xs
xsm
sm
md
lg

Caroline Herschel หญิงรูปชั่วผู้พบดาวหาง 8 ดวง

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

Caroline Herschel ผู้เป็นไอดอลของหญิงอังกฤษ
William Herschel และ Caroline Herschel คือนักดาราศาสตร์สองพี่น้องผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 แม้ William จะมีอาชีพเป็นนักประพันธ์เพลงคอนเสิร์ต และเป็นผู้ควบคุมการร้องเพลงประสานเสียงในโบสถ์ แต่ในยามว่าง เขาคือนักดาราศาสตร์สมัครเล่นผู้ชอบสร้างกล้องโทรทรรศน์ด้วยตนเอง และได้ประสบความสำเร็จในการพบดาวเคราะห์ยูเรนัสอันเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 7 ของสุริยะจักรวาล ส่วน Caroline ผู้น้องสาวนั้น หลังจากที่ทำงานเป็นผู้ช่วยของพี่ชายในการสังเกตดูดาว และเนบิวลาจนเชี่ยวชาญแล้ว ก็ได้แยกตัวไปทำงานอิสระและเป็นนักดาราศาสตร์สตรีคนแรกของโลกที่ได้รับเงินเดือน ด้วยผลงานการพบดาวหางดวงใหม่ 8 ดวงด้วยผลงานการทำแผนที่ของเนบิวลานับพันร่วมกับพี่ชาย ทำให้คนทั้งสองได้ชื่อว่าเป็นคู่นักดาราศาสตร์ที่ทำงานร่วมกันจนได้ผลดีเด่นที่สุดในประวัติวิทยาศาสตร์

ในหนังสือ Caroline Herschel’s Autobiographies ที่มี Michael Hoskin สังกัดภาควิชาประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge เป็นบรรณาธิการ ซึ่งตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Science History, UK เมื่อปี 2003 หนังสือนี้มี Caroline วัย 70 ปี เป็นคนเขียนหลัก เนื้อหาที่ปรากฏในหนังสือได้ทำให้โลกเข้าใจวิธีการทำงานของเธอ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งได้ทำให้เธอเป็นนักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก

Caroline Lucretia Herschel เกิดที่เมือง Hanover ในเยอรมนี เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ.1750 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระบรมโกศ) ขณะนั้น Hanover อยู่ใต้การปกครองของพระเจ้า George ที่ 2 แห่งอังกฤษ เมื่ออายุ 3 ขวบ เธอได้ล้มป่วยเป็นโรคฝีดาษ ทำให้ใบหน้ามีรอยแผลเป็นเต็มไปหมด ครั้นเมื่ออายุ 11 ขวบ เธอได้ป่วยเป็นโรคไข้รากสาดอีก มีผลทำให้ร่างกายแคระ คือสูงเพียง 130 เซนติเมตรเท่านั้นเอง บิดาจึงมีความเห็นว่า ชาตินี้คงไม่มีใครมาแต่งงานกับลูกสาวรูปชั่วคนนี้เป็นแน่ และมารดาก็เห็นเช่นเดียวกันว่า คงไม่มีใครมาสู่ขอ ดังนั้นเธอจึงตั้งใจเก็บ Caroline เป็นคนใช้ในบ้านจนตลอดชีวิต ทัศนคติเช่นนี้ทำให้ Caroline มีความผูกพันกับพ่อยิ่งกว่าแม่

Caroline เล่าว่า บิดาของเธอ Isaac Herschel มีอาชีพเป็นนักดนตรี และเป็นนักดาราศาสตร์สมัครเล่น เพราะครอบครัวมีลูก 6 คน บิดาจึงไม่มีเวลาใกล้ชิดสนิทสนมกับลูกๆ เลย กระนั้นก็ยังมีเวลาพาเธอไปดูดาวในสวนในเวลากลางคืน เมื่อพี่ชาย William ที่มีอายุมากกว่า Caroline 12 ปี ต้องเข้ารับการคัดเลือกเป็นทหารในปี 1757 เขาได้อพยพหลบหนีไปอยู่ที่เมือง Bath ในประเทศอังกฤษ เพราะเป็นเมืองที่มีชื่อเสียง ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของการดนตรีและการละครของอังกฤษ โดย William Herschel ประกอบอาชีพเป็นนักดนตรีเล่นออร์แกนในโบสถ์ และจะเป็นผู้กำกับการร้องเพลงประสานเสียงในโบสถ์ด้วย

