ถ้าไม่ใช่นักปั่นชาวสองล้อ จะมีสักกี่คนรู้บ้างว่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาคือวัน “Car Free Day” วันแห่งการรณรงค์ลดการใช้รถส่วนตัว แล้วหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชน เดิน หรือปั่นจักรยานแทน และถึงแม้ว่าคุณเป็นคนหนึ่งที่ทราบข่าวและอยากจะลุกขึ้นมาปั่นเมืองกันบ้างตามกระแส
แต่ในเมื่อสภาพถนนหนทางยังเต็มไปด้วยอันตรายรอบด้าน ทั้งฝาท่อรูกว้างล่อให้จักรยานลงไปตก ทั้งพื้นถนนที่ต่างระดับ เต็มไปด้วยเนินและร่องมากมายเสียยิ่งกว่าทางวิบาก แถมรถราตามท้องถนนก็ขับกันฉวัดเฉวียนโฉบเฉี่ยวไปมาจนน่าเสียวไส้ ทั้งหมดนี้ชวนให้เกิดคำถามหนักๆ ในใจว่า ในเมื่อปัญหามากมายยังไม่รู้จักแก้ แล้วจะมารณรงค์ให้ปั่นในสภาพแวดล้อมแย่ๆ กันไปทำไม!?!
ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ ผู้ประสานงานโครงการจักรยานกลางเมือง มูลนิธิโลกสีเขียว เปิดใจพูดให้ฟังว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการให้สังคมได้รับรู้มากที่สุด ไม่ใช่แค่การรณรงค์แค่ลมปาก หรือแค่วันสำคัญของชาวสองล้ออย่างคาร์ฟรีเดย์แค่เพียงวันเดียว แต่เป็นปัญหาต่างๆ ที่ถูกภาครัฐมองข้าม พวกเขาต้องทนเผชิญความยากลำบากในทุกครั้งที่สาวเท้าปั่นจักรยานออกจากบ้านมาหลายสิบปีแล้ว โดยเฉพาะปัญหาเรื่องตะแกรงฝาท่อตามพื้นถนนซึ่งเป็นชนวนให้นักปั่นหลายต่อหลายคนเลือดตกยางออกมานักต่อนักแล้ว
“คนที่ไม่รู้จะคิดไปว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับจักรยานในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เกิดมาจากการเฉี่ยวชน ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลยครับ จากข้อมูลสถิติจากสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ปี 2553 ระบุเอาไว้ชัดเจนเลยว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับจักรยานมากที่สุดคือ เกิดจากการล้มเอง ซึ่งเป็นผลมาจากล้อจักรยานเข้าไปติดฝาท่อ คิดเป็น 14.4 เปอร์เซ็นต์ เพราะฝาท่อในบ้านเราเป็นฝาท่อแนวขนานกับพื้นถนน หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นร่องแนวตั้ง เวลาขี่จักรยานผ่านท่อ ล้อก็จะเข้าไปติดพอดี เพราะเป็นแนวเดียวกันกับล้อ ส่วนอุบัติเหตุที่เกิดจากการถูกเฉี่ยวชนจริงๆ แล้วมีอยู่แค่ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง นอกนั้น 80.6 เปอร์เซ็นต์คือคนที่ไม่เคยประสบอุบัติเหตุจากการขับขี่จักรยานเลย
ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าจริงๆ แล้วคนที่เคยขี่จักรยานแล้วล้อเข้าไปติดช่องตะแกรงฝาท่อมีเยอะมาก พอปั่นๆ ไปเจอท่อ ล้อหน้ามันตกลงไปในท่อ ล้อหน้าก็หยุด แต่ล้อหลังยังวิ่งต่อ เลยเกิดเป็นอาการตัวคนขี่หมุนไปข้างหน้า ข้ามจักรยานไป ส่วนจักรยานก็ปักอยู่ตรงตะแกรงตรงนั้นแหละ ผมเองก็เคยโดนครั้งหนึ่งตั้งแต่ขี่ตอนเด็กๆ ตัวหลุดไปข้างหน้าเลย โชคดีที่รถที่ตามหลังมาเขาไม่ได้วิ่งเร็วมาก เขาเลยเบรกทัน พอเกิดเรื่องแบบนี้ พวกเราชาวจักรยานเองก็ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง จะไปฟ้องร้องเอาผิดกับใคร มันไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปจะลุกขึ้นมาทำกัน”
