xs
xsm
sm
md
lg

ฟังวิสัยทัศน์ “ดร.นเรศ ดำรงชัย” ผอ.ใหม่ TCELS

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.นเรศ ดำรงชัย
เปิดวิสัยทัศน์ “ดร.นเรศ ดำรงชัย” ผอ.คนใหม่ของ TCELS ย้ำบทบาทผู้สร้างนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ตั้งแต่ต้นน้ำจนออกสู่ตลาด พร้อมเผย 3 โครงการใหม่ดันให้เป็นจริง โครงการหุ่นยนต์การแพทย์ที่คาดได้ต้นแบบในอีก 1-2 ปี โครงการบำบัดด้วยเซลล์และยีน และโครงการอุปกรณ์การแพทย์

ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการคนใหม่ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) เผยวิสัยทัศน์ในการบริหารองค์กรแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า โดยบทบาทของ TCELS นั้นจะส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมทางด้านชีววิทยาศาสตร์ออกสู่ตลาด โดยจะสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำ คือ ตั้งแต่อยู่ในการขั้นวิจัย จนถึงการพัฒนาเป็นนวัตกรรม โดยกำลังของบบริหารจากรัฐบาล 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ มี 3 โครงการที่ทาง TCELS กำลังเริ่มต้นและผลักดัน ได้แก่ โครงการพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูงและเทคโนโลยีชีววิศวกรรมศาสตร์ ซึ่ง ดร.นเรศ กล่าวว่าโครงการนี้จะเป็นเส้นทางอาชีพแก่เยาวชนไทยที่มีความสามารถด้านหุ่นยนต์ ซึ่งที่ผ่านมาหลังการแข่งขันและได้รางวัลระดับนานาชาติแล้วเยาวชนเหล่านั้นก็มีเส้นทางอาชีพไม่มาก และไม่ได้ต่อยอดความสามารถ

“โครงการพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์นี้ศูนย์ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นการพัฒนาหุ่นยนต์ผสมยา หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งทำได้ไม่ยาก และคาดว่าจะได้ต้นแบบออกมาใน 1-2 ปี โดยเหตุที่สนใจเรื่องหุ่นยนต์เพราะมีมูลค่าสูง และหมอไทย ซึ่งการสร้างหุ่ยนต์การแพทย์ต้องอาศัยหมอเก่งๆ มาช่วยพัฒนาด้วย” ดร.นเรศกล่าว

โครงการถัดมาคือโครงการวิจัยการบำบัดรักษาด้วยเซลล์และยีน ซึ่ง ดร.นเรศ กล่าวว่าในอดีตคิดว่าเป็นเรื่องอีกยาวไกล แต่ตอนนี้เริ่มใกล้สู่การใช้งานจริงแล้ว ซึ่งทางศูนย์กำลังสร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานรัฐ และมีความร่วมมือกับสมาคมเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งมีองค์ความรู้และเครือข่ายที่รู้ว่าอะไรทำได้และทำไม่ได้ โดยโรคที่มีความเป็นไปได้ในการรักษาด้วยวิธีนี้คือโรคเลือด เช่น ทาลัสซีเมีย และพัฒนาจะไปสู่การรักษากระจกตา และสมองต่อไป

โครงการสุดท้ายที่กำลังผลักดันคือการพัฒนาเครื่องมือการแพทย์ ซึ่งมีทั้งเครื่องมือที่ฝังในร่างกาย เช่น รากฟันเทียม หมุดยึดกระดูก เป็นต้น และเครื่องมือที่ไม่ได้ใส่ในร่างกาย เช่น ถุงมือแพทย์ ถุงยางอนามัย เป็นต้น ซึ่งผู้บริหาร TCELS กล่าวว่า หากเสริมด้วยโครงการหุ่นยนต์ทางการแพทย์จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่เครื่องมือแพทย์ โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ตอนนี้มีปัญหาไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งต้องพัฒนาเรื่องการรับรองมาตรฐานต่อไป







กำลังโหลดความคิดเห็น