หลังจากที่ William ได้อ่านหนังสือชื่อ Astronomy Explained upon Sir Isaac Newton’s Principles ของ James Ferguson ที่ตีพิมพ์ในปี 1756 และหนังสือ A Compleat System of Opticks ของ Robert Smith ที่ตีพิมพ์ในปี 1738 แล้ว William Herschel ก็ได้รับแรงดลใจที่จะใช้ชีวิตเป็นนักดาราศาสตร์ จึงเริ่มสร้างกล้องโทรทรรศน์ และได้พยายามฝนเลนส์ด้วยตนเอง แล้วใช้กระจกสะท้อนแสงที่ผิวถูกเคลือบด้วยโลหะ เพื่อให้สามารถเก็บรวบรวมแสงได้มากขึ้น กล้องโทรทรรศน์แบบหักเหนี้ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นๆ จากเดิมที่เคยสร้างให้เลนส์มีความยาวโฟกัส 7 ฟุตก็ได้รับการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพสูงขึ้น คือ ให้มีความยาวโฟกัส 20 และ 40 ฟุต จนเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุด และดีที่สุดในสมัยนั้น

เมื่อกล้องโทรทรรศน์ที่ William สร้างมีประสิทธิภาพสูง จึงเป็นที่ต้องการของประชาชนมาก มีผลให้ William มีรายได้จากการขายกล้อง ฐานะจึงดีขึ้น ทำให้คิดจะชวนน้องสาว Caroline ให้ออกจากบ้านในเยอรมนีมาอยู่ด้วยกันที่อังกฤษ เพราะหลังจากที่บิดาเสียชีวิตไปแล้ว Caroline ตกอยู่ในสภาพเสมือนทาสในบ้าน
William Herschel พี่ชายผู้เป็นทั้งนักประพันธ์เพลงและนักดาราศาสตร์
ถึงวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ.1772 Caroline จึงได้โอกาสออกเดินทางจากบ้านเกิดที่ Hanover ในเยอรมนีไปอังกฤษ เพื่อทำหน้าที่ไปดูแลบ้านให้พี่ชายที่ Bath แทนที่จะต้องทำงานเป็นคนใช้ในบ้าน เช่น ต้องดูแล ซักผ้า รัดผ้า และทำครัว เพื่อความอยู่ดี กินดีของพี่ๆ น้องๆ และมารดา ในการที่ Caroline สามารถออกจากบ้านได้นี้ William ต้องจ่ายเงินชดเชยให้แม่เพื่อจ้างคนใช้ใหม่มาทำงานแทน Caroline

เมื่อ Caroline เดินทางถึงอังกฤษ เธอพูดอังกฤษไม่ได้เลย แต่ก็ได้เริ่มปรับตัวโดยการทำงานช่วยพี่ชายในการคัดลอกเพลงสวดเพื่อร้องในโบสถ์ เพราะเธอมีพรสวรรค์ในการร้องเพลง ดังนั้นในบางครั้ง เธอจะแสดงความสามารถร้องเพลงเดี่ยวในโบสถ์

ในเวลาต่อมาเมื่อ William ขายกล้องโทรทรรศน์ได้จำนวนมากขึ้นๆ เขาพบว่า อาชีพสร้างกล้องโทรทรรศน์ขายทำเงินรายได้ให้เขาได้ดีกว่าอาชีพนักดนตรี ครั้นเมื่อพระเจ้า George ที่ 3 ทรงประทานเงินบำนาญให้ William ด้วย เขาจึงตัดสินใจเลิกอาชีพนักดนตรีทันที

