xs
xsm
sm
md
lg

ดร.ธรณ์ตั้งคำถาม “หูฉลาม” อาหารคนมีบุญ แต่ปล่อยปลาดิ้นตายก้นทะเล?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฉลามที่ถูกตัดครีบและตายอย่างทรมานอยู่ใต้ทะเล (ภาพโดย นัท สุมนเตมีย์))
ดร.ธรณ์ ร่วมเป็นเสียงเล็กๆ หยุดไทย-จีนที่คัดค้านข้อเสนอฉลามเป็นสัตว์อนุรักษ์ตามบัญชีไซเตส ชี้อดีตไทยมีฉลามมากมาย แต่คงไม่หวนมาเช่นเคย ทั้งยังตั้งถามเล็กๆ ต่อค่านิยมยกเมนู “หูฉลาม” เป็นอาหารคนมีบุญ แต่กลับปล่อยฉลามดิ้นตายอยู่ก้นทะเล

ในวันจันทร์ที่ 11 มี.ค.56 ระหว่างการประชุมสมัยสามัญภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 16 (CITES CoP16) ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีวาระของการพิจารณาข้อเสนอให้ฉลามสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ถูกบรรจุไว้ในบัญชีอนุรักษ์ ซึ่งทำให้ทั้งการล่า การนำเข้า และการส่งออกนั้นต้องดำเนินภายใต้กฎระเบียบที่เข้มงวด

หากแต่ จิรายุ เอกกูล จากองค์กร Change.org ระบุว่า จีนในฐานะผู้บริโภคหูฉลามอันดับหนึ่งของโลกและเป็นตลาดรองรับหูฉลามจากทั่วโลกตั้งท่าคัดค้านในเรื่องนี้ ส่วนไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมไซเตสครั้งนี้ก็มีท่าทีสนับสนุนจีน โดย ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง ระบุว่า ไทยในฐานะประเทศที่ทำประมงไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่ากฎข้อบังคับจะทำให้การประมงไทยยุ่งยาก

จึงเกิดการรณรงค์เพื่อร่วมรายชื่อให้ไทยหยุดท่าทีสนับสนุนจีนในการคัดค้านข้อเสนอบรรจุฉลามที่ใกล้สูญพันธุ์ลงบัญชีอนุรักษ์ โดยตัวแทนจาก change.org และกลุ่มอนุรักษ์ฉลาม Fin Free Thailand จะร่วมกับยื่นรายชื่อทั้งหมดให้แก่อธิบดีกรมประมงภายในงานประชุมไซเตส และแถลงข่าวกรณีดังกล่าว

(ร่วมลงชื่อ http://www.change.org/th/แคมเปญรณรงค์/supporting-sharks-and-manta-ray-proposal-in-cites-cop16#share)

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อในการรณรงค์ดังกล่าว และได้โพสต์แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กว่า ไม่ได้คาดหวังต่อการลงชื่อดังกล่าว เพราะหลายครั้งที่มีการลงชื่อรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นต้องใช้รถขนกระดาษขนลำเลียงแต่ก็ไม่เกิดผลใดๆ แต่ก็อยากจะทำ ไม่ใช่แค่ร้องไห้หรือรอความหวังใหม่

“...
เจอฉลามเป็นๆ ตัวแรกที่หัวหิน สมัยนั้นอายุน่าจะไม่เกิน 6-7 ขวบ ผมชอบตามผู้ใหญ่ไปตกปลาแถวเขาตะเกียบ มีฉลามหนูแอบอยู่ในโพรงหินริมหาดเยอะเชียว คุณลุงชาวประมงพาผมไปดู...

จำได้ว่าเห็นฉลามที่ติดตาติดใจครั้งไปเที่ยวใต้กับคุณพ่อ ตอนนั้นท่านไปดูงานที่สะพานปลาชุมพร ผมขี้เกียจฟังผู้ใหญ่ประชุมกัน จึงไปเดินเล่นบนท่าเรือ เจอฉลามตัวใหญ่หลายตัว แต่ละตัวทั้งยาวทั้งอ้วนกว่าผมทั้งนั้น เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าทะเลมันเจ๋งจริง ใต้น้ำต้องมีแต่เรื่องตื่นเต้นเต็มไปหมด...

