หลังข่าวดีเป็นของ “ฉลามหูขาว” ที่ผ่านโหวตสนับสนุนจากที่ประชุมไซเตสให้เข้าอยู่ในบัญชีคุ้มครองที่ 2 ก็ตามมาด้วยข่าวดีของ “ฉลามพอร์บีเกิล” และ “ฉลามหัวค้อน” อีก 3 ชนิดที่ได้รับเสียงโหวตให้เขาอยู่ในบัญชีคุ้มครอง
ในช่วงเช้าของวันที่ 11 มี.ค.56 ระหว่างการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่า ที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 16 หรือ ไซเตส (CITES CoP16) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ข้อเสนอของบราซิล โคลอมเบีย และสหรัฐฯ ที่ขอให้ “ฉลามหูขาว” (oceanic whitetip shark) หรือ คาร์ชาไรนัส ลองจิมานัส (Carcharhinus longimanus ) จัดอยู่ในบัญชีแนบท้ายที่ 2 ของไซเตส ซึ่งจะทำทั้งการล่าและการค้าได้รับการควบคุมภายใต้ระเบียบของไซเตส ผ่านคะแนนเสียงเห็นชอบเกิน 2 ใน 3 ของตัวแทนรัฐบาลที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้
ต่อถึงช่วงบ่ายของวันเดียวกันไซเตสได้รายงานผลการลงมติข้อเสนอให้ “ฉลามพอร์บีเกิล” (porbeagle shark) หรือ แลมนา นาซัส (Lamna nasus) และฉลามหัวค้อนอีก 3 สปีชีส์ ได้แก่ “ฉลามหัวค้อน” (scalloped hammerhead shark) หรือ สไฟร์นา เลวินิ () “ฉลามหัวค้อนยักษ์” (great hammerhead shark) หรือ เอส.มอการ์แรน (S. mokarran) และฉลามหัวค้อนดำ (smooth hammerhead shark) หรือ เอส.ไซเกนา (S. zygaena) จัดอยู่ในบัญชีแนบท้ายที่ 2 ของไซเตส
ทั้งนี้ มีคะแนนเสียงเห็นด้วยในการเพิ่มบัญชีฉลามหัวค้อนทั้ง 3 สายพันธุ์ 91 เสียง คะแนนเสียงคัดค้าน 39 เสียง และงดออกเสียง 8 เสียง ส่วนฉลามพอร์บีเกิลนั้นมีคะแนนเสียงเห็นด้วยในการเพิ่มในบัญชีแนบท้ายที่ 2 ของไซเตส 93 เสียง คะแนนเสียงคัดค้าน 42 เสียง และงดออกเสียง 8 เสียง ซึ่งฉลามทั้งหมดจึงผ่านการลงคะแนนเสียงเห็นชอบเกิน 2 ใน 3 ของตัวแทนรัฐบาลที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้
สำหรับประเทศที่ยื่นเสนอให้เพิ่มฉลามพอร์บีเกิลในบัญชีไซเตส คือ บราซิล โคโมรอส โครเอเชีย และเดนมาร์ก (ในนามของสหภาพยุโรป) ส่วนประเทศที่ยื่นเสนอให้เพิ่มบัญชีฉลามหัวค้อนคือ บราซิล โคลอมเบีย คอสตาริกา เดนมาร์ก เอลกวาดอร์ ฮอนดูรัส และเม็กซิโก โดยที่จีนซึ่งเป็นผู้บริโภคหูฉลามรายใหญ่ของโลกคัดค้านข้อเสนอดังกล่าว และไทยก็คัดค้านข้อเสนอดังกล่าวด้วยเช่นกัน
รายงานจากบีบีซีนิวส์อ้างผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ลงวารสารเจอร์นัลมารีนโพลิซี (Journal Marine Policy) โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสโตนีบรูค (Stony Brook University) สหรัฐฯ ว่ามีฉลามถูกล่าเฉลี่ยปีละ 100 ล้านตัว โดยประเมินว่าเมื่อปี 2010 มีฉลามถูกล่าระหว่าง 63-273 ล้านตัว ซึ่งเป็นการล่าเพื่อตัดครีบไปทำซุปหูฉลาม
ทั้งนี้ ฉลามเป็นสัตว์ที่มีการเจริญพันธุ์ในช่วงปลายชีวิตและยังแพร่พันธุ์ในอัตรา ที่ต่ำ ทำให้เกิดความกังวลว่า หากไม่มีการควบคุมใดๆ สัตว์ที่เป็นนักล่าอันดับหนึ่งของท้องทะเลจะสูญพันธุ์ในที่สุด และจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลได้ในที่สุด