มูลนิธิรักสัตว์ป่าเดินหน้าให้ข้อมูลเพื่อต้านนำเข้า “วาฬเบลูก้า” สัตว์ขั้วโลกจากรัสเซีย ระบุให้ข้อมูลทางวิชาการแก่กรมประมงไปพิจารณา ซึ่งระหว่างนี้กำลังตัดสินใจว่าจะอนุญาตหรือไม่ ชี้นำวาฬมาจัดแสดงในสวนน้ำเป็นการทรมานสัตว์เพราะเป็นสัตว์น้ำที่ต้องใช้พื้นที่เยอะในการใช้ชีวิต อีกทั้งยังทำให้วาฬอายุสั้นเหลือเพียง 1 ใน 3 ของอายุตามธรรมชาติ
แนนซี่ ลินน์ กิ๊บสัน (Nancy Gibson) ประธาน-ผู้บริหารมูลนิธิรักสัตว์ป่า (Love Wildlife Foundation) เผยว่า หลังจากยื่นหนังสือชี้แจงพร้อมหลักฐานสำคัญเพื่อคัดค้านการนำวาฬเบลูก้า 6 ตัวจากรัสเซียของสวนสัตว์แห่งหนึ่ง ให้แก่คณะกรรมการฝ่ายการวิจัย กรมประมง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่สำคัญในการตัดสินใจเกี่ยวกับการขออนุญาตนำเข้าวาฬเบลูก้า ขณะนี้ทางกรมประมงยังไม่ได้ตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว และกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบสวนสัตว์ที่ขออนุญาตว่าจ้องการปรับปรุงพื้นที่ของสวนสัตว์เพื่อรองรับวาฬหรือไม่
ทางมูลนิธิกำลังรอการตัดสินใจของทางกรมประมง ซึ่งต้องปล่อยให้เป็นขั้นตอนของทางภาครัฐ และระหว่างรอการตัดสินใจมูลนิธิจึงได้ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักฐานที่เป็นเหตุผลให้ต้องคัดค้านการนำเข้าวาฬเบลูก้า และเป็นข้อมูลที่ยื่นให้แก่กรมประมง โดยได้ยื่นข้อมูลที่แสดงแนวโน้มว่าวาฬเบลูก้า ที่สวนสัตว์แห่งหนึ่งสั่งเข้ามานี้ น่าจะเป็นวาฬจากธรรมชาติ เนื่องจากการเพาะพันธุ์ในที่กักขังเป็นไปได้ยาก และหากมีลูกขึ้นมาก็ยากที่นำไปให้สวนสัตว์อื่น
“การนำสัตว์จากธรรมชาติเข้ามาเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการอนุรักษ์อย่างสิ้นเชิง ซึ่งวาฬจะรอดและมีชีวิตที่ดีในธรรมชาติมากกว่าในที่กักขัง และยังเป็นการทารุณสัตว์ เพราะการจับหรือล่าวาฬนั้นอาจทำให้วาฬหลายตัวบาดเจ็บ หรือได้รับผลกระทบ บางตัวอาจตายระหว่างการล่า ในสวนสัตว์ไทยมีทั้งวาฬและโลมา แต่เขาไม่สามารถออกลูกได้ ซึ่งเราพบว่ามีการขอนำเข้ามาบ่อยในช่วงไม่กี่ปี แสดงว่าที่นำเข้ามาก่อนหน้านั้นไม่รอด เมื่อ 10 ปีที่แล้วมีการนำเข้าวาฬเบลูก้า 4 ตัว ตอนนี้เหลือ 1 ตัว ทั้งที่ปกติในธรรมชาติวาฬจะอยู่ได้ถึง 40-50 ปี ซึ่งอัตรานี้คำนวณถึงภัยธรรมชาติ เชื้อโรค เรือ อวน และผู้ล่าแล้ว” ประธานมูลนิธิรักสัตว์ป่า กล่าว
