นักวิทยาศาสตร์จับภาพน่าประทับใจระหว่างฝูงโลมานับสิบไหลไปตามคลื่นที่เกิดจากการแหวกว่ายของ "วาฬสีเทา" ขณะอพยพจากแปซิฟิกเหนือเพื่อไปออกลูกที่ชายฝั่งเม็กซิโก
ในภาพถ่ายทางอากาศที่เผยแพร่โดยองค์การสมุทรศาสตร์และบรรยากาศสหรัฐ (National Oceanic and Atmospheric Administration) หรือโนอา (NOAA) นั้นแสดงให้เห็นฝูงโลมาธรรมดา (common dolphin) กำลังสนุกกับการไหลไปตามคลื่นที่เกิดขึ้นระหว่างวาฬสีเทา (gray whale) กำลังอพยพ
ภาพดังกล่าวบันทึกที่ความสูง 182 เมตร ใกล้เกาะคาตาลินา (Catalina Island) ทางชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ โดยไลฟ์ไซน์ระบุว่า ทุกปีฝูงวาฬสีเทาราว 20,000 ที่อาศัยทางฝั่งตะวันออกของแปซิฟิกเหนือจะอพยพจากถิ่นหากินในแถบอาร์กติกลงไปยังชายฝั่งเม็กซิโกเพื่อออกลูกและดูแลลูกน้อย
การติดตามสัตว์ในสปีชีส์ย่อยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในโครงการของโนอาเพืิ่อศึกษาสุขภาพและชีวิตสัตว์ในอันดับซีตาเซียน (Cetacean) หรือสัตว์จำพวกวาฬและโลมา โดยภาพถ่ายทางอากาศยังแสดงให้เห็นได้ว่าวาฬเหล่านั้นกำลังตั้งท้องหรือมีลูกน้อยคลอเคลียอยู่ด้วยหรือไม่ในระหว่างการเดินทางอพยพประจำปี
นอกจากนี้ภาพถ่ายทางอากาศยังเป็นสิ่งชี้วัดโดยอ้อมถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในอาร์กติก เพราะร่างกายของวาฬระหว่างอพยพจะเป็นกระจกสะท้อนถึงสภาพแวดล้อมในถิ่นหากินของวาฬ ซึ่งเวย์น เพอร์รีแมน (Wayne Perryman) นักชีววิทยาในโครงการติดตามวาฬของโนอาให้ความเห็นว่าพวกเขาสามารถศึกษาสภาพแวดล้อมในอาร์กติกได้จากทะเลในซานดิเอโกเพราะวาฬเหล่านั้นผ่านชายฝั่งของสหรัฐฯ
เนื่องจากอาร์กติกอุ่นขึ้นทำให้อาหารสำหรับวาฬบาลีน (baleen whales) หรือวาฬมีซี่กรองอย่างวาฬสีเทาขยับขึ้นไปทางเหนือมากขึ้น ดังนั้น สัตว์เลี้ยงรูปด้วยนมทางทะเลขนาดใหญ่อย่างวาฬสีเทาจึงต้องเดินทางไกลขึ้นเพื่อล่าเหยื่อ ซึ่งเพอร์รีแมนและคณะกำลงศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระยะทางที่ไกลขึ้นในการอพยพ กับอัตราความสำเร็จในการตั้งท้อง
ข้อมูลจากไลฟ์ไซน์ระบุอีกว่า ครั้งหนึ่งวาฬสีเทาทางฝั่งตะวันออกเกือบจะสูญพันธุ์ แต่จำนวนประชากรวาฬก็ฟื้นขึ้นมาได้ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนวาฬในอดีตก่อนวาฬจะลดจำนวนลง