xs
xsm
sm
md
lg

เขากลายเป็นนักวิจัยต่างชาติเพราะอกหักจากเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.พีรพงศ์ จิตเสงี่ยม
“ผมไปเพราะอกหักจากเมืองไทย” คือคำพูดตรงๆ ถึงสาเหตุที่ทำให้เขาตัดสินใจลาบ้านเกิดไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย วันนี้สิ่งเขาเคยพูดเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ไม่มีคนฟัง แต่กลับมาหนนี้คำพูดที่ไม่ต่างจากเดิมเริ่มมีคนฟังเขามากขึ้น ซึ่งเขายอมรับว่าเป็นเพราะมีดีกรีมาจากเมืองนอก

ดร.พีรพงศ์ จิตเสงี่ยม ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการทาง (Pavement Technology) เป็นอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคอร์ติน (Curtin University) ออสเตรเลีย เป็นเวลา 8 ปีแล้ว หลังจากมองว่าอนาคตเทคโนโลยีด้านนี้ในเมืองไทยไปได้ไม่ถึงไหน

“หลังใช้ทุนเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.ตาก อยู่ 2 ปีก็ได้รับข้อเสนอให้ไปช่วยงานที่เคอร์ติน นาทีนั้นดูทิศทางแล้วเทคโนโลยีการทางของไทยจะขยับยังไงก็คงไม่ได้เพราะพูดยังไงก็ไม่มีใครฟัง ผมเลยตัดสินใจไป ตอนนี้มีคนฟังเยอะขึ้น เพราะมาจากเมืองนอก อันนี้คือเรื่องจริงเลย ทั้งที่พูดเรื่องเดียวกันเลย บทพูดแทบจะซ้ำกันเลย กลับมาพูดเรื่องเดิมก็มีคนฟังขึ้น”

หลังจบปริญญาตรีและโทด้านวิศวกรรมโยธา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้วไปศึกษาต่อปริญญาเอกที่เคอร์ติน ทำให้เขาได้เห็นถึงปัญหาในเรื่องถนนหนทางของเมืองไทยที่ยังใช้เทคโนโลยีล้าสมัยซึ่งต้นแบบอย่างอเมริกาเลิกใช้ไปนานแล้ว แต่สิ่งที่เขาพยายามเสนอกลับไม่ได้รับความสนใจนักเมื่อได้รับข้อเสนอจากมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียเขาจึงตัดสินใจไป

งานหลักตอนศึกษาปริญญาเอกที่เคอร์ติน คือการนำกากของเสียจากการผลิตอะลูมิเนียมกลับมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง โดยได้ทุนจากภาคอุตสาหกรรมของออสเตรเลีย ซึ่งในทางออสเตรเลียจะนำวัสดุดังกล่าวไปทิ้ง แต่เพราะกากของเสียนั้นมีความเป็นด่าง จึงไม่สามารถทิ้งได้ทั่วไป ต้องสร้างวิธีพิเศษในการทิ้งและมีค่าบำรุงรักษาในการทิ้งที่แพงมาก

ทั้งนี้ ในกระบวนการผลิตอะลูมิเนียมคือการถลุงแร่บอกไซต์ (bauxite) แล้วได้เป็นอะลูมินาที่นำไปเปลี่ยนเป็นอะลูมิเนียม ซึ่งในขั้นตอนเปลี่ยนจากบอกไซต์ไปเป็นอะลูมินานั้น จะมีกากเหมือนเศษหิน เศษดินปริมาณมาก ทางภาคอุตสาหกรรมจึงมีแนวคิดนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่ง ดร.พีรพงศ์ ดูแลในส่วนของการนำกากเหลือทิ้งดังกล่าว มาทำเป็นวัสดุทำถนน คันดินถมและวัสดุถมทะเล (ในส่วนผนังกั้นทะเล ไม่ใช่การถมเพื่อขยายพื้นที่

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เขามีโอกาสได้กลับมาเมืองไทย พร้อมสานความร่วมมือด้านงานวิจัยระหว่างไทยและออสเตรเลีย และได้บรรยายพิเศษเกี่ยวกับเทคโนโลยีการทางว่าเทคโนโลยีดังกล่าวสำคัญต่อเมืองไทยอย่างไร โดยมีหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องกว่า 20 หน่วยงานรับฟัง อาทิ ท่าอากาศยาน กรมทางหลวง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และหน่วยงานสนับสนุนการวิจัย เป็นต้น

การบรรยายดังกล่าวเกิดจากการประสานงานของ กองแปซิฟิกใต้ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งในขณะนั้น นางภัทราวรรณ เวชชศาสตร์ ผู้อำนวยการกองแปซิฟิกใต้ในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นรองอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้) ซึ่งดูแลออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ท่านได้เยี่ยมคนไทยที่ทำงานอยู่ที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