ล่าสุดเพิ่งจะมีความเคลื่อนไหวจากทางกทม. หลังจากมีผู้เดือดเนื้อร้อนใจชาวสองล้อ เข้าไปยื่นเรื่องร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ change.org จนทางระบบส่งอีเมลเป็นจำนวนกว่า 1,500 ฉบับไปสู่ท่านผู้ว่าฯ ภายในอาทิตย์เดียวหลังจากหัวข้อการร้องเรียนนี้เกิดขึ้น จึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มลุกขึ้นมามีปฏิกิริยาต่อปัญหาที่เรื้อรังมานานนับสิบปีบ้างแล้ว
“เทคนิคของเว็บคือไม่ว่าจะมีคนมาลงรายชื่อทั้งหมดกี่คน อีเมลคอมเมนต์ต่างๆ ก็จะถูกส่งไปยังผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น หัวข้อล้อจักรยานติดท่อก็เป็นหนึ่งในหัวข้อที่ถูกร้องเรียนเข้าไป พอมีคนเข้าไปลงชื่อร้องเรียนมากๆ เข้า จำนวนอีเมลก็ถูกส่งเข้าไปหาท่านผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ เป็นหลักพัน ท่านคงเห็นว่าน่าจะเป็นเรื่องสำคัญก็เลยเริ่มเข้ามาช่วยแก้ไข พอดีกับเรื่องนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนจนเป็นข่าวขึ้นมา
ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นช่วงใกล้เลือกตั้งแล้วด้วยครับ ก็เลยทำให้เรื่องร้องทุกข์ต่างๆ ได้รับความสนใจมากขึ้น แต่ต่อจากนี้ก็ไม่แน่ใจว่าหน่วยงานจะช่วยแก้ไขเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ก็ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้พิสูจน์ว่าทาง กทม.ใส่ใจปัญหาของประชาชนจริงๆ หรือเปล่า
จริงๆ แล้วปัญหาการขี่จักรยานไม่ได้มีแค่เรื่องฝาท่อ แต่ยังมีเรื่องสิ่งกีดขวาง เรื่องรถยนต์จอดทับเลนจักรยาน แล้วก็เลนจักรยานที่ไม่ได้มาตรฐาน ใช้การไม่ได้จริง แล้วก็เรื่องวินัยในการขับขี่ คนทั่วไปที่ไม่เข้าใจจะชอบโทษว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะรถจักรยานที่มาขี่สะเปะสะปะ เลี้ยวไปมาบนท้องถนน อยากบอกว่าพวกเราชาวจักรยานก็อยากจะขี่ให้ถูกต้องตามกฎนะครับ แต่หลายๆ ที่ที่ขี่ผ่าน พื้นถนนมันก็ไม่อำนวย บางทีขี่ไปเจอฝาท่อ เจอถนนขรุขระ เราก็จำเป็นต้องเปลี่ยนช่องทาง ภาพที่ออกมาเลยกลายเป็นว่าเราขี่ไม่เป็นระเบียบ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงก็คือ การปรับเรื่องฝาท่อจากแนวขนานกับถนนให้เป็นทางขวาง ล้อจักรยานจะได้ไม่ตกลงไป แล้วก็เรื่องการปรับพื้นถนนให้เรียบ ปรับพื้นฟุตปาธให้สามารถเดินได้จริงๆ เอาแค่ความต้องการพื้นฐานเรื่องความปลอดภัยในชีวิตของคนขี่จักรยานให้ได้ก่อน ยังไม่ต้องถึงขั้นแก้เรื่องเลนจักรยานก็ได้ ไม่ต้องถึงกับมีเมกะโปรเจกต์ยิ่งใหญ่ สร้างทางด่วนจักรยานจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่แบบเมืองนอกหรอกครับ เราต้องการขอแค่ “ขี่ได้สะดวก” และ “จอดแล้วไม่หาย” แค่นั้นเอง
ที่สำคัญ ไม่อยากให้คิดว่าบ้านเราไม่เหมาะกับการขี่จักรยาน เพราะถ้าเราคิดอย่างนั้น เราคงต้องจำทนต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะคิดว่าแก้ไขไม่ได้ ทั้งการจราจร ควันพิษ น้ำเสีย ฯลฯ เราก็คงไม่ต้องทำอะไรกันต่อไป เราต้องสร้างจินตนาการใหม่ของกรุงเทพฯ มองว่าเป็นเมืองที่สามารถเปลี่ยนแปลงให้น่าอยู่ได้จริงๆ ทุกอย่างมันทำได้อยู่แล้วครับ ถ้าเกิดเราช่วยกัน นี่พูดตามสโลแกนของท่านผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์เลยนะครับ “Yes We Can ร่วมมือกัน เราทำได้” (หัวเราะ)”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ขอบคุณภาพจาก แฟนเพจ “กรุงเทพฯ เมืองจักรยาน” และ กลุ่ม “เปลี่ยนฝาท่อทั่ว กทม.” ในเฟซบุ๊ก