น่าอัศจรรย์! จับภาพแสงผี "สไปร์ท" ปรากฏการณ์ฟ้าผ่าลึกลับที่เกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาทีได้ทั้งภาพนิ่งและคลิปวิดีโอ ซึ่งจะช่วยนักวิทยาศาสตร์เข้าใจการก่อตัวของการประทุทางไฟฟ้าที่เป็นปริศนาดังกล่าวได้
แสงผีแดง "สไปร์ท" (Sprites) ปรากฏอยู่ด้านบนสุดของเมฆพายุฝนในเวลาไม่ถึงวินาที ซึ่งสเปซด็อทคอมรายงานว่าผู้ได้เห็นภาพส่วนใหญ่จินตนาการว่าเหมือนแมงกะพรุน ท่มีลูกบอลสีแดงและหนวดรุงรังพุ่งเข้าสู่ก้อนเมฆ แต่แสงลึกลับดังกล่าวก็มีได้หลายรูปทรง ตั้งแต่รูงมงกุฏไปจนถึงแครอท และนักวิจัยก็ไม่เข้าใจว่าทำไม
เนื่องจากมีแสงผีไม่กี่ครั้งที่เห็นได้จากภาคพื้นเพราะสภาพอากาศที่อึมครึม นักวิทยาศาสตร์จึงต้องตามล่าสไปร์ทจากบนฟ้า เช่นเดียวกับ เจสัน อาห์นส (Jason Ahrns) นักศึกษาปริญญาโทที่จับภาพแสงสไปร์ทได้ขณะขับเครื่องบินอยู่หลายเที่ยวเหนือเขตมิดเวสต์ของสหรัฐฯ
อาห์นสจับภาพดังกล่าวได้ระหว่างขับเครื่องบินวิจัยวีกัล์ฟสตรีม (Gulfstream V) ของศูนย์วิจัยบรรยากาศสหรัฐฯ (National Center for Atmospheric Research) โดยเขาเป็นส่วนหนึ่งทีมล่าสไปร์ทที่มีสมาชิกจากมหาวิทยาลัยอลาสกา (University of Alaska) ในแฟร์แบงก์ส สหรัฐฯ กองทัพอากาศสหรัฐ และวิทยาลัยป้องกันประเทศลูอิส (Fort Lewis College) ในดูรังโก สหรัฐฯ
ระหว่างเที่ยวบินวิจัยทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ถ่ายภาพด้วยความไวสูงทั้งภาพนิ่งและภาพวิดีโอ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจกระบวนการทางเคมีและฟิสิกส์ที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์แสงประหลาดนี้ได้ดีขึ้น ซึ่งอาห์นสกล่าวว่า ยังไม่ทราบชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นในสไปร์ท และทำไมจึงมีสไปร์ทหลายชนิด
สไปร์ทอาจส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศและภูมิอากาศ ด้วยการเปลี่ยนแปลงปัจจัยต่างๆ ในชั้นบรรยากาศโลก แต่อาห์นสระบุว่านักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบถึงขนาดผลกระทบ และพวกเขาก็ไม่อาจตอบได้โดยที่ยังไม่ศึกษาเรื่องนี้
ขณะที่ยังมีคำถามอีกมากเกี่ยวกับสไปร์ทสีแดง ไลฟ์ไซน์ระบุว่าก็พอจะมีบางรายละเอียดโผล่ออกมาบ้างนับแต่มีการยืนยันว่ามีปรากฏการณ์นี้อยู่จริงเมื่อปี 1989 โดยสไปร์ทจะก่อตัวเหนือพายุฝนฟ้าคะนอง เมื่อเกิดฟ้าผ่าประจุบวกเหนือเมฆพายุฝนที่เป็นประจุลบ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วฟ้าผ่าเป็นสายประจุลบ และนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสีแดงที่ปรากฏเป็นผลจากอันตรกริยาระหว่างอนุภาคมีประจุและไนโตรเจน
อาห์นสกล่าวว่าในทุกๆ ฟ้าผ่าปกติที่เป็นประจุลบจะเกิดฟ้าผ่าประจุบวก 1 ครั้ง และพายุครั้งใหญ่ๆ มักจะเกิดสไปร์ทขึ้นบ้าง แต่ก็มีบางครั้งที่เกิดสไปร์ทขึ้นจำนวนมาก และอาจเป็นเรื่องปกติมากกว่าเราคาดไว้ แต่เนื่องจากมีโอกาสเห็นไดยาก เพราะเกิดขึ้นเหนือเมฆพายุ
แสงสไปร์ทสามารถพุ่งผ่านขึ้นไปยังอวกาศได้สูงถึง 96 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ซึ่งมนุษย์อวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) สามารถบันทึกภาพสไปร์ทได้เมื่อปี 2012 ที่ผ่านมา โดยหนวดรุงรังของสไปร์ทยืดยาวลงมาในชั้นสตราโทสเฟียร์ที่ความสูง 25-32 กิโลเมตร และยังเห็นได้สว่างที่สุดที่ความสูงระหว่าง 65-72 กิโลเมตรขึ้น
กล้องความเร็วสูงของเครื่องบินวิจัยจะบันทึกภาพอย่างต่อเนื่องและมีความไวมากกว่าการกดชัตเตอร์ด้วยนิ้วมือคน จึงทำให้ไม่่พลาดภาพที่ปรากฏในไม่ถึงเสี้ยววินาที ซึ่งอาห์นสกล่าวว่า ทั้งเก็บภาพจากพายุที่ถูกต้อง และยังต้องเปิดหน้ากล้องอย่างเหมาะสมนั้น ต้องอาศัยโชคพอสมควร และสไปร์ทก็เกิดขึ้นเร็วเกินกว่าที่มนุษย์จะตอบสนองและกดชัตเตอร์ในช่วงเวลานั้นได้ทัน