ด้วยการใช้กล้องโทรทรรศน์ที่เลนส์มีความยาวโฟกัส 7 ฟุตได้ทำให้ William พบปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญ 2 เรื่องคือ ได้เห็นดาวคู่ (double stars) เป็นครั้งแรก จากเดิมที่นักดาราศาสตร์เคยเห็นเป็นดาวดวงเดียว แต่กล้องได้แสดงให้เห็นชัดว่า มันเป็นของดาว 2 ดวงที่อยู่ใกล้กัน จนทำให้เห็นเป็นดาวดวงเดียว และการค้นพบเรื่องที่สองคือ ในปี 1781 William Herschel ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์คนแรกที่เห็นดาวยูเรนัส ความกตัญญูกตเวทีที่ William มีต่อพระเจ้า George ที่ 3 ทำให้เขาเสนอชื่อดาวเคราะห์ดวงใหม่ว่า Georgium Sidus (ดาวแห่งพระเจ้าจอร์จ) แต่วงการดาราศาสตร์ไม่เห็นด้วยที่จะนำชื่อของมนุษย์เป็นชื่อของดาวเคราะห์ เพราะดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ล้วนใช้ชื่อเทพยดาทั้งสิ้น ดังนั้น ดาวดวงใหม่จึงได้ชื่อ Uranus ผลการค้นพบนี้ทำให้ William มีชื่อเสียงมากจนบุคคลสำคัญที่ไปเยือนเมือง Bath จะต้องหาโอกาสไปเยี่ยมคารวะ William Herschel ด้วยทุกคน

หลังจากที่พบดาว Uranus แล้ว ในปี 1782 กษัตริย์ George ที่ 3 ได้ตรัสเชิญ William กับ Caroline ไปพำนักที่หมู่บ้าน Datchet ซึ่งอยู่ใกล้พระราชวัง Windsor เพื่อถวายงานดาราศาสตร์ต่อพระองค์ โดยได้เงินปีละ 200 ปอนด์ (ในขณะที่นักดาราศาสตร์แห่งราชสำนักได้ 300 ปอนด์/ปี) William จึงเลิกอาชีพนักดนตรี และ Caroline ก็เริ่มทำงานเป็นผู้ช่วยของพี่ชายเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ.1782

เวลาทำงานร่วมกัน William จะเป็นคนเฝ้าสังเกตดูดาว โดยใช้กล้องแล้วตะโกนบอกรายละเอียดแก่น้องสาว Caroline ให้สเก็ตซ์ภาพและจดข้อมูล ผลงานของคนทั้งสองได้ปรับปรุงแก้ไข ข้อมูลของกลุ่มดาวที่ John Flamsteed ผู้เป็นนักดาราศาสตร์แห่งราชสำนัก ได้เคยบันทึกไว้จนถูกต้อง ทำให้ผลงานของ Flamsteed เป็นที่ยอมรับในที่สุด

เพราะในสมัยนั้นดาราศาสตร์เป็นวิชาที่เฟื่องฟูและเป็นที่นิยมของผู้คนในสังคม ดังนั้น เวลากษัตริย์ George ที่ 3 ทรงประสงค์จะต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่พระราชวัง Windsor หลังจากที่เสวยพระกระยาหารอาหารค่ำแล้ว พระองค์จะทรงนำแขกไปดูดาว โดยมี William Herschel เป็นผู้ถวายคำอธิบาย