เจอฉลามใต้น้ำเป็นครั้งแรกที่เกาะเต่า ตั้งแต่เริ่มดำน้ำสำรวจแนวปะการังในอ่าวไทย สมัยนั้นปะการังเขากวางเต็มอ่าว แค่ว่ายผ่านก็ประเมินปริมาณได้ว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องคิดมาก จึงมีเวลามองซ้ายมองขวา จากนั้นก็เห็นฉลามหูดำตัวยาวไม่เกิน 1 เมตร เป็นฉลามตัวแรกที่เห็นเต็มตา จึงว่ายตามถ่ายรูปด้วยกล้อง Nikonos IV-a จนหมดฟิล์มไปทั้งม้วน ได้ภาพมาหนึ่งภาพ นำไปฉายตอนเสนอเปเปอร์ที่ฟิลิปปินส์ คนตื่นเต้นกันใหญ่...

ความเศร้าครั้งนั้นเกิดที่เกาะ ตาชัย สมัยนั้นมีฉลามครีบเงิน 2-3 คู่ พวกนี้อยู่ประจำถิ่น พบแถวนั้นเกือบตลอดเวลา เรือเข้าเมื่อไหร่ ฉลามต้องว่ายมาดู แต่ครั้งหนึ่งที่ไป ไม่เจอฉลามว่ายน้ำ แต่เจอฉลามนอนหงาย เป็นฉลามที่ถูกตัดครีบไปแล้ว เพราะมีเรือเบ็ดเข้ามาก่อนหน้าพวกเราไปถึงเพียงไม่นาน ตกฉลามขึ้นไป เอามีดกรีดตัดครีบอกซ้ายขวา ก่อนถีบเธอลงมาให้นอนดิ้นเร่า ๆ อยู่บนก้นทะเลจนตาย ยังจำดวงตาของเธอได้จนถึงทุกวันนี้...

ครั้งที่เข้าไปสำรวจแหล่งดำน้ำในทะเลพม่า ลงน้ำครั้งแรกเกือบเผ่นกลับขึ้นเรือ เพราะเจอฉลามไม่รู้กี่ตัวต่อกี่ตัว ครั้งหนึ่งเคยลองนับ ทั้งไดฟ์เจอฉลามเกือบครึ่งร้อย หากใครไม่เชื่อ ลองถามนักดำน้ำรุ่นเข้าทะเลพม่าช่วงปี 38-40 จะทราบดีว่าใต้ทะเลที่สมบูรณ์จริงเป็นอย่างไร ไม่เหมือนทุกวันนี้ เข้าทั้งทริปเจอสักตัวสองตัวก็บุญโข...

ยังมีอื่นๆ อีกหลายสิบครั้งกับหลายสิบฉลาม ครั้งที่เจอฉลามเสือกับลูกศิษย์ที่ริเชลิว ครั้งที่มองหน้าฉลามขาวที่เซาท์แอฟริกา และฉลามอีกไม่รู้กี่ร้อยต่อกี่ร้อยที่เจอระหว่างดำน้ำทำ Thesis ที่ออสเตรเลีย...

จึงตั้งใจไว้ หากทำอะไรให้เธอได้...จะทำ

ตั้งแต่กรณีต่อต้านการแข่งขันการกินหูฉลามเพื่อล้างแค้นแทนมนุษย์ (โปรโมทภาพยนตร์ Deep Blue Sea สัก 15 ปีแล้วมั้ง) ตามด้วยกรณีหูฉลามของ Wild Aid (รณรงค์ต้านการกินหูฉลามโดยนำหูฉลามไปพิสูจน์ว่ามีสารตะกั่วเกินค่ามาตรฐาน) กรณีเสนอฉลามวาฬให้เป็นสัตว์คุ้มครองกับกลุ่มรักษ์ฉลามวาฬ (ปัจจุบันฉลามวาฬเป็นสัตว์ห้ามทำการประมงในน่านน้ำไทย) ฯลฯ

ทำมานาน เห็นผลแค่ไหน ?
ไม่ได้คิดว่าจะช่วยฉลามได้แค่ไหน ถึงช่วยได้ ฉลามในเมืองไทยก็ตายไปเกือบหมดแล้ว รู้ดีว่าทะเลไทยคงไม่มีวันที่จะมีฉลามมากมายเหมือนอดีตได้อีกครั้ง...

แล้วยังไง ???

หากคิดเยี่ยงนี้ คงไม่ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันแรก ก็คงไม่มีความรู้สึกดี ๆ ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ยามที่ได้เจอะเจอเพื่อนใหม่ที่หลายคนกลายเป็นเพื่อนเก่าในวันนี้ ยามที่หลายคนเลิกกินหูฉลามเพราะทราบความจริงจากปากของเรา เราเป็นคนเล่าให้พวกเขาฟังถึงความจริงอันโหดร้าย

ความจริงที่มีฉลามปีละ 100-150 ล้านตัวที่ต้องตาย (ข้อมูลจาก FAO - Shark Conference 2000) เพียงเพราะคนเราเชื่อว่ากินครีบของเธอแล้วมันดี มันเท่ มันเป็นอาหารเหลา เรารวย เรามีบุญถึงได้กิน

สัตว์โลกมากมายเกิดมาให้คนกิน แต่ไม่มีสัตว์โลกชนิดใดต้องตายอย่างทรมานเทียบเท่าฉลาม ดิ้นซ้ายดิ้นขวาอยู่ก้นทะเล ไม่สามารถว่ายน้ำได้ เพราะเสียครีบไปให้คนมีบุญกิน จนเธอตายลงอย่างช้า...อย่างช้าๆ

มีบุญ ??? สมควรกินในงานฉลอง ในวันเกิด ในวันแต่งงาน ???

