั้นล่างสุดคือเงินเดือน ชั้นต่อมาคือการเหมาจ่าย และยอดบนสุดเป็นระบบ P4P ที่มีการทำมาอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ระบบที่รัฐบาลจะนำมาใช้ คือ P4P ปะปนกับเงินเหมาจ่าย ซึ่งจะกระทบต่อระบบจูงใจแพทย์ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยลง

“ผอ.โรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง ออกมาพูดว่า ที่โรงพยาบาลใช้อยู่ P4P โดยให้คนที่ทำงานหนักอย่างห้องฉุกเฉินได้รายได้เพิ่มขึ้นมา จะได้มีกำลังใจในการทำงานหนัก ตรงนี้จริงๆ มันเป็นเงินเหมาจ่าย ไม่ใช่ P4P ที่รัฐบาลจะทำ P4P ของรัฐบาลคือการคิดการทำงานเป็นแต้ม อย่างพยาบาลถ้าพลิกตัวคนไข้คนหนึ่งได้ 0.3 แต้ม ถ้าไปเยี่ยมไข้ครั้งหนึ่งได้ 0.5 แต้ม อย่างนี้มันไม่ใช่ มันกำลังทำคนให้เป็นเครื่องจักรได้คะแนนแต่ไม่มีใจ”

โดยข้อเท็จจริงคือมีโรงพยาบาลที่กำลังนำร่องทำเรื่อง P4P อยู่ในต่างจังหวัดอยู่แล้ว แต่ก็เป็น P4Pเฉพาะบางงาน เฉพาะการจูงใจให้คนขยันขึ้น ไม่ใช่เหมารวมทั้งโรงพยาบาล เพราะกำลังทำคนเป็นเครื่องจักร

“มีอยู่แล้ว P4P กับ on top แต่ไม่ได้เอามาปะปนกับงบเหมาจ่าย เพราะ P4P ที่ถูกต้องต้อง Win-Win-Win ทั้ง 3 ฝ่ายคือ คนไข้-เจ้าหน้าที่-โรงพยาบาล ต้องได้ประโยชน์ทั้ง 3 ส่วน ไม่ใช่คนไข้เสียประโยชน์อยู่คนเดียว”

แถมการที่หมอชนบทออกมาคัดค้านรุนแรงนั้น ก็เป็นการตอกย้ำว่า Win ที่ 2 มีปัญหาแล้ว

เมื่อหมอชนบทออกมาค้าน ฝ่ายการเมืองก็มีการไประดมกลุ่มหมอโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ออกมาทำม็อบสนับสนุนฝ่ายการเมือง ตอนนี้ก็เลยทะเลาะกันไปหมด

เป็นยุคที่เรียกว่าความขัดแย้งระหว่างหมอที่เป็นฝ่ายปฏิบัติแตกแยกรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ และยากที่จะประสานรอยร้าวเสียด้วย

ดังนั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์จริงๆ จากการออกนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนี้นั้นไม่ใช่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือคนในประชาคมสีขาว แต่เป็นการรุกคืบของกลุ่มทุนเข้าสู่ธุรกิจสุขภาพอย่างน่ากลัว โดยอาศัยนโยบายศูนย์กลางการรักษาพยาบาล หรือ Medical Hub ที่โรงพยาบาลสายป่านยาว ทุนหนา บรรษัทยาข้ามชาติ เตรียมรอรับผลประโยชน์แบบลุ้นสุดตัวอยู่แล้ว

แผน Medical Hub การเมืองยึดผลปย.เอื้อธุรกิจ

ที่ผ่านมา นพ.ประดิษฐก็ออกตัวเรื่องนี้เต็มๆ โดยปลายปีก่อน ได้มีการเปิดเผยว่ารัฐบาลไทยจะร่วมมือกับประเทศกาตาร์ลงทุนด้านภาคบริการเชิงสุขภาพ โดยเฉพาะด้านโรงพยาบาล โดยนโยบาย Medical Hub เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2556 ที่จะสนับสนุนนโยบายการเสริมสร้างรายได้ที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพของประเทศ ทั้งด้านยาสมุนไพรไทย อาหาร สินค้าพื้นเมือง รวมถึงการเป็นศูนย์กลางสุขภาพ

