ตาก - ทั้งมาลาเรีย-ไข้เลือดออก ระบาดหนักที่ชายแดนแม่สอด ครองสถิติผู้ป่วยสูงสุดในประเทศต่อเนื่อง ล่าสุด ขณะนี้ต่างด้าวแห่เข้ารักษาที่คลินิกหมอซินเทียวันละกว่า 300 รายแล้ว
รายงานข่าวจากจังหวัดตาก แจ้งว่า ขณะนี้สถานการณ์ไข้มาลาเรีย และไข้เลือดออกที่ชายแดนไทย-พม่า 5 อำเภอชายแดน (อ.แม่สอด-พบพระ-อุ้มผาง-แม่ระมาด-ท่าสองยาง) จังหวัดตาก เริ่มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนต่างด้าวชาวกะเหรี่ยง สัญชาติพม่า ที่เข้ามาขายแรงงาน ด้วยผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงในศูนย์อพยพชายแดนไทยป่วยเป็นไข้มาลาเรีย-ไข้เลือดออก ทำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ป้องกันการแพร่ระบาด
ล่าสุด นายประเสริฐ สอนเจริญทรัพย์ สาธารณสุขอำเภอแม่สอด จ.ตาก กล่าวถึงสถานการณ์โรคระบาดจากยุงเป็นพาหนะในช่วงฤดูฝน ว่า จากสถิติของสาธารณสุขจังหวัดตากพบว่า โรคมาลาเรีย และโรคติดต่อโดยแมลง หรือยุง ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของจังหวัดตาก เนื่องจากยังพบผู้ป่วยมาลาเรียสูงที่สุดของประเทศมาโดยตลอด
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน 2556 มีผู้ป่วยทั้งประเทศ จำนวน 22,546 ราย เป็นผู้ป่วยด้วยโรคมาลาเรียในพื้นที่จังหวัดตาก 8,901 ราย เป็นผู้ป่วยชาวไทย 3,299 ราย ชาวพม่า 5,602 ราย
ปัญหาที่สำคัญได้แก่ การอพยพเคลื่อนย้ายของประชากรทั้งชาวไทย และต่างชาติตามแนวชายแดนไทย-พม่า ทำให้มีการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรียเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และกว้างขวาง อีกทั้งแรงงานต่างชาติยังขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และสาธารณสุข ประกอบกับงบประมาณสำหรับควบคุมป้องกันไข้มาลาเรียในประเทศไทยลดลงอย่างมาก ทำให้ไม่เพียงพอต่อการให้บริการครอบคลุมในประชากรกลุ่มเสี่ยง
ดังนั้น จึงได้นำเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เปิดศูนย์รณรงค์ป้องกันโรคมาลาเรีย ให้แก่ประชาชนทั้งไทย-พม่า ที่บริเวณบ้านห้วยมหาวงศ์ หมู่ที่ 9 ตำบลมหาวัน อ.แม่สอด พร้อมกับแจกมุ้งป้องกันยุงและน้ำยาชุบมุ้ง และทรายอะเบต เพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ซึ่งมีชาวพม่าบ้านมินลาป่าน กว่า 200 คน เดินทางข้ามแม่น้ำเมยมารับบริการตรวจหาเชื้อไข้มาลาเรียด้วย
ส่วนที่คลินิกแม่ตาวของแพทย์หญิงซินเทีย หม่อง ซึ่งเป็นสถานพยาบาลไร้พรมแดน รับดูแลตรวจรักษาชาวกะเหรี่ยงสัญชาติพม่า ที่บ้านแม่ตาว ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ก็มีคนต่างด้าวเดินทางมาขอเข้ารักษาตัวจากอาการป่วยจำนวนมาก วันละไม่ต่ำกว่า 300 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ยังสามารถรับผู้ป่วยได้อยู่ แต่หากมีผู้ป่วยมากกว่านี้อาจต้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรที่เกี่ยวข้องในการสำรองยา และเวชภัณฑ์เพิ่มเติม