xs
xsm
sm
md
lg

มีความหวังตัดตอนวงจรชีวิต "เชื้อมาลาเรีย"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำการเจาะเลือดเด็กเพื่อตรวจหาเชื้อมาลาเรียที่คลินิกแห่งหนึ่งในประเทศมาลี (เครดิต BSIP/UIG VIA GETTY IMAGES)
แม้จะเป็นเพียงแค่ระยะแรก แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง เมื่อทีมนักวิจัยในสหรัฐฯ พัฒนาวัคซีนขนานใหม่ป้องกันโรค "มาลาเรีย" ได้เป็นผลสำเร็จ ด้วยการตัดวงจรชีวิตของเชื้อปรสิตตัวร้ายตั้งแต่วัยอ่อน เตรียมขยายผลทดสอบสู่ดินแดน 2 ประเทศในแอฟริกาปลายปีนี้

ความสำเร็จในงานวิจัยด้านโรคมาลาเรียครั้งล่าสุดนี้เป็นผลงานของนักวิจัยที่นำโดย ดร.โรเบิร์ต ซีเดอร์ (Dr Robert Seder) จากศูนย์วิจัยวัคซีน (Vaccine Research Center) ในสังกัด สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health) ที่สามารถพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียได้สำเร็จ ซึ่งมีความพิเศษตรงที่ เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อปรสิตสาเหตุของโรคมาลาเรียที่ยังมีชีวิตแต่ถูกทำให้อ่อนแรง หรือที่เรียกกันว่า วัคซีนชนิดตัวเป็น หรือ วัคซีนเชื้อเป็น

จากสถิติล่าสุดขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ในปี 2010 พบว่ามีผู้ป่วยโรคมาลาเรียมากกว่า 219 ล้านคนทั่วโลก และเสียชีวิตกว่า 660,000 คน โดยที่ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนใดป้องกันโรคนี้ได้ผล 100% และในการรักษาผู้ป่วยก็ยังมีปัญหาเชื้อดื้อยาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"พวกเรารู้สึกตื่นเต้นและพอใจกับผลที่ได้เป็นอย่างมาก แต่มันสำคัญตรงที่ว่าพวกทำซ้ำได้ ขยายผลได้ และทำได้เป็นจำนวนมาก" ดร.ซีเดอร์ กล่าวแก่บีบีซีนิวส์ ซึ่งผลงานวิจัยของพวกเขาได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารไซน์ (Science) เมื่อต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา

ทีมวิจัยร่วมกับบริษัทซานาเรีย (Sanaria) ซึ่งเป็นเอกชนที่ดำเนินการด้านเทคโนโลยีชีวภาพในสหรัฐฯ ได้ทำการเพาะเลี้ยงยุงในห้องปฏิบัติการในสภาวะที่ปลอดเชื้อ โดยเลี้ยงยุงด้วยเลือดที่มีเชื้อมาลาเรียชนิด พลาสโมเดียม ฟาลซิฟารัม (Plasmodium falciparum) เพื่อผลิตเชื้อในระยะสปอโรซอยต์ (sporozoites) ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นในวงจรชีวิตของเชื้อพลาสโมเดียม

จากนั้นนำยุงไปฉายรังสี เพื่อทำให้สปอโรซอยต์ของเชื้อมาลาเรียอ่อนฤทธิ์ลง แล้วสกัดออกมาผลิตเป็นวัคซีนสำหรับฉีดเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ป่วยโดยตรง โดยให้ชื่อวัคซีนตัวนี้ว่า "พีเอฟเอสพีซี" (PfSPZ)

ในการทดสอบฤทธิ์ของวัคซีนดังกล่าว นักวิจัยเริ่มทำการทดสอบระดับคลินิกขั้นที่ 1 ในอาสาสมัครทั้งหมดจำนวน 57 คน ที่ไม่เคยมีประวัติป่วยเป็นโรคมาลาเรียมาก่อน ซึ่งอาสาสมัครจำนวน 40 คน ได้รับการฉีดวัคซีนในปริมาณที่แตกต่างกัน ขณะที่อีก 17 คน ไม่ได้รับวัคซีน หลังจากนั้นให้อาสาสมัครทุกคนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มียุงที่เป็นพาหะของโรคมาลาเรีย

