xs
xsm
sm
md
lg

ลดไรฝุ่น…สารก่อภูมิแพ้อันดับ 1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.พญ. อัญชลี ตั้งตรงจิตร
ภาควิชาปรสิตวิทยา
รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
ไรฝุ่นในที่นอน

หลักฐานทางการแพทย์ระบุว่า สารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่น ซึ่งก็คือมูลไรและโปรตีนจากตัวไรฝุ่น จัดเป็นสาเหตุสำคัญในการก่อโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจที่พบมากที่สุดในประเทศไทย
ไรฝุ่น เป็นสัตว์ขาข้อตระกูลเดียวกับหิด แมงมุม แต่ตัวเล็กกว่ามาก มีขนาดเล็กประมาณ 0.1-0.3 มิลลิเมตร มีสีขาวคล้ายฝุ่น เดินเร็ว อยู่ปะปนในฝุ่นบ้าน จึงทำให้มองเห็นด้วยตาเปล่าได้ยาก ต้องใช้กล้องขยายส่องดู ไรฝุ่นชนิดที่พบบ่อยและก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้มี 2 ชนิดคือ ไรฝุ่นชนิด Dermatophagoides pteronyssinus (DP) และ Dermatophagoides farinae (DF)
ตัวไรฝุ่นชอบเส้นใยและชอบอยู่ในที่มืด อับชื้น ดังนั้น ที่นอน หมอน ผ้าห่ม พรม จึงเป็นที่ที่ไรฝุ่นชอบอาศัยอยู่ ห้องนอนจึงเป็นแหล่งที่พบตัวไรฝุ่นมากที่สุดในบ้าน ไรฝุ่นเติบโตได้ด้วยการกินขี้ไคลและรังแคของคน จากการสำรวจพบว่า อาจพบตัวไรฝุ่นในที่นอนตั้งแต่แสนตัวถึงนับล้านตัว สำหรับผู้ที่แพ้ไรฝุ่น เมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่นมักจะทำให้เกิดอาการคัน คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม คันตา แสบตา เคืองตา น้ำตาไหล คันคอ ไอ หรือหอบหืดในเวลากลางคืนหรือช่วงตื่นนอน
เพื่อกำจัดตัวไรฝุ่นสาเหตุของโรคภูมิแพ้ เราต้องช่วยกันลดปริมาณฝุ่นในบ้านลงโดย
จัดห้องนอนให้โล่งพร้อมกับเปิดให้อากาศถ่ายเท เพื่อลดความชื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตของไรฝุ่น มีเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นที่สุด ไม่ใช้พรมปูพื้นห้อง หรือวัสดุที่ทำจากผ้าหรือขนเป็นส่วนประกอบของในบ้าน เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถเป็นที่กักเก็บฝุ่นได้
นำเครื่องนอนทุกชนิดออกผึ่งแดดจัดๆ เพราะแสงแดดจะทำให้ไข่ไรฝุ่นฝ่อ และลดจำนวนไรฝุ่นที่จะ
ฟักออกมาใหม่ได้ รวมถึงยังทำให้ความชื้นในที่นอนลดลงด้วย นอกจากนี้ควรคลุมที่นอนและหมอนด้วยผ้าพลาสติกหรือผ้ากันไรฝุ่น
ซักทำความสะอาดเครื่องนอนทุกชนิดด้วยน้ำร้อนอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง และทำความสะอาด
บ้านด้วยเครื่องดูดฝุ่น หรือผ้าชุบน้ำหมาดๆ เป็นประจำ รวมถึงล้างแผ่นกรองฝุ่นเครื่องปรับอากาศ และสุดท้ายอย่าลืมใช้ผ้าปิดปากจมูกทุกครั้งที่ทำความสะอาดด้วย
ส่วนการใช้สารเคมีกำจัดแมลงนั้นไม่ค่อยเหมาะนัก เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองและมีอันตรายจากพิษตกค้างได้
ที่สำคัญ การป้องกันกำจัดไรฝุ่นและสารก่อภูมิแพ้ในบ้านควรทำควบคู่กับการรักษาโรค ถ้ายังมีอาการโรคภูมิแพ้อยู่ แพทย์อาจให้ยาเพื่อบรรเทาอาการ หรือฉีดวัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่น ซึ่งจะใช้ในรายที่การรักษาด้วยยาไม่ได้ผลดี และยังมีอาการกำเริบอยู่ โดยฉีดสารสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่นเข้าใต้ผิวหนังในปริมาณน้อยๆ เป็นระยะๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยเคยชินต่อสารก่อภูมิแพ้นั้น ซึ่งจะสามารถลดอาการแพ้ได้
แม้ว่าโรคภูมิแพ้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เราสามารถควบคุมไม่ให้เกิดอาการและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

*****

เด็กแอลดี ก็มีดีได้
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมฟังการบรรยาย ในหัวข้อ “เชื่อสิ! เด็กแอลดี ก็มีดีได้” พร้อมอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างสรรค์เด็กแอลดีในด้านการเรียนและการใช้ชีวิตในสังคม วันที่ 2 สิงหาคม 2556  เวลา 08.00-15.00 น.ณ ห้องอทิตยาทรกิติคุณ ตึกสยามินทร์ ชั้น 7  รพ.ศิริราช ค่าลงทะเบียน 1,000 บาท สำรองที่นั่ง/สอบถามได้ที่ โทร. 0 2419 8950 หรือ www.sicaap.net


กำลังโหลดความคิดเห็น