xs
xsm
sm
md
lg

“ค้างาช้าง” ประเด็นใหญ่ในประชุมไซเตส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิทรรศการภาพถ่ายสัตว์ป่าที่ถูกล่าเพื่อการค้าภายในการประชุมไซเตส
ตัวแทนจาก 177 รัฐบาลเข้าร่วมการประชุม “ไซเตส” ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ โดยหัวข้อ “การค้างาช้าง” เป็นหนึ่งในประเด็นใหญ่ของการประชุมครั้งนี้ และไทยเตรียมแก้กฎหมายให้ร้านค้าทำบัญชีสินค้าจากงาช้าง และขายเท่าที่มี ก่อนหยุดการค้าขายเพื่อรอกฎหมายใหม่

การประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 16 (CITES CoP 16) เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 3 มี.ค.56 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งไทยโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน ที่จะมีจนถึงวันที่ื 14 มี.ค.นี้

หนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างภายในการประชุมนี้ คือการค้างาช้างจากแอฟริกาใต้ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวระหว่างเปิดการประชุมว่า ช้างเป็นสัญลักษณ์และส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย และช้างก็มีความรู้สึกและอารมณ์เช่นเดียวกับคน ต้องการดูและและถิ่นอาศัย

ทั้งนี้ 3 มาตรการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่าจะดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาการค้างาช้างอย่างผิดกฎหมายคือ 1.ให้หน่วยข่าวกรองและศุลากรจัดการการลักลอบนำเข้างาช้างผิดกฎหมาย 2.ไทยมีกฎหมายในการควบคุมการค้างาช้างบ้าน 3.มีแผนผลักดันแก้ไขกฎหมายเพื่อยุติการค้างาช้างอย่างสิ้นเชิงตามมาตรฐานสากล

ด้าน นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงการควบคุมการค้างาช้างของไทยว่า ไทยมี 2 กระทรวงที่ควบคุมช้างในประเทศ นั่นคือ กระทรวงมหาดไทยที่ดูแลช้างซึ่งเป็นพาหนะหรือช้างบ้าน และกระทรวงทรัพฯ ที่ดูและช้างป่า

อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ กล่าวว่ากำลังดำเนินการเพื่อให้ร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากงาช้างทำบัญชีสินค้าจากงาช้างทั้งหมด และอนุญาตให้จำหน่ายได้เท่าที่มีในสต๊อก จากนั้นจะให้หยุดการค้าขายเพื่อรอกฎหมายใหม่ที่จะแก้ไข

พร้อมกันนี้เจ้าชายวิลเลียมแห่งราชวงศ์อังกฤษ มีพระดำรัสผ่านคลิปวิดีโอถึงผู้เข้าร่วมประชุมว่า การค้างาช้างไม่ใช่แค่ภัยคุกคามของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น หากการประชุมไซเตสไม่ต่อสู้ในเรื่องนี้ สิ่งมีชีวิตชนิดนี้ก็จะหายไปจากโลก และจะส่งผลกระทบต่อลูกหลานในอนาคต

“การจัดประชุมที่ประเทศไทยเป็นนิมิตหมายอันดี เพราะช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ การประชุมไซเตสยังมีอีกหลายเป้าหมายในการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตต่างๆ อยากให้การประชุมนี้สัมฤทธิผลแม้จะมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่เป้าหมายก็เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์” เจ้าชายวิลเลียมตรัส

ส่วน มร.จอห์น อี.สแกนลัน (John e. Scanlon) เลขาธิการสำนักงานเลขาธิการไซเตส กล่าวว่า เป้าหมายของการประชุมไซเตส ไม่ใช่การหยุดการค้าสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ แต่คือการหาวิธีให้เกิดการอนุรักษ์และการค้าสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน ซึ่งการทำเรื่องค้าสัตว์ป่าให้ถูกกฎหมายนั้นเป็นผลดีทั้งต่อประชาชนและธรรมชาติ เพราะมีตัวอย่างว่าเมื่อทำให้ถูกกฎหมายแล้วสามารถลดความเสี่ยงสูญพันธุ์ได้

สำหรับการประชุมครั้งนี้มีเรื่องการล่าฉลาม ปลากระเบน และการลักลอบตัดไม้อยู่ในวาระการพิจารณาระดับต้นๆ รวมถึงการพิจารณาสถานการณ์ช้าง แรด หมีขั้วโลก วิคูนา (สัตว์คล้ายลามาในอเมริกาใต้) เต่าน้ำจืดและพืชพันธุ์ชนิดต่างๆ

ส่วนไทยเตรียมข้อเสนอ 3 ประเด็น ได้แก่

1.การขอขึ้นบัญชีไม้พะยูงเป็นชนิดพันธุ์หมายเลข 2 ซึ่งเป็นชิดพันธุ์ที่อนุญาตให้ค้าได้ แต่ต้องควบคุมปริมาณไม่ให้ลดลงอย่างรวดเร็วจนถึงจุดใกล้จะสูญพันธุ์

2.เสนอให้เปลี่ยนบัญชีจระเข้น้ำจืดและน้ำเค็มเฉพาะที่เพาะเลี้ยงได้ จากบัญชี 1 ที่ห้ามการซื้อขายเด็ดขาดมาอยู่บัญชี 2 เนื่องจากประเทศไทยมีการพัฒนาองค์ความรู้ในการอนุรักษ์และเพาะเลี้ยงจระเข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการเพาะพันธุ์เพื่ออนุรักษ์และการเพาะพันธุ์เพื่อการค้า

3.เสนอมตารการคุมเข้มการค้างาช้างและการค้านอแรด เพื่อไม่ให้มีการลักลอบค้า หรือการฟอกสินค้าผิดกฎหมาย โดยใช้ไทยเป็นทางผ่าน

การประชุมไซเตสสมัยที่ 16 นี้มีตัวแทนจาก 177 รัฐบาลเข้าร่วม โดยมีผู้ร่วมประชุมประมาณ 1,000 คน เพื่อร่วมพิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับกฎระเบียบของไซเตส 70 ข้อ อาิท ข้อเสนอด้านสัตว์ป่า 48 ข้อ ด้านพืชป่า 22 ข้อ ข้อเสนอเลื่อนชนิดพันธุ์จากบัญชี 1 ไปยังบัญชี 2 จำนวน 10 ข้อ และข้อเสนอเลื่อนชนิดพันธุ์จากบัญชี 2 ไปยังบัญชี 1 จำนวน 12 ข้อ เป็นต้น
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระหว่างกล่าวเปิดการประชุมไซเตส (รอยเตอร์)
ผู้ร่วมประชุมเดินผ่านภาพถ่ายแรดแอฟริกัน ระหว่างการประชุมไซเตส (รอยเตอร์)






กำลังโหลดความคิดเห็น