ขณะอยู่ที่ Datchet Caroline มีหน้าที่ช่วยพี่ชายบันทึกข้อมูลดาว และเนบิวลา รวมทั้งสเก็ตซ์ภาพตามที่พี่ชายบอก ความสำเร็จเหล่านี้ทำให้ William มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก แต่ Caroline ก็ยังไม่เป็นสุข เพราะเธอรู้สึกเหงาที่ต้องออกจาก Bath ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สังคมมีความคึกคักมาอยู่ที่หมู่บ้าน Datchet ซึ่งเงียบแบบบ้านนอก ทำให้เธอรู้สึกว้าเหว่มาก ดังนั้น William จึงนำกล้องโทรทรรศน์แบบหักเหแสงที่เขาสร้างมาให้เธอสามกล้องเพื่อให้เธอใช้ดูดาวเวลาเหงา และ Caroline ก็ได้ใช้กล้องอย่างคุ้มค่า เพราะเธอได้สังเกตเห็นเนบิวลาจำนวนมากมายที่ยังไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน ซึ่งผลงานนี้ได้ทำให้พี่ชายดีใจและภูมิใจมาก
บันทึกการค้นพบดาวหางดวงแรกของ Caroline Herschel เมื่อปี 1786
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1785 สองคนพี่น้องได้ย้ายบ้านไปอยู่ที่เมือง Slough (และอยู่ที่นั่นจน William เสียชีวิตในปี 1822) Caroline รู้สึกพอใจในบ้านหลังใหม่ เพราะบ้านมีดาดฟ้าให้เธอขึ้นไปสังเกตดูดาวบนหลังคาบ้านได้ เวลาดูดาว ทั้ง Caroline กับ William จะทำงานดึกถึงตี 4 จึงเข้านอน ในเช้าของวันต่อมา Caroline จะจัดเรียบเรียงข้อมูลให้เรียบร้อย เพื่อทำเป็นสมุดรายชื่อของดาว สำหรับให้สมาคม Royal Society ตีพิมพ์ในปี 1802 ในวารสาร Philososhical Transactions โดยมีชื่อ William เป็นนักวิจัยหลัก หนังสือนี้มีภาพและข้อมูลของเนบิวลาประมาณ 500 เนบิวลา และกระจุกดาวร่วม 2,000 กระจุก

ในช่วงเวลาที่อังกฤษกำลังมีนักดาราศาสตร์ชื่อ William Herschel และ Caroline Herschel ในฝรั่งเศสก็มี Charles Messier ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการค้นหาเนบิวลา และดาวหาง จนพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ทรงตั้งฉายาของ Messier ว่า “พรานล่าดาวหาง”

สำหรับ Caroline เมื่อเวลาผ่านไปๆ เธอก็มีความสามารถมากขึ้น จนรู้ว่าตนสามารถทำงานอย่างเป็นอิสระจากพี่ชายแล้ว ในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ.1786 Caroline ได้พบดาวหางดวงแรก (ปัจจุบันดาวหางนี้ชื่อ C/1786 P1 (Herschel)) ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น William ก็กำลังเดินทางไปที่มหาวิทยาลัย Göttingen ในเยอรมนีเพื่อนำกล้องโทรทรรศน์ไปขาย Caroline จึงใช้กล้องที่มีความยาวโฟกัส 27 นิ้ว ติดตามสังเกตดาวหางดวงแรกของเธอถึงวันที่ 6 สิงหาคมของปีต่อมา จากนั้นดาวหางก็ได้หายสาบสูญไป เหตุการณ์นี้ทำให้ William เชิญนายกของสมาคม Royal Society กับนักดาราศาสตร์คนอื่นๆ ของสมาคมมาที่ Slough เพื่อสังเกตดูดาวหาง Caroline

เมื่อ William เดินทางกลับถึงอังกฤษ ก็ได้พบว่า Caroline มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกแล้ว และ William ก็ได้ทูลขอเข้าเฝ้าพระเจ้า George ที่ 3 เพื่อให้พระองค์ทรงใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องดูดาวหาง Caroline

ลุถึงวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ.1788 William Herschel วัย 50 ปี ได้เข้าพิธีสมรสกับสตรีฐานะดีชื่อ Mary Burney Pitt หลังแต่งงาน William แทบจะหมดความสนใจและกระตือรือร้นเรื่องดาราศาสตร์ ส่วน Caroline เมื่อไม่ถูกกับพี่สะใภ้ จึงได้ทุ่มเทศึกษาดาราศาสตร์มากขึ้น และได้ขอให้พี่ชายของตนทูลขอเงินเดือนสำหรับตัวเธอเอง แต่ Joseph Banks ซึ่งขณะนั้นกำลังดำรงตำแหน่งนายกของ Royal Society ได้เสนอความเห็นว่า Caroline เป็นผู้หญิง ดังนั้นสมเด็จพระราชินี Charlotte จึงสมควรเป็นผู้พระราชทานเงินเดือนให้เธอ เหตุการณ์นี้ทำให้ William ติง Banks ว่า ถ้ากษัตริย์ไม่พระราชทานเงินเดือนให้ Caroline ตัว William เองก็จะต้องเป็นคนจ้างผู้ช่วยด้วยเงินปีละ 100 ปอนด์ ในที่สุดสมเด็จพระเจ้า George ที่ 3 ทรงตัดสินพระทัยพระราชทานเงินเดือนให้ Caroline ปีละ 50 ปอนด์ (ในสมัยนั้นคนใช้ผู้หญิงได้เงินปีละ 10 ปอนด์ ครูผู้หญิงที่สอนหนังสือตามบ้านได้เงินปีละ 40 ปอนด์) Caroline จึงเป็นนักวิทยาศาสตร์สตรีคนแรกของโลกที่ได้เงินเดือน เหตุการณ์นี้ได้ทำให้เธอเป็นไอดอลของผู้หญิงอังกฤษทุกคน

เมื่อถึงวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.1788 Caroline ได้พบดาวหางดวงที่ 2 ชื่อ 35P/1788 Y1 และได้สังเกตดูดาวหางดวงนี้จนกระทั่งวันที่ 8 มกราคม ค.ศ.1789 แล้วดาวหางก็ได้หายไป จนกระทั่งปี 1939 Roger Rigollet ได้พบดาวหางดวงนี้อีก และได้ศึกษาธรรมชาติของดาวหางอย่างละเอียด ดาวหางจึงมีชื่อว่า 35P/Herschel – Rigollet

Caroline พบดาวหางดวงที่ 3 C/1790 A1(Herschel) ในวันที่ 7 มกราคม ค.ศ.1790 และดวงที่ 4 C/1790 H1 (Herschel) ในวันที่ 17 เมษายน ค.ศ.1790

จากนั้นหลังจากที่ไม่ได้พบดาวหางอีกเลยเป็นเวลานานร่วม 20 เดือน เมื่อถึงวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ.1791 Caroline ก็ได้พบดาวหางดวงที่ 5 C/ 1791 X1 (Herschel) และดวงที่ 6 ในวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ.1793 แต่ปรากฏว่าดาวหางที่ Caroline เห็นนี้ Messier เป็นคนพบก่อน ดังนั้น ดาวหางจึงมีชื่อว่า C1793 S2 (Messier)
หลุมอุกกาบาต Herschel (กลางภาพ) บนดวงจันทร์ (นาซา)
เมื่อถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ.1795 Caroline ได้รายงานการเห็นดาวหางดวงที่ 7 แต่ในปี 1805 คือ อีก 10 ปีต่อมา Johann Encke ก็ได้เห็นดาวหางดวงนี้อีกและได้คำนวณวิถีโคจรว่า มีคาบ 12.1 ปี ซึ่งผิด เพราะดาวหางได้หวนกลับมาอีกในปี 1822 ดาวหางดวงนี้จึงมีชื่อว่า ดาวหาง Encke ซึ่งนับเป็นดาวหางดวงที่ 2 ที่นักดาราศาสตร์สามารถทำนายได้ถูกว่า จะกลับมาให้ชาวโลกเห็นอีก (ดาวหางดวงแรกที่นักดาราศาสตร์คำนวณคาบถูก คือ ดาวหาง Halley)

Caroline ได้พบดาวหางดวงสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ.1797 ชื่อ C/1797 P1 (Bouvard - Herschel) เพราะ Alexin Bouvard ที่ปารีสก็ได้พบ ก่อนเธอเล็กน้อย และในคืนที่เธอพบดาวหางนั้น Caroline ได้ขี่ม้าเดินทางนาน 6 ชั่วโมงได้ระยะทางไกล 26 ไมล์ จาก Slough ถึง Greenwich เพื่อรายงานให้ผู้อำนวยการหอดูดาวชื่อ Nevil Maskelyne ทราบก่อนใคร (แต่ก็ยังช้ากว่า Bouvard) การเดินทางที่นาน และเหน็ดเหนื่อยสำหรับผู้หญิง เพราะเธอไม่ได้นั่งคร่อมขี่ม้า แต่นั่งขี่แบบแบบสุภาพสตรีทำให้ต้องระมัดระวังไม่ให้ตกม้า ผลการเดินทางครั้งนั้นทำให้เธอรู้สึกเหนื่อยล้ามากจนต้องพักที่บ้านของ Maskelyne นานหลายคืน

หลังปี 1811 Caroline ไม่รู้สึกสนใจที่จะค้นหาดาวหางอีกต่อไป เธอต้องการเพียงแค่ได้เห็นดาวหางเป็นคนแรก แต่ไม่สนใจศึกษาธรรมชาติของนิวเคลียส ของโคม่า หรือหางดาว รวมถึงไม่ต้องการหาวิถีโคจรของดาวหางด้วย ทั้งนี้เพราะเธอไม่รู้วิทยาศาสตร์มากนั่นเอง และแทบไม่มีความรู้คณิตศาสตร์เลย

ครั้นเมื่อพี่ชาย William เสียชีวิตในปี 1822 Caroline จึงตัดสินใจเดินทางกลับ Hanover เพื่อไปพำนักอยู่กับญาติๆ ในช่วงสุดท้ายของชีวิต แต่ก่อนกลับบ้านเกิดเธอได้ถ่ายทอดความรู้ดาราศาสตร์ของเธอให้ John Herschel ผู้เป็นหลานชายเพื่อทำงานดูดาวต่อที่ Slough

Caroline ปิดฉากชีวิตทำงานดาราศาสตร์เมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1824 หลังจากที่ได้เห็นดาวหาง (C/1823 Y1) และได้พบว่า เธอสนุกสนานมากกับชีวิตที่ Hanover และรู้สึกประหลาดใจที่ได้รับการยกย่องมากจากสังคม

ในปี 1828 สมาคม Royal Astronomical Society ได้มอบเหรียญทองให้เธอผู้มีผลงานศึกษาเนบิวลา ร่วม 2,500 เนบิวลา (Vera Rubin เป็นสตรีคนที่ 2 ที่ได้รับเหรียญนี้)
ในปี 1832 กษัตริย์แห่งเดนมาร์กทรงพระราชทานเหรียญรางวัลให้เธอในฐานะผู้พบดาวหาง 8 ดวง ซึ่งนับว่ามากกว่านักดาราศาสตร์สตรีคนอื่นๆ ทุกคนในสมัยนั้น
ในปี 1835 Caroline ได้รับเลือกเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของ Royal Astronomical Society
ในปี 1846 กษัตริย์ Prussia ได้พระราชทานเหรียญทองให้เธอที่ได้สร้างผลงานมากมายซึ่งทำให้ดาราศาสตร์ก้าวหน้า
Caroline Herschel เสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 มกราคม 1848 ที่เมือง Hanover สิริอายุ 97 ปี

ณ วันนี้สถิติการพบดาวหางของ Caroline ได้ถูกนักดาราศาสตร์สตรีอีกท่านหนึ่งชื่อ Carolyn Shoemaker ทำลายแล้ว ตั้งแต่ปี 1980 เพราะ Shoemaker ใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีสมรรถภาพสูงกว่า และใช้เทคนิคการบันทึกภาพด้วยฟิล์มไวแสง ในขณะที่ Caroline Herschel ใช้ตาเปล่า

ถึงตัวจะตายจากไป และสถิติถูกทำลายแล้ว แต่ชื่อเสียงของ Caroline Herschel ก็ยังคงอยู่ เพราะหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์หลุมหนึ่งชื่อ C. Herschel และดาวเคราะห์น้อยที่พบในปี 1889 ชื่อ Asteroid 281 Lucretia

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์

ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น