หลายครั้งหลายคราวที่มีเสียงของประชาชนบางกลุ่ม ออกมาเรียกร้องชีวิตให้แก่เพื่อนร่วมโลกของเรา ซึ่งพวกมันไม่มีสิทธิ์จะเรียกร้อง หรือทวงคืนเอายุติธรรมจากมนุษย์ได้เลย จนหลายชีวิตเหล่านี้กลายเป็นเหยื่อของมนุษย์ ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่คับแคบ ต้องแสดงโชว์แลกอาหาร และสุดท้ายการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผิดเพี้ยนก็ทำให้พวกมันต้องตายลงอย่างน่าเศร้า
เหยื่อมนุษย์ “วาฬเบลูก้า”
หลังสวนสัตว์เปิดชื่อดังแห่งหนึ่งของเมืองไทยกำลังจะนำเข้าวาฬเบลูก้าชุดใหม่ จำนวน 6 ตัว จากประเทศรัสเซีย เพื่อมาจัดแสดงแทนวาฬชุดเก่า ที่เคยนำเข้ามาก่อนหน้านี้ แต่ปัจจุบันได้เสียชีวิตจนเหลือเพียง 1 ตัว เนื่องจากการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม จึงเกิดกระแสคัดค้านไม่เห็นด้วยจากกลุ่มอนุรักษ์ และผุดแคมเปญ “Do not allow the import of Beluga whales to Thailand - คัดค้านการนำเข้าวาฬเพื่อการแสดง” ในเว็บไซต์ change.org ซึ่งเปิดให้คนร่วมลงชื่อคัดค้านการนำเข้าวาฬชุดใหม่นี้
จิรายุ เอกกุล เจ้าของแคมเปญนี้ ได้ระบุถึงเหตุผล 5 ข้อ ที่ไม่ควรนำวาฬเบลูก้ามาจัดแสดงในประเทศไทยว่า
1. วาฬขาวหรือวาฬเบลูก้าใช้ชีวิตอยู่ในสภาพอุณหภูมิน้ำที่เย็นจัด แต่ในเมืองไทยนั้น บ่อน้ำเป็นบ่อเปิดแบบ Open Air
2. วาฬเหล่านี้ว่ายอยู่ในทะเลเป็นระยะทางกว่า 60-80 ไมล์ต่อวัน ดังนั้นการอยู่ในแท๊งค์เล็กๆ ถือว่าเป็นการทรมานสัตว์
3. วาฬเหล่านี้มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30-40 ปี ส่วนวาฬที่ถูกกักขัง มักตายหลังถูกจับมาเป็นเวลา 6-8 ปี
4. สวนสัตว์แห่งนี้นำเข้ามาเพื่อจัดแสดงเพื่อความบันเทิง ไม่มีโปรแกรมการอนุรักษ์หรือให้ความรู้แต่อย่างใด
5. ครั้งหนึ่งสวนสัตว์แห่งนี้เคยนำเข้าวาฬขาวมาแล้ว และก็ตายลงไปหมด จนเหลือแค่ 1 ตัวภายในระยะเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา แค่นี้ก็เป็นที่พิสูจน์แล้วว่า ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด ในการที่จะสั่งวาฬพวกนี้เข้ามาตายอีกครั้ง
จากการรณรงค์คัดค้านผ่านสื่อออนไลน์ จนได้รายชื่อผู้ร่วมคัดค้านกว่า 12,000 รายชื่อนั้น ขณะนี้รายชื่อทั้งหมดได้ถูกส่งไปถึงมือของกรมประมงแล้ว ซึ่งเมื่อทางกรมประมงเข้าไปดำเนินการตรวจสอบยังสวนสัตว์ดังกล่าวก็พบว่า สถานที่กักขังและจัดแสดง มีหลายจุดบกพร่องที่ต้องปรับปรุง และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการของกรมประมง ส่วนในเรื่องการขอนำเข้านั้นถือว่าไม่ขัดต่อกฎหมาย เพราะวาฬเบลูก้า อยู่ในบัญชี 2 ของอนุสัญญาไซเตส ซึ่งสามารถส่งออก-นำเข้า หากได้รับใบอนุญาตถูกต้องจากหน่วยงานของประเทศผู้ซื้อ-ขายวาฬ
และถ้าหากมีการอนุมัติให้นำเข้าวาฬเบลูก้าจริง แนนซี่ ลินน์ กิ๊บสัน ประธาน-ผู้บริหารมูลนิธิรักสัตว์ป่า (Love Wildlife Foundation) ก็ระบุว่า คงต้องหาแนวทางในการต่อสู้ต่อไป และต้องเร่งให้ข้อมูลแก่ประชาชน เพื่อที่จะได้ไม่สนับสนุนตีตั๋วเข้าไปยังสวนสัตว์ที่นำสัตว์มาทรมานเพียงเพื่อการแสดงโชว์
“หมีขาว” บทเรียนในอดีต
ย้อนไปเมื่อปี 2554 ก็เคยเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ขึ้น เมื่อทางสวนสัตว์เชียงใหม่ต้องการนำเข้าหมีขาว เพื่อมาจัดแสดงในอาคารจัดแสดงพันธุ์สัตว์ขั้วโลก (Polar World Chiang Mai Zoo) มูลค่ากว่า 71 ล้านบาท ที่ในขณะนั้นกำลังดำเนินการสร้าง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้ชีวิตสัตว์ขั้วโลกและกระตุ้นท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อข่าวนี้ปรากฏออกไป ทั้งผู้คนและนักอนุรักษ์ต่างออกมาคัดค้านต่อต้านโครงการนี้ ด้วยความเป็นกังวลเกี่ยวกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของหมีขาว
ครั้งนั้น นายแพทย์รังสฤษณ์ กาญจนวณิชย์ ที่ได้ออกมาร่วมคัดค้านระบุว่า สัตว์ขั้วโลกไม่ควรมาอยู่ในประเทศเขตร้อน เพราะจากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ พบว่า หมีขั้วโลกที่ถูกจัดแสดงทั่วโลกเกือบทั้งหมดจะเกิดโรคเครียด มีอาการป่วยทางจิต มักมีอาการซึมเศร้า และพฤติกรรมซ้ำซาก อันเนื่องมาจากความไม่เหมาะสมของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จัดแสดงที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการทางธรรมชาติ และพฤติกรรมเฉพาะของหมีขั้วโลก อีกทั้งพื้นที่ส่วนจัดแสดงหมีขั้วโลกของสวนสัตว์เชียงใหม่ ก็ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
นับว่าคราวนั้นเป็นโชคดีที่ภายหลังคณะกรรมการบริหารองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีมติยกเลิกการนำหมีขาวมาจัดแสดง เนื่องจากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจากข้อมูลประกอบอย่างรอบด้าน รวมทั้งข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์แล้ว ยอมรับว่า อาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นตามมาในอนาคตได้ โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับสวัสดิภาพของหมีขาวที่จะนำมาจัดแสดง
การนำสัตว์ต่างๆ มาจัดแสดงโดยคำนึงถึงเพียงความรู้ แต่ไม่นึกถึงสภาพแวดล้อมอันไม่อำนวยต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ เป็นสิ่งสมควรปฏิเสธอย่างยิ่ง เพราะไม่ว่าจะคนหรือสัตว์ต่างก็รักชีวิตด้วยกันทั้งนั้น
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live