xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” โวคนไทยรักช้างสุดๆ ชู3มาตรการป้องค้าช้างข้ามชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (3 มีนาคม 2556) วันนี้ ( 3 มี.ค) .ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธ์ (ไซเตส) ครั้งที่ 16 โดยมีตัวแทนจาก 177 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุม
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมไซเตสในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่การจัดประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสครบรอบ 40 ปีของอนุสัญญาไซเตส และเป็นการแสดงถึงความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยในการปกป้องพืชและสัตว์ป่า โดยเรามีพื้นที่สำคัญในการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชพันธุ์และสัตว์ป่าคือมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นแหล่งอนุรักษ์ของโลก ซึ่งเป้าหมายในการประชุมครั้งนี้คือความร่วมมือระหว่างประเทศในการการปกป้องและอนุรักษ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์
ทั้งนี้ขอให้ทุกคนมองถึงวัฒนธรรมและประเพณีของไทย ช้างถือเป็นสิ่งคู่บ้านคู่เมืองของไทยมาตั้งแต่โบราณ พระมหากษัตริย์ในอดีตก็ใช้ช้างในการทำศึกสู้รบเพื่อปกป้องชาติ ในรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถทรงมีความห่วงใยในการนำช้างกลับสู่ป่า รวมทั้งต้องใส่ใจดูแลช้างและต้องเพิ่มประชาการช้างในธรรมชาติด้วย ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือเราต้องร่วมกับต่อสู้กับการฆ่าช้างที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องการลักลอบค้างาช้าง
รัฐบาลไทยมีมาตรการในการดำเนินการคือ 1. การทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในเรื่องการข่าว เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้างาช้างที่ผิดกฎหมาย 2. การบังคับใช้กฎหมายควบคุมการค้างาช้างบ้าน และ3.การพยายามแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ไม่มีการค้างาช้างแอฟริกาอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย โดยการแก้กฎหมายนี้จะทำให้สอดคล้องกับการกฎหมายระหว่างประเทศ
“ ทั้งนี้ขอยืนยันว่าไม่มีใครรักและใส่ใจช้างได้เท่ากับคนไทย ประเทศไทยมีการเตรียมพร้อมเพื่อต่อสู้กับการลักลอบค้างาช้างที่ผิดกฎหมายอย่างเต็มที่ และเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้จะประสบความสำเร็จด้วยดี” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว
ด้านนายอาคิม สไตเนอร์ ผอ.โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กล่าวว่า การค้าพืชและสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายถือเป็นอาชญากรรมข้ามพรมแดน ที่กฎหมายระหว่างประเทศไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินการป้องกันการลักลอบค้างาช้างได้ แต่ละปีทุกประเทศต้องสูญเงินงบประมาณในการป้องกันป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ซึ่งข้อมูลของยูเอ็นอีพีพบว่า 50-90 % เปอร์เซ็นต์ของเครือข่ายอาชญากรรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศเขตร้อนของลุ่มน้ำอเมซอน แอฟริกากลาง แอฟริกาใต้ และประเทศในแถบเอเชียตะวันออก ซึ่งมีมูลค่ากว่า 9 แสนล้านบาทต่อปี ถือเป็นอาชญากรรทางเศรษฐกิจระดับโลกที่ทั่วโลกต้องร่วมกันต่อต้านสิ่งผิดกฎหมายเหล่านี้ และจำเป็นต้องมีหน่วยงานไซเตสขึ้นมา
นอกจากนั้นจากรายงานของยูเอ็นอีพีพบว่าจำนวนประชากรช้างแอฟริกาลดลงประมาณ 6 เปอร์เซ็นต่อปี ซึ่งหลายประเทศในแอฟริกามีการฆ่าช้างเพื่อเอางา 11-12 % จากประชากรช้างแอฟริกาทั้งหมด มีการคาดการณ์ว่าการค้างาช้างที่ผิดกฎหมายเกี่ยวข้องกับการค้าอาวุธเพื่อสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายในแต่ละประเทศ ตัวอย่างคือมีการฆ่าช้าง 450 ตัว ในประเทศคาเมรูนเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา เพื่อแลกงาช้างเป็นเงิน อาวุธ และลูกกระสุนเพื่อใช้ต่อสู้กับความขัดแย้งในภูมิภาค
ด้านนายจอห์น อี สแกนนอน เลขาธิการไซเตส กล่าวว่า วาระการประชุมไซเตส มีประเด็นสำคัญคือการแก้ไขปัญหาลักลอบค้างาช้างและนอแรด เพื่อหามาตรการในการป้องกันที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งมีการเพิ่มชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าเพื่อให้เข้าสู่การควบคุมการค้า โดยมีพืชพันธุ์ไม้จำนวนกว่า 100 ชนิดในการพิจารณา
นอกจากนั้นจะมีการพิจารณาชนิดพันธุ์ของฉลามเพื่อจัดเข้าสู่บัญชีไซเตสเพิ่มเติม รวมทั้งการพิจารณาให้หมีขาวจากบัญชี 2 ของไซเตส ขึ้นสู่บัญชี 1 ที่ห้ามมีการค้าขายอย่างเด็ดขาด โดยทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของมติที่ประชุม ที่จะพิจารณาจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ประกอบกับข้อมูลอื่นๆ ทั้งนี้จะมีการพิจารณาให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อป้องกันและลดอาชญากรรมด้วยสัตว์ป่าและพืชป่า โดยอาจขอให้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกมีการสนับสนุนในเรื่องนี้มากขึ้น
ส่วนเรื่องการค้าขายงาช้างแอฟริกา คณะกรรมการจะพิจารณาว่าประเทศไทยได้ดำเนินการมาตรการใดแล้วบ้าง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และมีผลสำเร็จอย่างไรบ้าง ถ้าประเทศไทยไม่สามารถมีมาตรการหรือรายงานการดำเนินการให้ทันกำหนด ก็มีโอกาสสูงที่จะถูกคว่ำบาตรทางการค้าได้
ด้านนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรฯ ดำเนินการสำรวจจำนวนงาช้างบ้านว่ามีจำนวนเท่าใด รวมทั้งสำรวจจำนวนงาช้างที่อยู่ในร้านค้า 150 แห่งทั่วประเทศ เพื่อทำให้ทราบจำนวนที่แท้จริงว่ามีจำนวนเท่าไร และห้ามซื้อขายงาช้างเหล่านี้จนกว่าจะมีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับช้างให้แล้วเสร็จทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น