ผลปรากฏว่าอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับวัคซีนในปริมาณมากจำนวน 15 คน มีเพียง 3 คนเท่านั้นที่ติดเชื้อมาลาเรีย และมีจำนวน 6 คนที่ได้รับวัคซีนในปริมาณมากที่สุด ไม่มีใครติดเชื้อเลย ส่วนกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 17 คนที่ไม่ได้รับวัคซีน เกือบทั้งหมดติดเชื้อมาลาเรีย

"จากการศึกษาในอดีตที่ผ่านมา ทำให้เรารู้ว่าการถูกยุงกัด 1,000 ครั้งขึ้นไป สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ แต่นั่นไม่ใช่วิธีที่จะสามารถป้องกันการระบาดของโรคร้ายนี้ได้อย่างทั่วถึง และวัคซีนตัวนี้ก็ทำให้เรื่องนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น" ดร.ซีเดอร์ กล่าว ซึ่งงานต่อไปของพวกเขาก็คือการศึกษาถึงปริมาณและช่วงเวลาการฉีดวัคซีนที่เหมาะสม รวมไปถึงระยะเวลาการออกฤทธิ์ของวัคซีน และประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อพลาสโมเดียมสายพันธุ์อื่นๆในธรรมชาติที่ก่อให้เกิดโรคมาลาเรียในมนุษย์

นอกจากนั้น รายงานข่าวในวอชิงตันโพสต์ยังระบุด้วยว่า การพัฒนาวัคซีนต้านเชื้อปรสิตอย่างเชื้อมาลาเรียนั้น มีความยากกว่าการพัฒนาเชื้อวัคซีนต้านไวรัสอยู่แล้วโดยธรรมชาติ เนื่องจากเชื้อไวรัสนั้นดำรงอยู่ในรูปแบบเดียวและมีวงจรการขยายพันธุ์ที่เรียบง่าย ในขณะที่เชื้อปรสิตมีการพัฒนาไปหลายระยะในช่วงวงจรชีวิต และทุกระยะของเชื้อปรสิตสามารถแฝงอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้ ซึ่งวัคซีน "พีเอฟเอสพีซี" นี้สามารถลดจุดอ่อนของปัญหาดังกล่าวได้ด้วยการตัดวงจรชีวิตของเชื้อมาลาเรียตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น

โดยหลังจากฉีดวัคซีนดังกล่าวให้อาสาสมัครแล้ว สปอโรซอยต์ในวัคซีนจะเดินทางไปตามกระแสเลือดเข้าสู่ตับเพื่อเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนอยู่ในเซลล์ตับ ซึ่งวัคซีนนี้ก็จะไปกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T-cell) และส่งเข้าไปจัดการสปอโรซอยต์ที่อยู่ในตับทันที

"ช่วงหนึ่งในวงจรชีวิต ถือเป็นช่วงวิกฤตสำหรับการป้องกันการติดเชื้อ" แอนโทนี เฟาซี (Anthony Fauci) ผู้อำนวยการ สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institute of Allergy and Infectious Diseases) กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวของวอชิงตันโพสต์ ซึ่งทีมวิจัยมีแผนจะขยายการทดสอบระดับคลินิกไปยังประเทศแทนซาเนียและมาลีในแอฟริกาก่อนสิ้นปีนี้ ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลแทนซาเนีย ร่วมกับสถาบันแห่งหนึ่งของสวิตเซอร์แลนด์ และสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีความพยายามในการพัฒนาวัคซีนต้านเชื้อมาลาเรียโดยทีมวิจัยหลายชาติหลายสถาบัน ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนที่พัฒนาขึ้นจากส่วนใดส่วนหนึ่งของเชื้อปรสิตมากกว่าจะเป็นเชื้อมาลาเรียทั้งตัว ซึ่งในจำนวนนี้มีวัคซีนประมาณ 20 ตัว อยู่ในระหว่างทดสอบระดับคลินิก และวัคซีน RTS,S/AS01 ที่พัฒนาโดยบริษัทแกล็กโซสมิทไคล์น (GlaxoSmithKline) มีความก้าวหน้าไปมากที่สุด โดยอยู่ระหว่างการทดสอบระดับคลินิกในระยะที่ 3 ที่ดำเนินการทดสอบในเด็กกว่า 15,000 คน ที่อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา
 เชื้อมาลาเรียในระยะสปอโรซอยต์ที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลงเพื่อใช้เป็นวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรีย (เครดิต Stephen Hoffman/Sanaria Inc.)






กำลังโหลดความคิดเห็น