หลังจากที่ถูกล่าโดยไม่รับการควบคุม ในที่สุดข้อเสนอให้ปรับฉลามขาวเข้าสู่บัญชีไซเตส ก็ได้รับเสียงโหวตสนับสนุนจากผู้เข้าร่วมประชุมไซเตสที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การควบคุมการล่าและการค้า
หลังจากถกกันเป็นเวลาร่วม 2 ชั่วโมง ตัวแทนประเทศที่เข้าร่วมการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 16 หรือ ไซเตส (CITES CoP16) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้ร่วมลงมติสนับสนุนข้อเสนอจากบราซิล โคลอมเบีย และสหรัฐฯ ที่ขอให้ “ฉลามหูขาว” (oceanic whitetip shark) สายพันธุ์ คาร์ชาไรนัส ลองจิมานัส (Carcharhinus longimanus) จัดอยู่ในบัญชีแนบท้ายที่ 2 ได้รับคะแนนเสียงเกิน 2 ใน 3 ของผู้ลงคะแนนทั้งหมด
ประกาศจากแฟนเพจเฟซบุ๊กของไซเตส ระบุว่าการลงคะแนนต่อข้อเสนอดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 มี.ค.56 นี้ มีผู้เห็นด้วยต่อข้อเสนอดังกล่าว 92 เสียง ผู้ไม่เห็นด้วย 42 เสียง และ 8 เสียงของดออกเสียง ซึ่งการจัดฉลามขาวเข้ามาออยู่ในบัญชีแนบท้ายที่ 2 ของไซเตสนี้จะทำให้ทั้งการล่าและการค้าได้รับการควบคุมภายใต้ระเบียบของไซเตส
รายงานจากบีบีซีนิวส์อ้างผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ลงวารสารเจอร์นัลมารีนโพลิซี (Journal Marine Policy) โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสโตนีบรูค (Stony Brook University) สหรัฐฯ ว่ามีฉลามถูกล่าเฉลี่ยปีละ 100 ล้านตัว โดยประเมินว่าเมื่อปี 2010 มีฉลามถูกล่าระหว่าง 63-273 ล้านตัว
ทั้งนี้ ฉลามเป็นสัตว์ที่มีการเจริญพันธุ์ในช่วงปลายชีวิตและยังแพร่พันธุ์ในอัตราที่ต่ำ ทำให้เกิดความกังวลว่า หากไม่มีการควบคุมใดๆ สัตว์ที่เป็นนักล่าอันดับหนึ่งของท้องทะเลจะสูญพันธุ์ในที่สุด และจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลได้ในที่สุด