“ท่านบอกว่าตอนนี้เมืองไทยต้องการการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อให้สอดรับกับนโนบายของรัฐบาลในการเพิ่มเงินทุนวิจัยให้เป็นี 1% หรือ 2% แต่เรายังขาดนักวิจัย ในส่วนที่ท่านรับผิดชอบเลยอยากให้ทางออสเตรเลียมาช่วยเมืองไทยบ้าง เพราะปีที่ผ่านมาเป็นปีครบรอบความสัมพันธ์ 60 ปี ไทย-ออสเตรเลียด้วย ท่านจึงส่งเสริมตรงนี้”

ทั้งนี้ เขาได้รวมกลุ่มกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการทางจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในไทย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยนเรศวร ตั้งเครือข่ายวิจัยเทคโนโลยีการทางนานาชาติ (International Pavement Technology Research Network) เพื่อวิจัยเทคโนโลยีการทางในประเทศไทย

หากแต่หลังจากการบรรยายดังกล่าว มีเพียง ศ.ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่เข้าใจแนวคิดของเขา และเห็นว่าเครือข่ายของเขานั้นอยู่ในจุดที่ สกว.จะให้การสนับสนุนเป็นเครือข่ายวิจัยนานาชาติ (International Research Network:IRN) ได้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง แต่ทางกลุ่มยังขยับอะไรไม่ได้มากนัก เพราะทุนวิจัยยังจำกัดเพียงแค่ทุนปริญญาเอกของ คปก.

“แต่จะให้ผู้มีอำนาจด้านการทางมาสนใจงานวิจัยด้านนี้ ต้องให้เวลาเขาหน่อย กว่าจะให้เขาเห็นว่างานวิจัยนั้นมีความสำคัญต่องานของเขาโดยตรง” เขากล่าวในแง่บวก

เรื่องการทำวิจัยนั้น ดร.พีรพงศ์ เริ่มทำวิจัยอย่างจริงในช่วงปริญญาเอก โดยในช่วงเรียนปริญญาตรีและโทนั้นเขาศึกษาด้านวิศวกรรมปฐพี จนกระทั่งได้ทำวิจัยในเรื่องเทคโนโลยีการทางในระดับปริญญาเอกที่ออสเตรเลีย หลังจากนั้นก็ทำวิจัยเรื่องนี้มาตลอด

“ตอนอยู่เมืองไทยไม่ค่อยได้ทำวิจัย แต่พอไปเรียนปริญญาเอกต้องทำวิจัย ซึ่งต้องปรับตัวพอสมควรในเรื่องมุมมอง เพราะการทำวิจัยคือการตั้งโจทย์คำถาม จับประเด็นใหม่ๆ หาวิธีหาคำตอบ แต่บ้านเราไม่ได้สอนแบบนั้น สิ่งที่บ้านเราสอนส่วนใหญ่เป็นเรื่องกระบวนการจำ ผมว่านักวิจัยบ้านเราส่วนใหญ่ตั้งโจทย์ไม่ค่อยคมเท่าไหร่ สักแต่ได้ทำ แต่ทำแล้วเอาไปใช้อะไร ก็ตอบไม่ได้” ดร.พีรพงศ์ กล่าวอย่างตรงไปตรงมา
 เมื่อเอาหลักวิชาการมาพิจารณา ถนนเมืองไทยด้อยมาตรฐานเพราะสร้างบนพื้นฐานเทคโนโลยีเก่าที่ต้นฉบับย่างอเมริกาเลิกใช้ไปนานแล้ว
แม้ว่าจะมีโอกาสทำงานในเมืองเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ ดร.พีรพงศ์ ก็เห็นว่ารูปแบบการทำงานระหว่างไทยและออสเตรเลีย มีความแตกต่างกันจริงๆ โดยที่ออสเตรเลีย อาจารย์คืออาจารย์ มีหน้าที่แค่สอนกับวิจัยเป็นหลัก และหน้าที่หลักของอาจารย์คือหานักศึกษาปริญญาเอกมาทำวิจัย และหาทุนสนับสนุนจากภายนอก

“ปัญหาของบ้านเราคือบรรยากาศไม่พร้อมให้ทำวิจัย พอเริ่มคิดก็ติดอุปสรรค ไม่เหมือนเมืองนอก จบมาคิดทำ วิทยานิพนธ์หลังปริญญาเอก ก็ทำได้เลย คิดงานอย่างเดียว แต่อยู่เมืองไทยไม่ได้ อาจารย์ต้องทำงานเอกสาร ทำงานแอดมิน เลยลำบาก มีหลายคนมากที่จบดอกเตอร์มาแล้วไม่มีโอกาส เขาก็ยอมแพ้ไปเลย ไม่ทำแล้ว”

