xs
xsm
sm
md
lg

ตรังห่วงฝนชุกเสี่ยงแพร่เชื้อไข้มาลาเรียผู้กรีดยาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - ผลการวิจัยห่วงการแพร่เชื้อไข้มาลาเรียอาจกลับมาสูงอีกครั้ง เหตุมาจากฝนที่ตกลงมาชุกส่งผลให้อุณหภูมิลดลง และความชื้นเพิ่มขึ้น จนส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรที่กรีดยางพาราเพราะช่วงวลาหากินของยุงก้นปล่องตรงกับช่วงเวลาของการกรีดยาง

วันนี้ (31 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรัง ว่า คณะวิจัยนำโดย นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อํานวยการ สํานักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ได้ร่วมกับศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนําโดยแมลงที่ 12.3 จังหวัดตรัง ผู้นําชุมชน และประชาชนพื้นที่ 4 ตำบลใน 3 อำเภอ ทำการวิจัยเรื่องผลกระทบจากสวนยางพาราต่อยุงก้นปล่อง ในพื้นที่แพร่เชื้อไข้มาลาเรียของจังหวัดตรัง เนื่องจากไข้มาลาเรีย เป็นโรคติดต่อในเขตร้อน และกึ่งเขตร้อนที่มียุงก้นปล่องเป็นแมลงนําโรค ซึ่งยังคงเป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณสุขของจังหวัดตรัง

เนื่องจากจังหวัดตรัง ตั้งอยู่ในลักษณะพื้นที่ และสภาพดินฟ้าอากาศที่หลากหลาย ก่อให้เกิดสภาพป่าหลายแบบ จึงเหมาะแก่การเพาะพันธุ์ และอาศัยของยุงก้นปล่อง ประกอบกับการประกอบอาชีพสวนยางพาราที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุณหภูมิลดลง และความชื้นเพิ่มขึ้น ตลอดจนภาชนะที่รองรับน้ำยางพารามีน้ำฝนขังอยู่ ซึ่งอาจเหมาะสมต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุงก้นปล่อง อีกทั้งยังมีเจ้าของสวนยางพาราเข้าไปสร้างที่พักอาศัย และมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทํางาน และพักอาศัยอยู่ภายในด้วย

ทั้งนี้ ไม่ว่าสวนยางพาราในพื้นที่ต่างๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในระบบนิเวศอันเนื่องมาจากเหตุใดก็ตาม แต่ผลจากการวิจัยพบว่า ย่อมมีอิทธิพลต่อชีวนิสัยของแมลงพาหะนําโรค และสิ่งมีชีวิตอื่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ส่งผลให้ในช่วงปีงบประมาณ 2545-2549 มีการพบอัตราผู้ป่วยไข้มาลาเรีย เท่ากับ 0.37, 1.29, 0.51, 0.31 และ 0.16 ต่อพันประชากร โดยพบผู้ที่ประกอบอาชีพทําสวนยางพารา ป่วยเป็นไข้มาลาเรีย จํานวน 96, 421, 189, 106 และ 40 รายตามลําดับ

นอกจากนั้น จากสถิติพื้นที่สวนยางพาราของจังหวัดตรัง ในปี 2545-2549 ยังพบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.55 ทําให้สภาพแวดล้อมกลายเป็นป่าทึบ เหมาะสําหรับเป็นแหล่งอาศัยของยุงตัวเต็มวัย และแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงก้นปล่อง ซึ่งปัจจุบันมีวิวัฒนาการปรับตัวด้านพฤติกรรมและพันธุศาสตร์ ตามกระแสความกดดันที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมในพื้นที่ต่างๆ โดยแต่ละชนิดมักจะมีแหล่งเพาะพันธุ์ และพบในพื้นที่ที่เหมาะสมแตกต่างกัน

สำหรับผลจากการวิจัยพบว่า ช่วงเวลาออกกรีดยางพาราของประชาชนชาวตรัง คือ 22.00-06.00 น. แต่ช่วงเวลาที่นิยมออกไปกรีดยางพาราสูงสุดคือ 04.00-05.00 น.เนื่องจากเป็นช่วงที่ต้นยางพาราให้ผลผลิตดี ขณะที่ยุงก้นปล่องตัวเต็มวัย มักจะออกหากินในช่วงเวลา 18.00-05.00 น. ทั้งนี้ เมื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชนิด ความหนาแน่น และช่วงเวลาการกัดกินเลือดของยุงพาหะ พบว่า มีความสอดคล้องกับช่วงเวลาออกกรีดยางพาราของประชาชน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อไข้มาลาเรียได้อย่างมาก
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น