xs
xsm
sm
md
lg

อย่ามองวิทยาศาสตร์ไทยเป็นแค่บอนไซในกระถางทอง (เก๊)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การตัดรากต้นเมเปิลให้เป็นบอนไซต้นเล็กๆ
วันนี้ไม่ขอคุยวิทย์สะกิดใจ แต่นายปรี๊ดขอพูดจากใจในฐานะนักเรียนทุนวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง

“บอนไซ” ถือเป็นของเล่นคนรวย มุมมองสังคมไทยต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาจเหมือนไม้บอนไซ แพง ฟุ่มเฟือย ดูแลยาก ไกลตัว ไม่สมราคา หรือสุดท้ายมีประโยชน์แค่ให้นักการเมืองเอาไว้ชูโชว์ในเวทีนานาชาติว่า “บ้านฉันก็มี” แต่คนใหญ่เหล่านั้น ไม่เคยรู้ว่าจะทำประโยชน์ หรือบำรุงของมีค่าที่อยู่ในมือให้งอกเงย ออกดอกออกผลอย่างไรให้ยั่งยืน แถมยังหาเรื่องเอาคนใกล้ตัวที่เปรียบเหมือนเพลี้ยไฟ มอด ปลวก มาโถมใส่โดยไม่สนใจว่าบอนไซต้นนี้จะทนให้สูบเลือดสูบเนื้อได้นานแค่ไหน?

นายปรี๊ดเป็นแค่นักเรียนทุนตัวเล็กๆ ไม่เคยนั่งโต๊ะบริหารงานองค์กร แต่ด้วยตาเนื้อที่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากว่า 10 ปี ในฐานะ “ลูกหนี้ภาษีประชาชน” ก็ถูกปลูกฝังให้มีสำนึก และตั้งใจทำงานของตนเองอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังสัมผัสได้ว่าผู้ใหญ่ในสายวิทยาศาสตร์พยายามประคับประคองกล้าไม้ชื่อ “วิทยาศาสตร์ไทย” ให้เติบโตไม่เคยคิดวางมือ โดยเฉพาะ สวทช.*ที่เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งไม่ได้แค่มีหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกียวข้องกับงานวิจัยเท่านั้น แต่เป็นตัวแทนเชื่อมต่อความต้องการกับภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อพัฒนาโจทย์วิจัยต่างๆ ให้ตอบปัญหาความต้องการของประเทศด้วย

งานพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ภายในประเทศ ก็เป็นอีกหนึ่งพันธกิจปิดทองหลังพระของ สวทช.และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สังคมอาจจะมองข้าม เช่น การให้ทุนวิจัยสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ ทุนการศึกษา ทุนวิจัย และการจัดกิจกรรมส่งเสริมกำลังคนตั้งแต่ระดับปริญญาเอก-โท-ตรี ลงไปจนถึงระดับโรงเรียน ซึ่งไม่ได้ทำตามต้นแบบเดิมๆ แต่มีการศึกษาและพัฒนาการรูปแบบอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการพัฒนางานวิจัย บนวิสัยทัศน์ที่มองว่าการพัฒนาต้องอาศัยรากฐานที่แข็งแรง เพื่อวันข้างหน้าวิทยาศาสตร์ไทยจะสามารถค้ำยันและยืนหยัดได้ด้วยตนเอง การให้ทุนและสนับสนุนทุนการศึกษา และงานวิจัยระดับนักศึกษาภายในประเทศ จึงเป็นเรื่องสำคัญและพัฒนามาควบคู่กัน

สิ่งที่โดดเด่นที่สุดในด้านการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ที่จุดประกายโดยคนในสายวิชาชีพเฉพาะนี้ คือ การพัฒนาวิธีการให้ทุนและการสนับสนุนการศึกษาทั้งภายในและภายนอกประเทศ ควบคู่ไปกับวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งนายปรี๊ดเห็นว่าจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบการให้ทุน คือ “การสนับสนุนทุนวิจัยและการศึกษาแบบบูรณาการ” เพราะในอดีต การสนับสนุนทุนวิจัยและทุนการศึกษามักใช้ “ระบบท็อปดาวน์” คือ แบ่งเงินลงไปตามสถาบันการศึกษาหรือตามองค์กรแล้วแจกจ่ายตามสายงานของใครของมัน หรือลงไปแต่เพียงคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจทำให้เกิดการวิจัยซ้ำซ้อน และอาจจะไม่สามารถตอบสนองโจทย์ปัญหาของสังคมได้อย่างชัดเจน

องค์กรขนาดใหญ่อย่าง สวทช.เป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการองค์กรย่อยๆ เช่น ศูนย์พันธุวิสวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เป็นต้น ซึ่งศูนย์เหล่านี้ทำงานอยู่ภายใน “อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย”

หากเข้าไปเยี่ยมชมจะพบว่าองค์กรมหาชนขนาดใหญ่นี้ทำงานร่วมกับบริษัทเอกชน มหาวิทยาลัย และองค์กรที่เกี่ยวข้องมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ทำให้สามารถกำหนดกรอบวิจัยและโจทย์ที่เร่งด่วนของประเทศร่วมกันได้ในรูปแบบของ “คัสเตอร์” หรือ “กลุ่มวิจัย” เช่น กลุ่มวิจัย ข้าว กุ้ง ยางพารา นวัตกรรมชุมชน นวัตกรรมการศึกษา เป็นต้น ดังนั้น การทำงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จึงถูกลดความซ้ำซ้อนและทำงานแบบบูรณาการมากขึ้น เช่น ในกลุ่มวิจัยข้าว จะมีทั้งวิศวกร นักคอมพิวเตอร์ นักเคมี นักชีววิทยา นักวิชาการเกษตร ไปจนถึงนักพัฒนาสังคม เป็นต้น มาร่วมศึกษาและลงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาในด้านที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งถือเป็นพัฒนการที่กำลังเดินไปได้ด้วยดี

ดังนั้น เมื่อต้องพัฒนากำลังคนผ่านการศึกษา การสนับสนุนทุนวิจัยและทุนการศึกษาจึงไม่ได้ทุ่มลงไปตามสาขาหรือเฉพาะนักศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ตามที่เคยเป็น แต่การพัฒนาทิศทางใหม่ๆ ในทุกสาขาวิชาในสายวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ เช่น ระบบเมนเตอร์ (Mentoring) หรือระบบที่ปรึกษาแบบตักศิลา ซึ่งหมายถึงการให้นักเรียนนักศึกษาที่มีศักยภาพ ประกบติดและเรียนรู้การทำงานจากนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ วิศวกร และนักวิจัยสาขาต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในระดับประเทศ

ถือเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ในทุกสาขาได้เข้าถึงโจทย์วิจัยของประเทศ องค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกำลังคนที่เข้มแข็ง ซึ่งโครงการลักษณะนี้เริ่มต้นโดย สวทช.เมื่อราว 10 ปีที่ผ่านมา จนทุกวันนี้ถือว่าได้รับการยอมรับและถูกนำไปใช้ระบบการให้ทุนการศึกษาของ สวทช.ในระบบสามเส้า เชื่อมต่อระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และสถาบันวิจัยต่างๆ และยังขยายรูปแบบลักษณะนี้ไปยังหน่วยงานอื่นๆ เช่น ทุนโครงการผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) และลงไปถึงห้องเรียนวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ ซึ่งเชื่อได้ว่าในอนาคตหากโครงการลักษณะนี้ไม่ถูกตัดราก ปลิดกิ่งไป จะสามารถสร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ภายในประเทศได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

นอกจากนั้น ระบบการพัฒนากำลังคนในยุคใหม่ๆ ยังดูแลการศึกษาวิทยาศาสตร์ลึกลงไปจนถึงระดับนักเรียนตัวเล็กๆ ซึ่งหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาฯ ในการจัดกิจกรรม และส่งเสริมการเรียนรู้เพิ่มขึ้นจากอดีตหลายเท่าตัว เช่น ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ต้นแบบ มหาวิทยาลัยเด็ก บ้านวิทยาศาสตร์ และอีกมากมาย รวมไปจนถึงการสนับสนุนการให้ทุนสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่มีความสามารถ แต่ขาดงบประมาณในการนำเสนองาน หรือเข้าประกวดด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับโลก ซึ่งในอดีตการส่งประกวดหรือร่วมกิจกรรมในลักษณะนี้ทำได้แต่เพียงในสถาบันที่มีเงิน เพราะค่าใช้จ่ายสูง แต่ในปัจจุบันแม้แต่นักเรียนในสายอาชีวศึกษา หรือโรงเรียนมัธยมในต่างจังหวัดก็สามารถเดินทางไปเพิ่มพูนประสบการณ์และพัฒนาตนเองในระดับโลกได้ หากมีความสามารถมากพอ
ไม่ใหญ่ที่หยั่งรากลึก ยอมสร้างประโยชน์ได้มากกว่าบอนไซในกระถาง
ด้วยข้อดีของการเป็นองค์กรอิสระที่มีความหยืดหยุ่นในการทำงาน การสนับสนุนนักเรียนทุนของ สวทช.ยังมีรูปแบบที่น่าสนใจต่างจากกรอบเดิม อีกหลายรูปแบบ เช่น นักเรียนนักศึกษาที่ได้ทุนไปศึกษาดูงานต่างประเทศต้องกลับมาเขียนหนังสือ บทความ หรือสร้างชิ้นงานขยายผลเพื่อการศึกษา ในช่วงปิดภาคเรียนนักเรียนทุนจากหลากหลายสาขาจะร่วมออกภาคสนามกับนักวิจัยลงชุมชน เพื่อเรียนรู้และแก้ปัญหาปัญหาของชุมชน จนเกิดผลงานที่ใช้ได้จริงในชุมชนหลายแห่ง ส่วนนักศึกษาทุนของกระทรวงวิทย์ที่ศึกษาในต่างประเทศสามารถเข้าร่วมงานกับนักวิทยาศาสตร์ตามศูนย์วิจัยต่างๆ ได้ เพื่อศึกษาปัญหาที่กำลังดำเนินการอยู่ หาช่องว่างจากองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ตนเองเล่าเรียนมา และเตรียมปรับตัวเพื่อกลับมาทำงานให้กับประเทศอย่างกลมกลืน

เรื่องที่เล่ามาถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็คงว่านายปรี๊ด “อวย” กระทรวงวิทย์เพราะตัวเองได้ประโยชน์จากการรับทุน และกำลังจะเสียประโยชน์ละสิ...นั่นก็แล้วแต่ท่านละมอง แต่สิ่งที่นายปรี๊ดต้องการบอก คือ เรื่องการศึกษาและการขยายรากฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ต้องใช้ “วิสัยทัศน์ ทุนทรัพย์ และเวลา” เพราะเราไม่ได้กำลัง “ปลูกถั่วงอก” ที่รดน้ำแล้วเก็บกินไปวันๆ แต่เรากำลัง “ปลูกไม้ใหญ่” ที่ต้องให้เก็บกินดอกผลได้ในระยะยาว

ตอนนี้มีกระแสข่าวที่ยังไม่ฟังธงแว่วมาว่านอกจากทุนกระทรวงวิทย์ฯ ที่ใช้ส่งนักศึกษาไปเรียนต่อต่างประเทศแล้ว “ทุนสนับสนุนและทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ภายในประเทศ” อาจถูกดึงออกไปจากระบบด้วยเช่นกัน ผลกระทบนี้เกิดจากการการตัดงบประมาณเกือบพันล้านที่ให้กับ สวทช.หน่วยงานที่เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ของการพัฒนางานวิจัยและกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ เพราะสุดท้ายงบประมาณราว 200 ล้านบาทต่อปี ที่ถูกกันไว้สำหรับงานพัฒนากำลังคนภายในประเทศ ซึ่งเป็นพันธกิจหนึ่งที่สำคัญของ สวทช.อาจจะต้องถูกโยกย้ายและลดทอนลงเพื่อรักษาเส้นเลือดใหญ่ที่สำคัญกว่า

การมองข้ามการพัฒนากำลังคนภายในประเทศ ถือเป็นการถอนทึ้งรากฐานทรัพยากรบุคคลที่เลวร้ายมากวิธีหนึ่ง เพราะกว่าจะเดินมาถึงวันที่การให้ทุนการศึกษาสามารถตอบโจทย์การพัฒนากำลังคน ไปพร้อมกับการเรียนรู้โจทย์วิจัยของประเทศได้ ก็ใช้เวลานาน แต่ในวันนี้เราอาจจะต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ ในขณะที่หลายประเทศในอาเซียนซึ่งอดีตเคยล้าหลังกว่าเรากำลังวิ่งไปข้างหน้า...แต่คนไทยกำลังจะวิ่งถอยหลัง!

หากเปรียบเทียบการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นการปลูกต้นไม้ ทุกวันนี้การกำหนดนโนบายจากภาคการเมืองเป็นแบบคนบ้าเงิน จ้องแต่จะปลูกขายแต่ไม่ยอมลงทุน เลี้ยงต้นไม้ใหญ่ไว้ในกระถางทองเก๊ใบเล็กๆ คิดแต่ว่าทำยังไงก็ได้อวดโอ้เค้าได้ ให้โตทันกิน แต่กลับตัดราก ตัดกิ่ง ลดน้ำ ลดปุ๋ย บังคับไม้แคระต้นนี้ให้โตแบบแกรนๆ ในที่ทางจำกัด สุดท้ายเราจึงมองเห็นเพียง “ไม้แก่ต้นเตี้ย” ไม่สามารถแปรรูปเป็นบ้านเป็นเมืองได้อย่างที่ทุกคนหวัง หรือแม้แต่นโยบายขายฝัน ทุนวิจัย 2% ของ GDP ก็เป็นเพียงลมปากที่พ่นผ่านไรฟันของนักการเมือง...แต่แล้วก็สลายไป แต่กลับคุกคามคนทำงานด้วยการแทรกแซงความอิสระทางวิชาการด้วยการเมืองระดับชาติแทน

เราอาจลืมไปว่าสวนป่าที่ปลูกไม้หลากหลายชนิดตามศักยภาพและโจทย์การใช้งานของเจ้าของประเทศ ต้องบำรุงรักษารากให้แทรกดินสะดวก มีกิ่งก้านให้แตกสาขา จนออกดอก จนให้ผลร่วงหล่นเป็นกล้าไม้ซึ่งเสมือนเป็นวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ หากใครจะใช้ประโยชน์ ก็เลือกกินเลือกใช้ได้ตามความต้องการ นี่คือการปลูกพืชเพื่อหวังผลอย่างยาวนานและยั่งยืน...การก้าวเดินที่มองแต่ก้อนงบประมาณ แต่ลืมมองการบำรุงรากฐานของการเติบโตและพัฒนานั้นจะหาความยั่งยืนได้จากที่ไหน?

วิทย์ไทย ไม่ใช่แค่บอนไซในกระถาง ทั้งในบริบทของคำเปรียบและความจริง หากคนไทยช่วยกันยกไม้แคระออกจากกระถางแล้วปลูกลงพื้นดินดี นายปรี๊ดเชื่อว่า “ต้นวิทย์ไทย” จะเติบโตอย่างเต็มที่ในบริบทของเราเอง ไม่ต้องวิ่งตาม ไม่ต้องนำเข้า ไม่ต้องพึ่งพาใครในระยะยาว ไม่ใช่ไม่ทำ แต่เรากำลังทำอยู่....ขึ้นอยู่ที่ว่าวิสัยทัศน์ของ “คนใหญ่” จะทำกับ “ไม้เล็ก” นี้อย่างไร....หรือคนไทยหันมาจะร่วมกันยกไม้ต้นนี้ไปวางในที่อันเหมาะสม นั่นก็สุดแล้วแต่ท่านๆ จะพิจารณาและยื่นมือมาร่วมกัน

*สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว

ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์







กำลังโหลดความคิดเห็น