เหตุเพราะการทำปูนิ่มในระบบเปิดแบบเดิมๆ ต้องใช้ต้นทุนทางธรรมชาติสูง ใช้สารเคมีเยอะ ทำให้สิ่งแวดล้อมและทะเลได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารเคมี อดีตที่ปรึกษาโครงการ สกว.จึงหันมามาทดลองเลี้ยงปูนิ่มระบบปิดในรูปคอนโด เพื่อประหยัดพื้นที่และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ดร.บรรจง เทียนส่งรัศมี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยซีแครบ จำกัด ให้ข้อมูลว่ามีการผลิตปูดำนิ่มเชิงพาณิชย์ในไทยมาตั้งแต่ปี 2540 แต่การผลิตยังเหมือนคือผลิตในคลองหรือบ่อกุ้งร้าง ซึ่งทำให้เสี่ยงการปนเปื้อนสารเคมีมาก เพราะก่อนการเลี้ยงกุ้งจะมีการใช้สารเคมีปริมาณมาก
“การเลี้ยงด้วยระบบเปิดแบบเดิมๆ นั้นใช้นต้นทุนสิ่งแวดล้อมสูงมาก เพราะเลี้ยงในบ่อกุ้งร้าง ซึ่งผ่านการใช้สารเคมีปริมาณมาก เสี่ยงปนเปื้อนสารพิษและมลภาวะไหลลงทะเล”
ในฐานะที่เคยเป็นที่ปรึกษาโครงการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อดีตอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงนำระบบเลี้ยงปูนิ่มแบบปิดมาใช้ในฟาร์มที่ จ.สตูล โดยได้เริ่มทำปูมัานิ่มในระบบอินทรีย์แบบปิด โดยเลี้ยงในแนวราบ แต่ข้อเสียคือใช้พลังงานไฟฟ้ามาก เพราะต้องใช้เครื่องสูบ และใบพัดกังหันเพื่อหมุนเวียนน้ำ จึงเกิดแนวคิดเลี้ยงปูนิ่มแบบแนวดิ่ง โดยได้ความคิดจากรูปแบบของคอนโดมิเนียมในเมือง
โดยธรรมชาติปูจะลอกคราบเอากระดองเก่าออก แล้วกลายเป็นปูที่มีเปลือกนิ่มๆ หุ้มตัว ซึ่งในระยะนี้ปูตามธรรมชาติจะหลบซ่อนตัวเพื่อป้องกันสัตว์อื่น รวมทั้งปูด้วยกันเองมากิน โดยปัจจัยที่ทำให้ปูลอกคราบคือระบบน้ำทะเล ความเค็ม ปรากฎการณ์น้ำขึ้นน้ำลง และปรากฎการณ์ข้างขึ้นข้างแรม
ทั้งนี้ ปูตัวเมียที่ผสมพันธุ์แล้วจะไม่ลอกคราบ ซึ่งสามารถสังเกตได้ว่าปูตัวใดที่ผสมพันธุ์แล้วจากลักษณะกระดอง ดังนั้น ดร.จะคัดเลือกปูที่จะนำมาทำปูนิ่มจากชาวประมงด้วยตัวเอง โดยจะคัดเลือกเฉพาะตัวผู้และเป็นตัวที่ไม่โตมาก
เมื่อจับปูมาทำปูนิ่ม ดร.บรรจง จับปูใส่กล่องเช่นเดียวกับการเลี้ยงปูนิ่มทั่วไป แต่ออกแบบกล่องให้ล็อคได้ในตัว ซึ่งการเลี้ยงในกล่องยังป้องกันปูกินกันเองเพราะปูแต่ละตัวมีระยะเวลาลอกคราบต่างกัน แต่จะลอกคราบในช่วงเดือนหงายและเดือนมืด และปูยังมีสัญชาตญาณรู้ว่าช่วงใดน้ำขึ้นน้ำลง แม้ว่าจะถูกเลี้ยงไว้ในกล่อง
สำหรับปูม้าที่ลอกคราบจะใช้เวลา 2 ชั่วโมงก่อนที่ปูจะตัวแข็งเหมือนเดิม ส่วนปูดำจะใช้เวลา 6 ชั่วโมง ในฟาร์มเลี้ยงปูนิ่มจึงต้องอาศัยคนงานตรวจตรา่ามีปูตัวใดลอกคราบแล้ว จากนั้นจะนำปูเข้าเครื่องทำความเย็นที่ -4 องศาเซลเซียส เพื่อให้ปูสลบก่อนบรรจุเพื่อจำหน่ายต่อไป
การเลี้ยงปูนิ่มนั้นต้องเลี้ยงในระบบที่น้ำใส มีค่า DO สูงระหว่าง 3.5-8 ความเป็นกรดด่างระหว่าง 7-8 และมีไนเตรต ไนไตรต์ต่ำ ดร.จึงนำเทคโนโลยีผลิต “ไมโครบับเบิล” หรือการผลิตฟองอากาศขนาดเล็กที่มีประจุลบ มาช่วยกำจัดไนโตรเจนที่เป็นของเสีย โดยของเสียที่เป็นโปรตีนเหล่านั้นจะจับกับฟองอากาศและถูกปั๊มออกไป
ระบบเลี้ยงปูนิ่มแบบคอนโดนั้นจะเรียงกล่องใส่ปูทั้งหมด 3 ชั้น จากนั้นสูบน้ำขึ้นสู่กล่องเลี้ยงปูชั้นบนสุด แล้วปล่อยให้น้ำไหลผ่านแต่ละชั้นไปตามราง ซึ่งจะชะล้างเศษอาหารและของเสียลงสู่ด้านล่าง แล้วถูกบำบัดต่อด้วยไมโครบับเบิล
ทั้งนี้ ดร.บรรจง ใช้เวลา 2 ปีคิดระบบเลี้ยงปูนิ่มเช่นนี้ขึ้นมา จากนั้นได้ขอทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ในโครงการแปลงเทคโนโลยีเป็นทุน ด้วยจำนวนเงิน 405,000 บาท
การเลี้ยงปูม้าเพื่อทำปูนิ่มนั้นยุ่งยากและมีเงื่อนไขมากกว่าปูดำ และยังแพงกว่า ดร.บรรจงจึงทดลองเลี้ยงปูดำในระบบคอนโดก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าระบบได้ผลที่น่าพอใจ ก่อนใช้เลี้ยงปูม้า และยังมีแนวคิดที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ไปยังเกษตรกรที่เลี้ยงปูนิ่มโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จึงทดลองในระบบที่เลี้ยงปูนิ่มเพียง 350 ตัว เพื่อให้มีต้นทุนในระดับที่เกษตรกรรายย่อยรับได้