xs
xsm
sm
md
lg

งานวิจัยชี้ “ขุดน้ำมัน” ทำแผ่นดินไหวที่สหรัฐฯ 2 ปีก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


งานวิจัยชี้แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในโอกลาโฮมา เกิดจากกระบวนการขุดเจาะน้ำมัน ที่ต้องฉีดน้ำลงใต้ดิน จนเกิดแรงสั่นสะเทือน 5.6 ริกเตอร์ ทำลายบ้านเรือนและทางพิเศษ

ย้อนกลับไปเมื่อ 6 พ.ย. 2011 เกิดแผ่นดินไหวต่อเนื่อง 5.6 ริกเตอร์ ถล่มเขตชนบทของเมืองปราก (Prague) ในโอกลาโฮมาซิตี สหรัฐฯ ซึ่งไลฟ์ไซน์ระบุว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นได้สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือน และทางพิเศษของรัฐ อีกทั้งคาดว่าแรงสั่นสะเทือนจะรับรู้ได้ไกลถึงอีกรัฐ

ล่าสุดงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารจีโอโลจี (Geology) ฉบับเมื่อ 26 มี.ค.ที่ผ่านมาชี้ว่า แผ่นดินไหวดังกล่าวเป็นผลจากการฉีดน้ำเสียกลับลงใต้ดินหลังการขุดเจาะน้ำมัน และเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยน้ำครั้งใหญ่ที่สุด

น้ำเสียดังกล่าวเกิดจากขุดเจาะแบบดั้งเดิม ไม่ใช่การขุดเจาะแบบไฮดรอลิกแฟรคเจอริง (hydraulic fracturing method) หรือ แฟรคกิง (fracking) ที่ฉีดอัดน้ำที่มีสิ่งเจือปนไปยังหินโดยตรงด้วยแรงดันสูงเพื่อให้ก๊าซหรือน้ำมันพุ่งออกมา

เคธี เคราเนน (Katie Keranen) นักแผ่นดินไหวจากมหาวิทยาลัยโอกาโฮมา (Oklahoma University) ผู้ร่วมวิจัยกล่าวว่า ปกติเราไม่รับรู้ถึงแผ่นดินไหวจากกรณีแบบนี้ จึงเป็นเรื่องน่าตกใจ

เมื่อช่วงทศวรรษ 1960 ที่ีการฉีดน้ำเหลือทิ้งลงไปใต้ดินก็เชื่อมโยงได้กับการเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กอย่างต่อเนื่องรอบๆ เมืองเดนเวอร์ โคโรลาโด ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็ได้ทราบตั้งแต่นั้นว่าการขุดเจาะน้ำมันนั้นกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวได้ แต่ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นนั้นไม่อันตราย แต่รุแรงในระดับ 3-4 ริกเตอร์เท่านั้น

เมื่อสกัดน้ำมันขึ้นมาจะมีน้ำเสียปริมาณมากออกมาด้วย ดังนั้น บริษัทน้ำมันจึงสูบน้ำกลับลงไปยังหลุมขุดเจาะเหล่านั้นเพิ่มอุดรูพรุนภายในหินต่างๆ ซึ่งเคราเนนอธิบายแก่ไลฟ์ไซน์ว่า น้ำเสียเหล่านั้นแทบจะเป็นสารหล่อลื่นที่ทำให้รอยเลื่อนแยกจากกัน เมื่อลดความเครียดที่ยึดรอยเลื่อนไว้ด้วยกันลง ก็จะทำให้รอยเลื่อนนั้นเลื่อนออกจากกันได้

ในทางทฤษฎีแล้วแผ่นดินไหวที่เกิดจากฝีมือมนุษย์นี้ทำให้เกิดหายนะใหญ่หลวงได้ ถ้าแผ่นดินไหวนั้นเกิดใกล้ศูนยกลางชุมชน แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เรายังไม่ทราบว่าแผ่นดินไหวที่ถูกกระตุ้นจากการกำจัดของเหลือทิ้งนี้รุนแรงได้มากสุดเท่าใด

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวแบบนี้นั้นขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างแรงดันและมุมที่รอยเลื่อนกระทำต่อกันกับบริเวณที่ฉีดน้ำเข้าไป เนื่องจากการสั่นสะเทือนขึ้นอยู่กับสภาพให้ซึมผ่านได้ (permeability) ของหิน หากน้ำซึมผ่านหินได้ยากก็หมายความว่า หินมีสภาพให้ซึมผ่านได้น้อย ทำให้เกิดแรงดันและเกิดแผ่นดินไหวได้ง่าย
ภาพแสดงความรุนแรงของแผ่นดินไหวเมื่อ 6 พ.ย2011 ที่โอกลาโฮมา เนื่องจากการขุดเจาะน้ำมัน






กำลังโหลดความคิดเห็น