นับเป็นข่าวน่าตื่นเต้นสำหรับทะเลไทยที่ได้ต้อนรับยักษ์ใหญ่แห่งมหาสมุทร “วาฬสีน้ำเงิน” สิ่งมีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นครั้งแรกที่วาฬชนิดนี้เข้ามาน่านน้ำไทย ซึ่งปกติแล้วจะมีแค่วาฬบรูด้า และวาฬโอมูรา ระบุ ชาวบ้านพบวาฬที่น่าจะเป็นตัวเดียวกันนี้มา 1-2 เดือนแล้ว
ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต อธิบายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่า ปกติในจำนวนวาฬที่มีซี่กรอง (Baleen) 7 ชนิดนั้นจะพบในน่านน้ำไทย 2 ชนิด นั่นคือ วาฬบรูด้า (Bryde’s whale) และ วาฬโอมูรา (Omura whale) ซึ่งทั้งสองชนิดนี้ก็เคยเข้าใจว่าเป็นชนิดเดียวกัน แต่หัววาฬบรูด้า จะมี 1 สันและหลังค่อนข้างตรง ส่วนวาฬโอมูราจะมี 3 สัน และหลงค่อนข้างโค้งงอ ทั้งสองชนิดมีขนาดใกล้เคียงกันและใหญ่ไม่เกิน 11 เมตร
สำหรับวาฬบรูด้า และ วาฬโอมูรา นั้น เป็นวาฬประจำถิ่น แต่ไม่ได้อยู่ในทะเลไทยตลอด จะเข้ามาเพียง 3-4 เดือน ในช่วงปลายปีถึงเดือน เม.ย.แต่หลังจากนั้นจะอพยพไปที่ไหน ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า ยังไม่ทราบ ซึ่งอนาคตจะติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมเพื่อติดตามการอพยพของวาฬทั้งสองชนิดต่อไป
ส่วน วาฬสีน้ำเงิน (Blue whale) วาฬซี่กรองอีกชนิดที่พบในทะเลตรังนั้น เดิมเข้าใจว่าเป็นวาฬฟิน (Fin whale) ซึ่งเคยพบโครงกระดูกของวาฬฟินอายุหลายร้อยปีในอ่าวไทยตอนบน แต่ไม่เคยพบตัวอย่างที่มีชีวิต แต่ที่แยกได้ว่าเป็นวาฬสีน้ำเงินซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้น แยกได้จากขนาดร่างกายเป็นอย่างแรก
ดร.ก้องเกียรติ ประเมินจากภาพถ่ายที่ชาวบ้านบันทึกไว้ เทียบกับขนาดของเรือในภาพ คาดว่า วาฬสีน้ำเงินตัวนี้จะมีลำตัวยาว 24-26 เมตร และมีครีบหลังที่เทียบกับขนาดลำตัวแล้วค่อนข้างเล็ก และยังค่อนไปทางหางมากกว่าวาฬบรูด้าและวาฬโอมูรา อีกทั้งมีสีประขาวตามตัว และวาฬฟินมีครีบหลังที่สูงกว่าเป็นลักษณะเด่น นอกจากนี้ เมื่อส่งภาพให้นักวิจัยญี่ปุ่นตรวจสอบก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นวาฬสีน้ำเงิน
คลิปขณะชาวบ้านช่วยเหลือวาฬสีน้ำเงิน
“ตอนนี้วาฬสีน้ำเงินออกทะเลไปแล้ว” ดร.ก้องเกียรติ กล่าว และบอกว่า เรื่องการอพยพย้ายถิ่นของวาฬสีน้ำเงินนั้นยังไม่มีการศึกษา ปกติวาฬสีน้ำเงินจะกินกุ้งเคยและกริลล์ที่มีมากอยู่บริเวณขั้วโลก ตัวเต็มวัยจะมีขนาดยาวประมาณ 25-30 เมตรจะกินกุ้งวันละ 2-4 ตัน โดยทั่วไปจะหากินทั่วโลกและไม่ไปเป็นฝูง อาจเห็น 2-4 หากินอยู่ใกล้กัน สำหรับวาฬตัวดังกล่าวอาจเข้ามาหากินในเขตร้อนแล้วคุ้นเคยจนพลัดหลงเข้ามาในน่านน้ำไทย