ข้อสังเกตในเรื่องวาฬเบลูก้าที่นำเข้าเมื่อ 10 ปีที่แล้วเหลือเพียง 1 ตัว มูลนิธิชี้ให้เห็นว่าวาฬตายก่อนเวลาอันควร เนื่องจากโดยปกติสวนสัตว์มักจะสั่งเข้าวาฬอายุน้อย 3-4 ปีและเป็นเพศเมีย ด้วยเหตุว่าฝึกง่ายและคาดหวังว่าจะขยายพันธุ์ ส่วนวาฬตัวผู้และวาฬที่ยิ่งแก่จะยิ่งดื้อ ส่วนข้ออ้างว่าจะนำเข้ามาเพื่อการศึกษาและการอนุรักษ์นั้นก็เป็นไม่ได้เพราะเพียงนำมากระโดดเล่นลูกบอล ใส่หมวกหรือสวมแว่นตา ซึ่งไม่ได้ให้ข้อมูลอะไร นอกจากเสียงหัวเราะ โดยทางมูลนิธิเห็นว่ามีเพียงแค่ความบรรเทิงที่จะได้จากการนำเข้าวาฬ
มูลนิธิให้ข้อมูลอีกว่า การล่าไม่เพียงแค่ทารุณเท่านั้น ซึ่งเท่าที่ติดตามข้อมูลจากรัสเซียนั้นยังไม่ทราบว่าเมื่อล่าแล้ววาฬยังมีประชากรเพียงพอที่จะขยายพันธุ์ในธรรมชาติหรือไม่ บางประเทศอย่างแคนาดาประกาศห้ามล่าวาฬเบลูก้า เพราะมีประชากรน้อยแล้ว แต่ประชากรก็ยังไม่เพิ่มจำนวนมากนัก ส่วนรัสเซียเมื่อกว่า 80 ปีก่อนล่าวาฬชนิดนี้มากนับร้อยนับพันตัวต่อปี แต่ปัจจุบันล่าน้อยลงเหลือราว 30 ตัวต่อปี เนื่องจากหาได้ยากขึ้น และยังไม่นับที่ต้องสูญเสียไปเนื่องจากเรือหรืออวนด้วย
ทางมูลนิธิไม่เห็นด้วยต่อการกักขังวาฬและโลมาทุกชนิด และถึงเวลาแล้วที่คนเราควรจะจดจำวาฬและโลมาในฐานะสัตว์ที่มีความฉลาดใกล้เคียงมนุษย์ มีความคิด มีความผูกพันกับครอบครัวไม่ต่างจากคน ดังนั้น การพรากวาฬจากฝูงเพื่อกักขังจึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควร อีกทั้งวาฬและโลมายังว่ายน้ำไกลหลายร้อยไมล์ ซึ่งไม่มีทางที่เราจะสร้างแทงก์น้ำที่ใหญ่ได้เพียงพอสำหรับวาฬและโลมา
“เขาหากินด้วยการส่งเสียงโซนาร์เพื่อล่าเหยื่อ พอเอาเขามาขังไว้เสียงเหล่านั้นก็สะท้อนไปมา นั่นอาจเป็นเหตุผลให้บางตัวมีอายุไม่ถึง 10 ปี แม้แต่สวนน้ำที่มีความพร้อมที่สุดในโลกอย่างพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำจอร์เจียในสหรัฐฯ และเป็นที่เดียวที่ทำให้เบลูก้าคลอดลูกได้สำเร็จ แต่ยังต้องเข้าวาฬเบลูก้าจากธรรมชาติ 10 ตัว เพราะอยากให้มีความยั่งยืนในการขยายพันธุ์เบลูก้าในที่กักขัง” จิรายุ เอกกุล หัวหน้าฝ่ายรณรงค์สัตว์ทะเล มูลนิธิรักสัตว์ป่าให้ข้อมูลระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 1 ก.พ.56 ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อาคารมณียา
พร้อมกันนี้ ปิยะวรรณ ตั้งสกุลสถาพร ผู้ก่อตั้งแฟนเพจเฟซบุ๊ก A Call for Animal Rights Thailand ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และความคิดเห็นว่า เมื่อก่อนเธอเคยเสียเงินเข้าไปดูการแสดงของวาฬและโลมา แต่เมื่อมีโอกาสได้ล่องเรือและได้เห็นวาฬว่ายน้ำ จากที่อยู่ท้ายเรือแต่ดำน้ำแค่ครั้งเดียวไปโผล่หน้าเรืออยู่ไกลลิบ ทำให้ได้ตระหนักว่า นั่นคือ “อิสรภาพ” และเป็นสิ่งที่ถูกต้องสำหรับวาฬและโลมา
“ไม่มีแท็งก์น้ำไหนใหญ่ได้เสี้ยวของธรรมชาติ ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องอุณหภูมิน้ำ และสภาพแวดล้อม การเอาเขามากักขังไว้ ไม่ต่างจากเอาคนไปขังไว้ในห้องน้ำแล้วให้เดินวนอยู่อย่างนั้นทั้งวัน พอได้กลับมาดูโชว์อีกครั้ง แม้ว่าวาฬและโลมาจะน่ารักโดยธรรมชาติแล้ว แต่ภาพที่เห็นก็ต่างอย่างสิ้นเชิงจากที่เห็นในธรรมชาติ เพราะเขาต้องว่ายวน ทำตามคำสั่งของครูฝึก เรากำลังมีความสุขอยู่บนความทุกข์ของพวกเขาหรือเปล่า ถ้าเขามีความสุขจริง เขาควรจะมีอายุที่ยืนยาวเหมือนในธรรมชาติ แต่จากข้มูลจะเห็นว่าวาฬในที่กักขังอายุสั้น เปรียบกับคนก็เหมือนอายุ 20-30 ปีก็ตายแล้ว” ปิยะวรรณให้ความเห็น
ด้าน จิรายุ เสริมว่า วาฬเบลูก้านั้นถูกจับมาจากแถบรัสเซีย ซึ่งมีอากาศหนาวเย็น แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเมืองไทย และเราไม่มีทางจะปรับอุณหภูมิให้หนาวเย้นได้เหมือนในธรรมชาติ อีกทั้งไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องศึกษาวิจัยวาฬเบลูก้า เพราะเป็นสัตว์ที่ไม่มีในเมืองไทย
นอกจากนี้ ภายในการแถลงข่าวยังมีความเห็นจาก สิริลักษณ์ คอมันตร์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมาร่วมฟังการแถลงข่าวว่า อยากช่วยร่วมคัดค้านในเรื่องนี้ แต่การจะให้ ป.ป.ช.เข้ามาช่วย ต้องดูว่าการนำเข้าวาฬนี้มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือคอรัปชั่นมาเกี่ยวข้องหรือไม่ ถ้าเจ้าของสวนสัตว์มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐมนตรี เหมือนกรณีที่อดีตอธิบดีคนหนึ่งส่งเสือจากประเทศไทยไปฮ่องกง ซึ่งการส่งเสือออกนอกประเทศเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และยังไปตั้งบริษัทตัวเองที่ฮ่องกงเพื่อเอาเสือไปผลิตยา และ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดไปแล้ว หากมีกรณีคล้ายกันก็อาจจะเรียกมาคุย เพื่อสกัดการอนุมัติการนำเข้าได้
ทั้งนี้ ที่ปรึกษา ป.ป.ช.ยังให้ความเห็นอีกว่า สำหรับเมืองไทยนั้นแม้จะมีงานวิจัยหรือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มายืนยัน แต่การตัดสินใจทำอะไรสักอย่งมักอยู่นอกเหนือเหตุผลเหล่านี้ เหมือนเรื่อง “จำนำข้าว” ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าเป็นนโยบายที่ “เลว” แม้กระทั่งนักวิชาการทางฝั่งรัฐบาลก็ไม่เห็นด้วย แต่ก็ยังทำต่อไป
หากมีการอนุมัติให้นำเข้าวาฬเบลูก้าจริง ประธานมูลนิธิรักสัตว์ป่า ระบุว่า คงต้องหาแนวทางในการต่อสู้ต่อไป ขณะเดียวกัน ก็จะให้ข้อมูลแก่ทางประชาชนให้มากๆ เพราะการที่สวนสัตว์ขอนำเข้าวาฬเหล่านี้ เพราะมีคนซื้อตั๋วเข้าไปดู หากเราหยุดและไม่สนับสนุนการทารุณสัตว์เหล่านี้ ธุรกิจจัดแสดงวาฬและโลมาก็อยู่ไม่ได้
คลิปวาฬเบลูก้าใน Georgia Aquarium
จุดยืนของมูลนิธิรักสัตว์ป่า
มูลนิธิรักสัตว์ป่าแนะนำการอนุรักษ์วาฬ