xs
xsm
sm
md
lg

มีสัญญาณเห็นด้วยปรับลดบัญชีไซเตส “ไม้พะยูง” ให้ค้าขายได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ (กลาง) แถลงข่าวถึงประเด็นที่จะมีการพูดคุยในที่ประชุมไซเตส
รองอธิบดีกรมอุทยานฯ เผยการประชุมไซเตสมีแนวโน้มประเทศสมาชิกเห็นด้วยปรับลดบัญชี “ไม้พะยูง” เพื่อให้ค้าขายได้ ส่วนข้อเสนอของไทยเรื่องการปรับบัญชีจรเข้น้ำจืดและน้ำเค็มที่ไทยสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ อาจมีหลายประเทศขวางเพราะกลัวจะแย่งตลาด

ระหว่างการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 16 หรือ ไซเตส (CITES CoP16) ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่าง 3-14 มี.ค.56 ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แถลงถึงกิจกรรมน่าสนใจที่จะเกิดขึ้นระหว่างการประชุม

ในจำนวนข้อเสนอของไทยต่อที่ประชุม 3 เรื่อง มีประเด็นการขอขึ้นบัญชีไม้พะยูงเป็นชนิดพันธุ์หมายเลข 2 ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่อนุญาตให้ค้าได้ แต่ต้องควบคุมปริมาณไม่ให้ลดลงอย่างรวดเร็วจนถึงจุดใกล้จะสูญพันธุ์ ซึ่งรองอธิบดี ระบุว่า ในวันที่ 5 มี.ค.จะประชุมชี้แลงและให้ข้อมูลแก่ประเทศต่างๆ เพื่อข้อเสียงสนับสนุนให้มีการปรับบัญชีไม้พะยูงเพื่อการซื้อขายได้ภายใต้เงื่อนไขชนิดพันธุ์หมายเลข 2 ตามบัญชีของไซเตส

การยื่นข้อเสนอดังกล่าว ดร.ธีรภัทร ระบุว่าไทยได้เสนอร่วมกับเวียดนาม ซึ่งมีหลายประเทศมีท่าทีเห็นด้วย เนื่องจากมีบางประเทศเสนอปรับลดบัญชีของไม้ในสกุล (genus) เดียวกันนี้ เช่น ไม้ชิงชัน ก็จัดเป็นไม้สกุลเดียวกับพะยูง และอินเดียก็เสนอเรื่องคล้ายๆ กันเพื่อให้ค้าขายได้ และหลายประเทศก็เห็นด้วย

“ในเบื้องต้นจีนก็แสดงความเห็นในเชิงบวกที่จะสนับสนุน แต่ยังไม่สามารถบอกหรือยืนยันได้มาก เพราะในเวทีไซเตสนี้นอกจากเรื่องอนุรักษ์แล้ว ยังมีเบื้องหลังเป็นการเมืองระหว่างประเทศ หรือการแลกเปลี่ยนเสียงเพื่อสนับสนุนด้วย” ดร.ธีรภัทรกล่าว

ส่วนอีกข้อเสนอของไทยในเรื่องให้เปลี่ยนบัญชีจระเข้น้ำจืดและน้ำเค็มเฉพาะที่เพาะเลี้ยงได้ จากบัญชี 1 ที่ห้ามการซื้อขายเด็ดขาดมาอยู่บัญชี 2 เนื่องจากไทยมีองค์ความรู้ในการอนุรักษ์และเพาะเลี้ยงได้นั้น รองอธิบดีให้ความเห็นว่า ค่อนข้างมีอุปสรรคมากกว่าข้อเสนอเรืองไม้พะยูงที่ไม่กี่ประเทศจะมีไม้ชนิดนี้ แต่กรณีจระเข้นั้นมีหลายประเทศที่มีผลิตภัณฑ์จากจระเข้ ซึ่งหากข้อเสนอของไทยผ่านก็อาจทำให้เกิดการแย่งตลาดได้ ดังนั้น ประเทศที่มีการค้าขายจระเข้ ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และในแอฟริกา อาจะไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอนี้

การประชุมไซเตสสมัยที่ 16 นี้ มีตัวแทนจาก 177 รัฐบาลเข้าร่วม โดยมีผู้ร่วมประชุมประมาณ 1,000 คน เพื่อร่วมพิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับกฎระเบียบของไซเตส ทั้งนี้ การประชุมปรับบัญชีนี้อยู่ในวาระที่ 77 ซึ่งมีข้อเสนอกว่า 70 ข้อเสนอ อาทิ ข้อเสนอด้านสัตว์ป่า 48 ข้อ ด้านพืชป่า 22 ข้อ ข้อเสนอเลื่อนชนิดพันธุ์จากบัญชี 1 ไปยังบัญชี 2 จำนวน 10 ข้อ และข้อเสนอเลื่อนชนิดพันธุ์จากบัญชี 2 ไปยังบัญชี 1 จำนวน 12 ข้อ เป็นต้น







กำลังโหลดความคิดเห็น