“จากการเก็บข้อมูลมา 20 ปี ไม่เคยพบการเข้ามาของวาฬขนาดใหญ่เช่นนี้เลย นับเป็นการครั้งแรกของน่านน้ำไทยที่พบวาฬชนิดนี้” ดร.ก้องเกียรติ กล่าว โดยทางฝั่งตะวันตก เลยเกาะราชา ใต้เกาะภูเก็ต หมู่เกาะสิมิลัน และสุรินทร์ นั้น ไกลออกไป 200 กิโลเมตร เป็นแนวไหล่ทวีป มีมวลน้ำด้านบนและมวลน้ำด้านล่างปะทะกัน ทำให้มีแร่ธาตุอาหารมาก สัตว์น้ำที่กินแร่ธาตุเหล่านั้น ซึ่งเป็นอาหารของวาฬสีน้ำเงินจึงชุกชุม และจากการสอบถามชาวบ้าน ระบุว่า ก่อนหน้านี้ เคยพบวาฬซึ่งน่าจะเป็นวาฬสีน้ำเงินตัวเดียวกันนี้มาหากินบริเวณทะเลลึกของตรังอยู่ 1-2 เดือน
อย่างไรก็ดี ไม่ทราบอาณาเขตการหากินของวาฬสีน้ำเงิน ซึ่งปกติวาฬซี่กรองจะไม่มีการสร้างอาณาเขตเหมือนวาฬที่ฟันอย่างเช่นวาฬหัวทุย โดยวาฬมีซี่กรองนั้นจะเปลี่ยนจากฟันไปเป็นซี่กรอง และมีขากรรไกรที่สามารถขยับหลุดออกมาได้ ช่วยขยายปริมาตรช่องปากที่ใช้ฮุบเหยื่อและน้ำ จากนั้นจะบีบน้ำออกผ่านซี่กรองแล้วกลืนกินเหยื่อ
“สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ เฝ้าระวัง หากเขาเข้ามาใกล้ฝั่งอีก คงต้องช่วยเหลือเขาเหมือนเดิม และก็เก็บข้อมูลจากชาวบ้านว่ายังเจออยู่ไหม” หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต กล่าว
ทางด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นต่อการมาเยือนของวาฬสีน้ำเงิน ว่า เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น และไม่อยากให้มองว่าจะเป็นเรื่องน่าตระหนก หรือจะเป็นสิ่งบอกภัยพิบัติ สิ่งที่อยากให้มองคือสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยมีได้มาเยือนทะเลไทย และใหญ่กว่าไดโนเสาร์ในอดีต จึงเป็นเรื่องน่ายินดี
“ผมเคยเห็นวาฬสีน้ำเงินที่ใกล้ไทยที่สุดอยู่ที่ศรีลังกา ส่วนเจ้าวาฬตัวนี้ “หลงมา” ไม่ได้มาประจำ แต่จะมาอีกไหม ไม่ทราบ ความสำคัญของวาฬสีน้ำเงิน คือ เป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่กว่าไดโนเสาร์ เป็นความเจ๋ง เป็นศักดิ์ศรีที่สำคัญกว่าจะมองว่ามันกินอะไร ปกติโตเต็มวัยได้ถึง 30-35 เมตร และเป็นเรื่องดีที่คนไทยสนใจทะเล ใครที่อยากดูวาฬก็ไปดูได้ที่ปากน้ำเจ้าพระยา แต่คงได้เห็นวาฬที่มีขนาดเล็กกว่า ไม่ใช่วาฬสีน้ำเงิน ตอนนี้ไทยเป็นประเทศที่เห็นวาฬง่ายมากประเทศหนึ่งแล้ว” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว