เข้าสู่เดือน เม.ย.คนไทยได้เผชิญความร้อนกันอย่างเต็มที่ตามฤดูกาลที่แปรเปลี่ยนกันอย่างเต็มที่ ผนวกเข้ากับปรากฏการณ์เรือนกระจกที่ขับเคลื่อนภาวะโลกร้อนให้สาหัสยิ่งขึ้น หลายคนหนีร้อนไปพึ่งการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ต่างคนต่างพ่นความร้อนใส่กัน ความร้อนจึงยิ่งสะสมมากขึ้น แต่ยังมีวิธีอื่นที่เราจะไล่ความร้อนไปให้ไกลตัว (ได้บ้าง)
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ขอวิธีไล่ความร้อนโดยไม่พึ่งเครื่องปรับอากาศจาก ผศ.สุพจน์ ศรีนิล ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในเรื่องบ้านคลายร้อน ซึ่งกล่าวถึงความร้อนที่เราเผชิญว่ามี 2 ปัจจัยหลักๆ คือ สภาพอากาศภายนอก และการรับความร้อนจากแสงแดดของอาคารที่พัก
ในส่วนของสภาพอากาศภายนอกที่ร้อนจัดเราคงจัดการไม่ได้ แต่เราสามารถรับมือกับความร้อนที่สะสมภายในอาคารได้ โดย ผศ.สุพจน์ อธิบายว่าอาคารด้านที่รับแดดมากๆ จะทำให้ผิวอาคารรับความร้อนมาก และถ่ายเทมายังผนังอีกด้าน ทำให้อากาศภายในอาคารมีอุณหภูมิสูง แต่ในที่มีลมผ่านได้ดี มีลมไหลหรือมีลมพัดจะทำให้เรารู้สึกลดความร้อนลงได้ เพราะเหงื่อได้ระเหยออกไป พาความร้อนออกจากร่างกาย ทำให้รู้สึกเย็นขึ้น
วิธีการคลายความร้อนให้แก่อาคารโดยเฉพาะอาคารทางด้านตะวันตกจะมีแดดมาปะทะมาก จึงต้องหาวิธีกันไม่ให้แดดตกกระทบ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านบ้านคลายร้อนบอกว่ามีทางแก้หลายวิธี โดยวิธีธรรมชาติคือการปลูกต้นไม้ที่มีใบหน้าปกคลุม แต่วิธีนี้ต้องใช้เวลาเพื่อให้ต้นไม้โตพอที่จะบังแดดได้ และควรจะปลูกไม้ที่โตเป็นพุ่ม โดยด้านล่างตัดแต่งกิ่งให้โล่งเพื่อให้ลมไหลผ่านได้ ส่วนไม้ใบทำหน้าที่เป็นร่มเงา
อีกวิธีคือการสร้างชายคา หรือทำไม้ระแนงกั้นห่างออกจากตัวบ้านเพื่อให้แดดไปปะทะที่ไม่ระแนงแทนปะทะที่ผนังบ้านโดยตรง เพื่อป้องกันไม่ให้แสงแดดที่ร้อนแรงกระทบตัวบ้าน
ส่วนภายในอาคารควรสร้างผนังที่หนาขึ้น หรือสร้างผนังที่มีช่องว่างตรงกลาง หรือผนัง 2 ชั้น เพื่อลดการถ่ายเทความร้อนจากภายนอกสู่ภายในอาคาร แต่กรณีที่ไม่ได้วางแผนในการสร้างอาคารเพื่อลดความร้อน การก่อผนังเพิ่มนั้นโครงสร้างอาคารอาจไม่รองรับและผนังจะร้าวได้ แต่ก็อาจสร้างผนังเบาเพิ่มเติมได้ เพื่อทำให้ความร้อนผ่านไปถึงผิวในอาคารได้น้อยลง
สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ ผศ.สุพจน์ แนะว่าจะช่วยลดความร้อนภายในบ้านหรือภายในอาคารได้ คือการเปิดช่องให้เกิดการไหลของลมผ่านเข้าไปในบ้านได้ โดยในช่วงฤดูร้อนนั้นลมมีทิศทางหลักทางตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมที่เรานำมาใช้ประโยชน์ในการลดความร้อนภายในอาคารได้ จึงควรเปิดช่องรับลมจากทิศใต้หรือตะวันตกเฉียงใต้
นอกจากนี้ทิศทางลมยังขึ้นอยู่กับภูมิประเทศ หากบ้านหรืออาคารที่พักของเราอยู่ติดกับอาคารสูง ซึ่งอาจจะอยู่ห่างไปเพียง 3-4 เมตร ช่องแคบระหว่างตึกหรืออาคารนี้จะทำให้ลมไหลเร็วขึ้น ซึ่งเราสามารถใช้ประโยชน์จากลมดังกล่าวโดยทำให้เกิดช่องลมหรือสร้างหน้าต่างที่สามารถดักทิศทางลมให้เข้าในตัวอาคาร แต่ต้องมีทางออกอีกด้านให้ลมที่พัดมาด้วย เพราะหากไม่เปิดทางออกแล้ว ผศ.สุพจน์ กล่าวลมจะผ่านเข้ามาได้น้อย และหากสร้างหน้าต่างแบบบานเลื่อนก็ไม่สามารถดักลมได้
การจัดการความร้อนจากด้านบนอาคารก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยคลายร้อนในที่พักอาศัยได้อีกทางหนึ่ง โดย ผศ.สุพจน์ แนะว่าหลังคาไม่ควรใช้สีเข้มหรือทึบ เพราะจะดูดความร้อน ควรใช้หลังคาเป็นสีอ่อน เช่น สีเงิน หรือ ขาว เพื่อสะท้อนความร้อนออกไป กระเบื้องมุงหลังคาก็ควรเลือกที่เป็นฉนวนกันร้อน และใช้ฝ้าที่เป็นฉนวนกันร้อน แต่นอกจากกันความร้อนแล้ว ยังควรให้มีการระบายอากาศใต้หลังคา เพื่อช่วยลดความร้อนที่แผ่ลงมาด้วย
หากเป็นไปได้ควรเปิดหน้าต่างบ้านหรืออาคารเพื่อให้เกิดการไหลเวียนของอากาศ แต่ต้องติดเหล็กดัดที่ช่วยป้องกันขโมยได้ ซึ่ง ผศ.สุพจน์กล่าวว่า ปัจจุบันนิยมเหล็กเส้น 12 มิลลิเมตร ติดเป็นแนวนอนเพื่อไม่ขวางสายตาและไม่เกะกะ และเลือกหน้าต่างที่ดักลมได้ แต่ต้องยอมรับด้วยว่าเมื่อเปิดหน้าต่างรับลมแล้วก็มีโอกาสรับฝนเข้ามาด้วย บริเวณหน้าต่างที่เปิดรับลมจึงไม่ควรมีเครื่องใช้ไฟฟ้า และควรมีผ้าคลุมหรือผ้าพลาสติกไว้รองรับกรณีฝนตกด้วย
“ทิศทางการเปิดพัดลมก็สำคัญ ทิศไหนลมเข้าก็ไม่ควรหันพัดลมไปทิศนั้น แต่ให้หันพัดลมไปทางลมออก เพราะหากเปิดสวนทิศทางลมก็ได้ประโยชน์น้อย จัดโต๊ะ จัดเก้าอี้ ให้อยู่ในทิศทางการไหลของลม แม้ว่าเราจะรู้สึกเป็นรูปธรรมไม่มาก เหมือนเปิดเครื่องปรับอากาศ แต่ก็บรรเทาความร้อนลงไปได้” ผศ.สุพจน์กล่าว
ผศ.สุพจน์ ยังได้แนะวิธีคลายความร้อนในรถยนต์ ซึ่งหลายคนคงทราบดีว่าเมื่อจอดรถไว้กลางแจ้งนานๆ นั้นจะร้อนมากเพียงใด ซึ่งวิธีง่ายๆ คือการเปิดหน้าต่างรถยนต์ให้อากาศถ่ายเท หากขับรถในซอยหรือถนนที่ไม่มีมลพิษมากก็ควรเปิดกระจกระหว่างขับรถเป็นช่วงสั้นๆ ไปพร้อมกับการเปิดเครื่องปรับอากาศของรถยนต์เพื่อไล่อากาศร้อนออก อีกวิธีง่ายๆ คือเติมน้ำฉีดกระจกให้เต็ม เมื่อขับรถหลังจอดไว้ตากแดดก็ให้เปิดน้ำฉีดกระจก ซึ่งหน้าปัดรถยนต์จะปัดอัตโนมัติ เป็นอีกวิธีในการไล่ความร้อนที่ผิวหน้าของกระจกรถยนต์ได้ การติดฟิล์มรถยนต์หรือใช้แผ่นบังแดดทั้งด้านหน้าและด้านหลังรถยนต์ก็ช่วยได้มาก
พร้อมกันนี้ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ยังได้ขอความเห็นจาก รศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง ผู้เชี่ยวชาญด้านโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ถึงเรื่องความร้อนในเมืองที่มีสภาพเป็นโดมความร้อนหรือเกาะความร้อน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเรื่องโลกร้อนให้ความเห็นว่า การมีสภาพพื้นผิวของเมืองเป็นคอนกรีต ทำให้มีการดูดซับความร้อนและคลายความร้อนเร็ว
“ดังนั้น ถ้ามีป่าคอนกรีตและไม่มีการระบายลมของเมืองที่ดี ความร้อนก็จะถูกกักอยู่ในเมืองนานขึ้นหรือการที่เราระบายความร้อนจากการใช้แอร์ก็เป็นการเพิ่มความร้อนให้บริเวณนั้นๆ เหมือนกัน” รศ.ดร.อำนาจ กล่าว และแนะว่า เราลดความร้อนให้แก่เมืองได้หลายทาง เช่น เพิ่มพื้นที่สีเขียว รักษาต้นไม้ใหญ่ ออกแบบอาคารต่างๆ ให้เป็นฉนวนความร้อน ออกแบบผังเมืองให้มีที่โล่งเพื่อระบายและเพิ่มการไหลเวียนอากาศ เป็นต้น