รวมทั้งมีการทำเว็บไซต์ www.thailand medicalhub.net สามารถให้โรงพยาบาลเอกชนเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพและบริการได้ และสามารถสืบค้นข้อมูลได้อย่างครบถ้วน รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว (One Stop Service Center) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อให้บริการชาวต่างชาติแบบครบวงจร ตลอด 24 ชั่วโมง

เพื่อให้ประโยชน์ตกไปอยู่กับธุรกิจโรงพยาบาลภาคเอกชนหรือไม่ ที่ต้องมีการทำลายระบบประกันสุขภาพไทยให้อ่อนแอ?

หากรัฐบาลทำระบบสุขภาพเป็นอย่างดี มีการทำ CL ลดราคายา ประชาชนได้ประโยชน์ แต่ใครเสียประโยชน์?

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กลุ่มหมอชนบทยอมไม่ได้ และกำลังจะไปชุมนุมที่บ้านนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ ซึ่งล่าสุด กลุ่มเพื่อนมหิดลก็มีการรวมตัวกันตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มแพทย์ชนบทครั้งนี้ด้วย

แต่แรงงัดของกลุ่มแพทย์ชนบทจะงัดไม้ซุงอย่าง นพ.ประดิษฐ ได้แค่ไหน ในเมื่อ นพ.ประดิษฐ เป็นสายแข็ง เพราะเป็นเพื่อนสนิทกับ “เจ้าพ่อแสนสิริ” เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งแนบแน่นกับนายกฯยิ่งลักษณ์อย่างยิ่ง

ดูแค่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ออกมาโกหกสีขาว ทำรัฐบาลเสียชื่อเสียงต่อสายตานานาชาติไปเท่าไร ใครก็ยังเปลี่ยนตัวออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ได้

สุดท้ายแพทย์ชนบทคงต้องรออย่างเดียวคือ พลังประชาชนที่จะเข้ามาหนุน เพราะแท้จริงแล้วภาคประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่รักษาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั่นแหละที่เป็นคนเสียผลประโยชน์อันดับ 1 แต่ไม่รู้ตัวว่าเสียผลประโยชน์

มีแต่กลุ่มแพทย์ชนบทที่สู้ต่อไป แม้จะแพ้ไปในบทแรกของการถูก “ยึดองค์การเภสัชกรรม” ที่เคยเป็นก้างใหญ่ขวางคอกลุ่มการเมือง และธุรกิจสุขภาพ

เป้าหมายต่อไป คือ ยึดเครือข่ายตระกูล “ส” สสส. สวรส. สช. สปสช. สปรส. อันเป็นแหล่งเงินมากกว่า 2 แสนล้านบาทกลับเข้าสู่กระทรวงสาธารณสุข ตามแผนปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นใบปลิวอยู่หน้าเว็บราชการกระทรวงสาธารณสุขตามแผนที่นักการเมืองจะนำเงินก้อนใหญ่นี้ไปทุจริตได้

ง่ายๆ ซึ่งทีม Special scoop จะนำเสนอเป็นตอนที่ 2 ต่อไป

สิ่งที่น่าห่วงที่สุดในขณะนี้ก็คือ คนไทยที่ใช้สิทธิบัตรทอง กว่า 48 ล้านคน เตรียมเข้าสู่การจัดการแบบใหม่ที่ นพ.ประดิษฐต้องการ ขณะที่บอร์ดและแกนนำหลายคนโดดขวาง ‘Co-pay’ คือต้นเหตุสำคัญทำให้คน 48 ล้านคนกำลังจะเป็นพลเมืองชั้น 2 เป็นคนไข้อนาถา ของการเข้ารับบริการตรวจสุขภาพในไม่ช้านี้แล้ว

คำกล่าวที่ออกมาจากกลุ่มหมอชนบทที่ว่า “ทักษิณสร้าง 30 บาท ยิ่งลักษณ์ทำลาย!” กำลังเกิดขึ้นจริง!
กำลังโหลดความคิดเห็น