ดร.พีรพงศ์ เล่าถึงบรรยากาศการวิจัยในออสเตรเลียที่ค่อนข้างพร้อมกว่าเมืองไทยว่า ทุกอย่างจะผุดขึ้นมาระหว่างการทำวิจัย และอาจารย์ไม่ต้องห่วงเรื่องปากเรื่องท้องแล้ว พอมีโจทย์ขึ้นมาก็ต้องสร้างบรรยากาศการวิจัย นั่งคุยกัน เอาผลมาถกกัน ซึ่งทำอยู่ที่ออสเตรเลียแล้วสนุก เมื่อคิดอะไรออก ก็ลองไปทดลองในห้องปฏิบัติการ มีห้องปฏิบัติการพร้อม แต่เมืองไทยต้องคอยหางบประมาณและทุกอย่างก็ดูติดขัดไปหมด

“ที่โน่นอาจารย์ทุกคนตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าต้องทำวิจัย แต่อาจารย์ที่นี่ 10 คน มีสัก 1 คนที่ตั้งใจทำงานวิจัย ไม่รู้สาขาอื่นนะ ยกตัวอย่างสาขาวิศวกรรมศาสตร์ที่จบมาแล้วไปเป็นที่ปรึกษาให้แก่บริษัทเอกชน อาทิตย์หนึ่งเข้าครั้งหนึ่ง ก็ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 2-3 แสน แล้วใครล่ะจะทำวิจัย มาทางนี้ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ แต่เขาหารู้ไม่ว่า เขากำลังทำลายวิชาชีพอยู่ เพราะเราเรียนมาเพื่อสร้างองค์ความรู้ ไม่ได้เรียนมาเพื่อให้คำปรึกษาบริษัทเอกชน”

ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยเขาต้องการนักศึกษาปริญญาเอกเท่านั้นมาทำวิจัย เพราะ นักศึกษาระดับปริญญาตรียังทำไม่ได้ และงานวิจัยจะถูกขับเคลื่อนด้วนักศึกษาปริญญาเอก ลำพังอาจารย์ทำไม่ได้ แต่เขายอมรับว่าอยู่ที่ออสเตรเลียก็เครียดพอสมควรในการหาทุน การขายแนวคิดทางวิชาการให้เอกชนสนับสนุน ส่วนทุนรัฐบาลมีแค่ช่องทางเดียวคือ สภาวิจัยวิทยาศาสตร์ (National Research Council)

ต่างจากเมืองไทยที่มีหลายหน่วยงานให้ทุน การขอทุนวิจัยจากรัฐบาลออสเตรเลียจึงต้องแข่งขันกันสูง ส่วนภาคอุตสาหกรรมบางครั้งก็ให้ทุนเยอะ และมีการตกลงฯว่าผลงานจะเป็นของใคร หากเป็นความลับจริงๆ ทางมหาวิทยาลัยก็ยกให้ หรือถ้าตกลงกันได้ก็เป็นสิทธิร่วมกัน

“อยู่โน่นมีความสุขกว่าในแง่การทำงาน คือ เราไม่ต้องยุ่ง อยู่ที่โน่นถ้าเรามีประสิทธิภาพเราก็จะอยู่ได้ มีผลงานตีพิมพ์ มีงานวิจัย ใครก็ทำอะไรเราไม่ได้ แต่อยู่เมืองไทย มันไม่แน่ มันมีหลายปัจจัย แต่มาถึงจุดหนึ่ง ผมมานั่งคิดว่า ผมมีผลงานวิชาการ ท้ายสุดก็ได้เลื่อนขั้น เป็น ศ.อะไรอย่างนี้ มันเป็นการทำเพื่อตัวเอง อย่างน้อยก็ได้สร้างองค์ความรู้ขึ้นมา ใช้ไม่ใช้ก็อีกเรื่องหนึ่ง”

อย่างไรก็ดี เขาถือว่าทาง สกว.ได้เปิดโอกาสให้ได้กลับมาตอบแทนประเทศไทยบ้าง ในฐานะที่พอจะทำได้ แต่อนาคตเขาคิดว่ายังอยากจะกลับมาทำงานเมืองไทย ถ้ามีการขับเคลื่อนอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม มีการอนุมัติทำอะไรได้มากกว่านี้ หรือไม่ก็อยู่ออสเตรเลียต่อไป แล้วเขากลับมาช่วยประเทศอย่างที่กำลังทำอยู่

“เหลือเวลาอีกไม่กี่สิบปี ก็มานั่งคิดว่าจะทำเพื่อตัวเองหรือทำเพื่อเมืองไทย” ดร.พีรพงศ์ กล่าวถึงเส้นชีวิตที่อยู่ระหว่างตัดสินใจ







กำลังโหลดความคิดเห็น