ฉลามดิ้นรนก่อนตายไปอย่างช้าๆ ???

ก็แค่ความจริงอันโหดร้าย ก็แค่มนุษย์มีสิทธิทำทุกอย่าง ทำเหนือกว่าจินตนาการของเราด้วยซ้ำ

ผมไม่เคยดูหนังเอเลี่ยนตัวไหนที่มันจับมนุษย์ไปเฉือนแขนเฉือนขาเราเพื่อเอาไปกินในงานปาร์ตี้ โดยทิ้งให้เรานอนจมกองเลือดค่อยๆ ตาย

ถึงวันนี้มีประเด็นในการประชุม CITES ในเมืองไทย เกี่ยวกับการคุ้มครองฉลาม มีหลายความคิดเห็น ทั้งสนับสนุนทั้งแย้งโดยระบุถึงปัญหา...

เคราะห์ดีที่ผมไม่ใช่ผู้บริหารระดับสูง ผมจึงไม่แคร์ว่าจะเกิดความยุ่งยากในการจัดการประการใด ผมเป็นเพียงแค่คนที่เคยเห็นฉลามนอนตาเหลือกตายใต้น้ำ เคยเห็นทะเลที่เต็มไปด้วยฉลาม...หายไป

หายไปนาน...หายไปตลอดกาล ชั่วลูกชั่วหลาน ฝันไปเหอะว่าจะกลับมามีฉลามเหมือนกาลก่อน

หายไปหมดทั้งทะเลในช่วงแค่ 30-40 ปี นั่นเป็นการจัดการทรัพยากรย่ำแย่ที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้ในโลกนี้ ผมจึงไม่กลัวความยุ่งยากหรือย่ำแย่อื่นใด

ผมจึงลงชื่อสนับสนุนในการรณรงค์ครั้งนี้ โดยไม่หวังผลใด เพราะเคยเห็นการล่ารายชื่อเป็นหมื่นเป็นแสน ถึงกับต้องขนกระดาษมาเป็นคันรถ...แล้วไง ?

ก็ไม่แล้วไง ก็แค่คิดถึงเพลงที่เคยฟังสมัยยังเด็ก

“ถ้ายังเห็นดอกไม้ ถ้ายังมองเห็นความชุ่มฉ่ำ
คงยังมองเห็น...ใจมั่น เปี่ยมด้วยหวังดังใจ มีดอกไม้ชื่นชม”

“โลกดูเหมือนโหดร้าย ไม่เป็นดังฝันดังเราใฝ่
มองไปทางไหนดูหม่น ขาดดอกไม้ชื่นชม เพราะดอกไม้แห้งเหี่ยว”

“เสียเถิดเสียใจ ร้องเถิดร้องไห้ ปลดปล่อยมันเสียจากใจ
ฝนขาดฟ้าไป รอความหวังใหม่ ดินจะเปียกฝนอีกครั้ง...”

“โลกยังสวยเสมอ ไม่เกินเราฝันเกินเราใฝ่
ลมพาเกสรปลิวว่อน อีกไม่ช้ารอก่อน เกิดดอกไม้ชื่นชม”

(เพลง “โลกยังสวย” วงเฉลียง)

ก็แค่ไม่อยากทำเพียงร้องไห้ ก็แค่ไม่อยากเพียงรอความหวังใหม่

ก็แค่อยากจะทำ...

(ปล. ผมหาภาพฉลามของตัวเองไม่เจอ เจอแต่ภาพของคุณนัท สุมนเตมีย์ จึงขอนำมาใช้ในเรื่องนี้ คุณนัทคงไม่ว่านะครับ สำหรับผู้ที่ดูไม่ออก ขอให้สังเกตข้างตัว ฉลามตัวนี้ไม่มีครีบ เพราะถูกเฉือนไปเรียบร้อยแล้ว)

...”
ข้อความจากเฟซบุ๊กส์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

* องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่จัดการรณรงค์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมโดยการรวบรวมรายชื่อผ่านเว็บไซต์ www.change.org








กำลังโหลดความคิดเห็น