รอยเตอร์ - ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของโอบามา ชี้เทคโนโลยีใหม่ซึ่งทำให้สหรัฐฯ สามารถผลิตน้ำมันและก๊าซเพิ่มมากขึ้น กระทั่งกลายเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า กำลังทำให้บทบาทและอำนาจของอเมริกาในกิจการโลกหนักแน่นขึ้น อีกทั้งส่งผลลึกซึ้งต่อนโยบายด้านการต่างประเทศและความมั่นคงของแดนอินทรี
ในการแสดงปาฐกถาที่ “ศูนย์นโยบายพลังงานโลก” ซึ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นครนิวยอร์ก เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (24) ซึ่งเป็นปาฐกถาสำคัญครั้งแรกของเขาเกี่ยวกับนโยบายพลังงาน ทอม โดนิลอน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวว่า การผลิตน้ำมันและก๊าซที่ขยายตัวเกินคาด ช่วยส่งเสริมการสร้างงาน และทำให้เศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น และสหรัฐฯ มีอำนาจมากขึ้นในการเจรจากับชาติอื่นๆ
เขาชี้ว่า จากการใช้เทคโนโลยีขุดเจาะแบบใหม่ ด้วยการอัดน้ำที่มีแรงดันสูง (hydraulic fracturing หรือ fracking) ทำให้สามารถสกัดน้ำมันและก๊าซจากหินน้ำมัน (shale rock) และจะส่งให้อเมริกาแซงหน้าซาอุดีอาระเบียขึ้นเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 1 ของโลกในปี 2017
โดนิลอนซึ่งบอกว่า เวลานี้ตนต้องเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาด้านนโยบายพลังงานแทบจะทุกวัน กล่าวต่อไปว่า หลังจากเชื่อกันมาตลอด 40 ปีว่า ซัปพลายพลังงานของสหรัฐฯ กำลังลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้อเมริกาต้องพึ่งพิงน้ำมันต่างชาติมากขึ้นๆ แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้กำลังเปลี่ยนไปแล้ว
การผลิตน้ำมันและก๊าซได้เพิ่มขึ้นเช่นนี้ มีส่วนช่วยในเรื่องที่อเมริกากำลังเป็นผู้นำในการผลักดันการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านจากกรณีโครงการนิวเคลียร์ และมาตรการคว่ำบาตรอย่างเข้มงวดเช่นนี้เองส่งผลให้เตหะรานส่งออกน้ำมันได้ลดลง กระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจของประเทศนั้น ทว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่ได้พุ่งทะยานแต่อย่างใด
กระนั้น โดนิลอนยืนยันว่า แม้พึ่งพิงน้ำมันจากตะวันออกกลางน้อยลง แต่อเมริกาจะยังคงร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคดังกล่าวต่อไป
วอชิงตันยังหวังรับบทบาทสำคัญทางการทูตเพื่อช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกระหว่างจีนกับชาติเพื่อนบ้านที่มีขนาดเล็กกว่า ซึ่งมีปัจจัยผลักดันคือแนวโน้มแหล่งน้ำมันนอกชายฝั่ง โดยโดนิลอนชี้ว่า คณะรัฐบาลโอบามาต่อต้านอย่างหนักแน่นจริงๆ ในเรื่องการใช้กำลังมาสนับสนุนการอ้างสิทธิอธิปไตย
อย่างไรก็ดี ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาวไม่ได้เปิดเผยว่า รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรกับการตัดสินใจด้านนโยบายพลังงานที่ยังคงคั่งค้างอยู่
ทั้งนี้ พันธมิตรในเอเชียและยุโรปต่างต้องการให้อเมริกาเพิ่มการส่งออกก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดต้นทุนก๊าซนำเข้าของพวกตนลง
แม้ยอมรับว่า การส่งออกก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ อาจสามารถลดทอนบทบาทของบางประเทศ เช่น รัสเซียที่เวลานี้มีอิทธิพลครอบงำตลาดก๊าซโลก แต่โดนิลอนไม่ได้เปิดเผยว่า วอชิงตันจะอนุญาตให้ส่งออกเชื้อเพลิงไปยังประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นหรือไม่
ปัจจุบัน กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบคำร้องจากบริษัทต่างๆ ที่ต้องการส่งออกก๊าซธรรมชาติ ขณะที่ผู้ผลิตภายในประเทศล็อบบี้อย่างหนักเนื่องจากกลัวว่า การส่งออกก๊าซจะทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของตนก็จะต้องขยับขึ้นเช่นกันในท้ายที่สุด
นอกจากนี้ โดนิลอนยังไม่พาดพิงถึงโครงการสร้างสายท่อส่งน้ำมันคีย์สโตน เอ็กซ์แอล ที่จะลำเลียงน้ำมันดิบจากแคนาดาไปยังโรงกลั่นในมลรัฐนอร์ทดาโคตา ของสหรัฐฯ
โครงการนี้ซึ่งต้องได้รับอนุมัติจากโอบามา อยู่ในภาวะหยุดชะงักมาหลายปีแล้ว กลุ่มพิทักษณ์สิ่งแวดล้อมนั้นต้องการให้ยกเลิกเด็ดขาดไปเลย โดยอ้างว่า การผลิตและการจัดส่งน้ำมันชนิดนี้ของแคนาดาจะกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ทางด้านเจสัน บอร์ดอฟฟ์ ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพลังงานแห่งใหม่ของโคลัมเบีย ชี้ว่า วิวาทะเกี่ยวกับการส่งออกน้ำมันและโครงการท่อส่งน้ำมัน เป็นตัวอย่างที่สะท้อนว่า อเมริกากำลังสาละวนกับโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบที่ร่างขึ้นมาตั้งแต่ในช่วงเวลาที่ประเทศขาดแคลนน้ำมันและต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมัน
บอร์ดอฟฟ์ ที่ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพลังงานระดับสูงของทำเนียบขาวมาจนถึงเดือนมกราคม ทิ้งท้ายว่า พลังงานโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นำไปสู่คำถามเร่งด่วนเกี่ยวกับนโยบายมากมายที่ไม่มีใครเคยนึกถึงมาก่อน
ทั้งนี้ ศูนย์นโยบายพลังงานของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียแห่งนี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะอุดช่องโหว่ทางด้านนโยบายเหล่านี้ ด้วยการวิเคราะห์วิจัยอย่างเป็นอิสระในประเด็นปัญหาต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกับภาวะที่สหรัฐฯกลับมีพลังงานเหลือล้น ตลอดจนเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก