xs
xsm
sm
md
lg

ส่อง “ไซเตส” เวทีเจรจาค้าสัตว์ป่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประเทศจีนถูกกล่าวโทษเสมอว่าเป็นผู้บริโภคสัตว์ป่ารายใหญ่ของโลก และหาวิธีใช้ประโยชน์จากการต่อรองในเวที CITES มาตลอด ล่าสุดจีนได้นำเข้าแรดจากแอฟริกาสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ในบัญชี 1 เกือบ 70 ตัว โดยอ้างว่านำเข้าเพื่อจัดแสดงในซาฟารี แต่จริงๆ แล้วหลายคนรู้ว่าเป็นการนำเข้าไปเพื่อทำ “ฟาร์มตัดนอ” แห่งแรกของโลก เพราะมีการออกกฏหมายสนับสนุนการค้านอแรดอย่างเสรีภายในประเทศไว้แล้ว (bbc.co.uk)



ในเวลานี้ข่าวการจัดประชุม “ไซเตส” ขึ้นหน้าหนึ่งแทบทุกวัน เพราะเรื่องร้อนที่ถูกซ่อนซุกไว้ใต้พรมกำลังจะถูกเปิดเผยให้เห็น เนื่องจากเมืองไทยกลายเป็นตลาดกลางและทางผ่านการค้างาช้าง นอแรด และซากเสืออย่างโจ่งครึ่ม การประชุมนี้สำคัญอย่างไร? นักวิทยาศาสตร์และคนทั่วไปเกี่ยวข้องอะไรด้วย? แล้วคุณอาจจะตกใจว่าไซเตสส่งผลกระทบได้มากกว่าที่คิด

การประชุมสมัยสามัญภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส (CITES) ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในวันที่ 3-15 มี.ค.นี้เป็นครั้งที่ 16 แต่ไม่น่าเชื่อว่าประเทศที่มี “ชื่อเสีย” เกี่ยวกับการค้าสัตว์และพืชป่าอย่างเปิดเผย ทั้งที่บ้านเราจะได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพเป็น 2 ครั้งแล้ว! โดยเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยก็เคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม CITES ครั้งที่ 13 มาก่อน

ในเวลานั้นเคยมีการรับปากกับประเทศภาคีว่าจะพยายามปรับปรุงและบังคับใช้กฏหมายภายในประเทศให้ดีขึ้น แต่เวลาผ่านไปเกือบ 10 ปี ก็ยังแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงให้เห็นชัดเจน จนดาราฮอลลีวูดต้องออกมาจี้นายกรัฐมนตรีไทยให้ทำอะไรสักอย่างได้แล้ว เพราะในขณะนี้ประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลกในการลักลอบนำเข้างาช้างจากแอฟริการองจากจีนทั้งๆ ที่คนไทยรักช้างและระลึกเสมอว่าเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของตนเอง

หากแต่ที่น่ากลัวที่สุด คือหากหลังจากการประชุม ประเทศไทยยังไม่สามารถแสดงให้เห็นว่า มีมาตรการบังคับใช้กฏหมายหรือควบคุมการนำเข้างาช้างอย่างผิดกฏหมายได้อย่างชัดเจน เราอาจจะถูกประเทศภาคีรวมหัวกันคว่ำบาตรห้ามนำเข้า พืช สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่สามารถค้าได้อย่างถูกกฎหมาย เช่น ปลาสวยงาม เครื่องหนัง เขาอ่อน กระดูก ฯลฯ ซึ่งอาจจะสูญเสียมูลค่าการค้าระหว่างประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท และแน่นอนว่าอาจจะเกิดผลกระทบตั้งแต่ระดับอุตสาหกรรม กลุ่มหัตถกรรม ไปจนถึงกลุ่มเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม

การประชุมนี้จึงไม่ใช่แค่เวทีของนักการเมืองและนักเจรจาการค้า แต่อาจเป็นเวที่กำหนดชะตาสีตาสาที่กำลังนั่งเพาะปลากัดหม้อ หรือแม้แต่สาวโรงงานหนังจระเข้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ...แล้วการประชุมนี้มีความสำคัญอย่างไร? หากอ่านชื่อผ่านๆ หลายคนอาจคิดว่าคงมีเนื้อหาเกี่ยวกับการอนุรักษ์สัตว์ป่าหรือกฏหมายการอนุรักษ์ แต่นายปรี๊ดขอขยายความอย่างง่ายๆ ว่า การประชุมนี้เป็นการพูดคุยเพื่อจัดระเบียบภายในเครือข่ายประเทศภาคี เกี่ยวกับการค้าสัตว์และพืชป่ารวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ระหว่างประเทศ แต่ไม่ได้รวมถึงการค้าและการล่าภายในประเทศ ซึ่งจะมีกฏหมายรับรองอยู่แล้ว

เมื่อเริ่มแรกอนุสัญญาเกิดขึ้นในการประชุมประชุมสมัชชาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก (World Conservation Union: IUCN) เมื่อปี พ.ศ.2516 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.โดยมีการลงนามทันทีเพียง 22 จาก 88 ประเทศ สำหรับประเทศไทยได้ตัดสินใจลงนามในปี 2518 และต่อมาก็ให้สัตยาบันใน พ.ศ.2526 ในปัจจุบันประเทศภาคีประมาณ 180 ประเทศมีหน้าที่จัดการกฏหมายภายในชาติให้สอดคล้องกับทิศทางของมติที่ประชุม และจัดทำรายงานความก้าวหน้าเสนอต่อสำนักงานเลขาของไซเตส

โดยมีหลักการว่าการค้าสัตว์และพืชป่าระหว่างประเทศนี้จะถูกควบคุมโดยระบบใบอนุญาต (Permit) เพื่อส่งออก ส่งกลับ ส่งผ่าน และนำเข้า ตามบัญชีรายชื่อในบัญชีแนบท้ายหมายเลข 1 2 และ 3 (Appendix I,II,III) ซึ่ง สัตว์และพืชป่าในบัญชี 1 นั้นห้ามซื้อขายระหว่างประเทศอย่าเด็ดขาด เนื่องจากใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง หากจะซื้อขายต้องกระทำโดยรัฐต่อรัฐ เพื่อการศึกษาวิจัยและเพาะพันธุ์เท่านั้น สัตว์ของไทยน่าสนใจในบัญชีนี้ ได้แก่ สัตว์สงวนทุกชนิด เสือทุกชนิด เต่าทะเลทุกชนิด ช้าง จระเข้ ปลาตะพัด และปลายี่สก

สัตว์ในบัญชีที่ 2 ยังไม่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สามารถค้าขายได้แต่ต้องไม่กระทบกับประชากรในธรรมชาติ สัตว์ของไทยในบัญชีนี้ ได้แก่ ลิงและค่างทุกชนิด งูเห่า งูจงอาง และตัวเหี้ย ส่วนสัตว์ในบัญชีที่ 3 เป็นรายชื่อของสัตว์และพืชที่แต่ละประเทศขอเสนอให้ประเทศในภาคีดูแลการนำเข้าและหนังสือรับรองเป็นพิเศษ เช่น ควายบ้าน ไก่จุก ชะมดเช็ด เป็นต้น

อ่านดูแล้วไม่มีอะไร แต่ถ้าใครที่รู้จักสัตว์ป่าที่นายปรี๊ดยกตัวอย่างมาจะพอเห็นเค้าลางว่า ชนิดพันธุ์เหล่านั้นล้วนแต่เป็นสัตว์หายากเป็นที่ต้องการของสวนสัตว์หรือผู้เพาะเลี้ยง หรือเป็นสัตว์ที่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจในด้านผลิตภัณฑ์หนัง เขา ขน และน้ำมันหอมระเหยทั้งสิ้น และนี่ก็เป็นจุดสำคัญที่นักอนุรักษ์และนักวิทยาศาสตร์หลายองค์กรคอยจับตาการประชุมอนุสัญญานี้เสมอ เพราะ ในปัจจุบันการประชุมนี้ถูกมองว่า ได้บิดเบือนวัตถุประสงค์หลักซึ่งต้องการปกป้องชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์เป็นเวทีเจรจาการค้าเพื่อเปิดทางให้ค้าขายสัตว์และพืชป่าระหว่างประเทศสามารถอย่างถูกกฏหมาย ผ่านการเสนอร่างปรับลดและโยกย้ายบัญชีรายชื่อของสัตว์และพืชป่า ซึ่งอาจไม่ต่างอะไรกับทำ “โพยหวยบนดิน” ที่พลิกเรื่องที่ต้องหลบซ่อนทำใต้ดินให้แบขายกันได้อย่างสะดวก

เนื่องด้วยมูลค่าการค้าสัตว์ป่านั้นสูงพอๆ กับการค้าอาวุธสงคราม และสิ่งเสพติดเลยทีเดียว จนบางประเทศในแอฟริกาใต้ใช้งาช้างแลกกับโคเคนและอาวุธสงครามก็ยังมี ยิ่งในเวลานี้เอเชียบ้านเราซึ่งเป็นผู้บริโภคหลักมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นหลายเท่า การต่อรองเพื่อปรับลดบัญชีจากสัตว์ที่ห้ามค้าได้อย่างเสรีจึงเกิดขึ้นทุกปี
ในการประชุม CITES สัปดาห์หน้านี้ ประเทศไทยจะแสดงลดจระเข้น้ำจืดและน้ำเค็มในกรงเลี้ยงจากบัญชี 1 ที่ต้องค้าผ่านรัฐลงมาบัญชี 2 ทีค้าขายได้สะดวกขึ้น แต่อเมริกามีท่าทีคัดค้านเพราะอาจจะสูญเสียสมดุลการส่งออกหนังจระเข้ได้ในอนาคต การต่อรองเช่นนี้เกิดขึ้นรุนแรงทุกปี แต่หลายครั้งที่สถานภาพของสัตว์ในธรรมชาติและข้อมูลจากการวิจัยถูกมองข้าม (talkvietnam.com)



จากที่เล่ามาแทบไม่เห็นว่านักวิทยาศาสตร์ไปเกี่ยวข้องอะไรกับเค้าด้วย เพราะในเวทีการเจรจาคงเป็นหน้าที่ของนักการเมืองและผู้แทนการค้า แต่เบื้องหลังการกำหนดบัญชีต่างๆ นั้นย่อมต้องใช้ข้อมูลที่ทำการศึกษาจากนักวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนประชากรของสัตว์และพืชป่าที่ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงทุกปี เพื่อเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจใช้ข้อมูลในการเจรจาต่อรอง ซึ่งดำเนินการโดย นักวิชาการสัตว์ป่า นักชีววิทยาการอนุรักษ์ และนักวิชาการเกษตร เป็นต้น

ในภาพใหญ่ข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจของประเทศภาคีมักจะอ้างอิงบัญชีรายชื่อสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ หรือ IUCN Red list ที่มีการรวบรวมข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาและติดตามจำนวนประชากรของชนิดพันธุ์ตามที่ตนเองถนัด และมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะที่เรียกว่า IUCN Red list Specialist เป็นผู้รวบรวมงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิขาการและข้อมูลที่นำเสนอในการประชุม IUCN แล้วนำมาจัดลำดับความสำคัญในการอนุรักษ์ตามจำนวนประชากรที่เหลืออยู่ในธรรมชาติเป็นระดับเพื่อส่งต่อให้นักอนุรักษ์และนักกฏหมายใช้ประโยชน์ในการจัดการ เช่น สิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์จากธรรมชาติ (EW - Extinct in the Wild) หรือ สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (CR - Critically endangered species) เป็นต้น

ส่วนอีกองค์กรหนึ่งที่ทำให้ข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานร่วมกับองค์กรทางสังคมมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์คือ TRAFFIC ซึ่งทำงานร่วมกับ IUCN และกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) โดยนักวิจัยในเครือข่ายนี้มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบคดีการจับกุม เส้นทางค้าขาย มูลค่าของการค้า และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะใช้ติดตามผู้ลักลอบค้าขายสัตว์ป่าและนำมาเผยแผ่ต่อผู้เกี่ยวข้องและสาธารณชน

เมื่อมีข้อมูลพื้นฐานในการตัดสินใจจากนักวิทยาศาสตร์แล้วทางฝ่ายกฏหมายและผู้เจรจาการค้าก็จะมีข้อมูลหรือหลักฐานในมื่อเพื่อการล็อบบี้ แลกเปลี่ยนข้อตกลงกันได้ ยกตัวอย่างเช่น ในกลุ่มพืชป่าโดยเฉพาะกล้วยไม้ ถือว่านักพฤกษศาสตร์และนักเทคโนโลยีการเกษตร มักมีหลักฐานหนักแน่นเพื่อสนับสนุนการโยกย้ายบัญชีรายชื่อให้ทำการค้าได้ เนื่องด้วยพืชป่าสามารถเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้สะดวกแถมยังสวยงามกว่า ต้านทางโรคได้มากขึ้นด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2553 ประเทศไทยเสนอให้ถอดกล้วยไม้ฟ้ามุ่ยออกจากบัญชี 1 ลงมาบัญชี 2 เพราะมีการเพาะพันธุ์ได้มากจนสมารถนำกลับคืนสู่ป่าได้ ประชากรในธรรมชาติจึงเสี่ยงต่อการสุญพันธุ์น้อยลง เช่นเดียวกับกล้วยไม้สกุลซิมโบเดียม กล้วยไม้สกุลหวาย ต้นกำแพงหยก และโป๊ยเซียนที่ประชากรในธรรมชาติเคยตกอยู่ในระดับวิกฤติต้องบรรจุอยู่ในบัญชี 2 ก็ถูกเสนอให้ถอดออกเนื่องจากมีการเพาะเลี้ยงอย่างหลากหลาย และลูกผสมในฟาร์มเป็นที่นิยมมากกว่าพืชป่า
พระพุทธรูปแกะสลักจากงาช้างเป็นงานหัตศิลป์ทรงคุณค่าทางศิลปะของช่างไทยและหลายประเทศในเอเชีย งาช้างแอฟริกาแม้จะชิ้นใหญ่กว่าแต่งาช้างเอเชียมีสีนวลตาและเนื้อนิ่มกว่าทำให้สลักง่าย แต่งานหัตถศิลป์นี้จะมีมูลค่าและความชอบธรรมในฐานะ “งานศิลปะชั้นสูง” เมื่อสามารถตรวจสอบได้ว่ามีที่มาจากช้างเลี้ยงที่ตายเองตามธรรมชาติ ซึ่งทำให้ช่างสลักไม่ถูกกดค่ามือเพราะถูกอ้างว่าเป็นของผิดกฏหมายจนต้องหลบๆ ซ่อนๆ อย่างทุกวันนี้


ส่วนในปี 2556 นี้ ประเทศไทยกำลังจะเสนอชื่อไม้พะยูงซึ่งมีการลักลอบตัดอย่างมากจนเหลือในธรรมชาติไม่กี่หมื่นต้น ให้ขึ้นไปอยู่ในบัญชี 2 แต่ก็คาดว่าอาจจะถูกคัดค้านจากประเทศผู้นำเข้าอย่างจีนและเวียดนาม ซึ่งอาจจะให้เหตุผลว่าประชากรยังไม่ลดจำนวนมากจนเสี่ยงต่อการสุญพันธุ์ และแน่นนอนว่าต้องเป็นหน้าที่ของนักวิจัยทั้งในประเทศและนานาชาติที่จะต้องเริ่มต้นเก็บข้อมูลเพื่อยืนยันว่าต้นไม้ชนิดนี้ถุกคุกคามจนใกล้จะหมดไปจริงหรือไม่?

ในด้านสัตว์ป่ามีตัวอย่างที่ดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์อย่างชัดเจน เช่น ในปี 2553 นักวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลพบว่า “โลมาอิรวดี” ซึ่งเป็นโลมาที่อาศัยได้ทั้งทะเลและแม่น้ำกำลังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วทั้งในไทยและพม่า รวมทั้งกำลังเป็นที่สนใจของการค้าเพื่อนำไปจัดแสดงในสวนสนุก ทำให้ต้องตัดสินใจเสนอร่างให้โลมาอิรวดีอยู่ในบัชญีหมายเลข 1 เพื่อห้ามซื้อขาย

ในด้านอนุกรรมวิธานหรือการจัดจำแนกชนิดสัตว์ก็เช่นกัน นักชีววิทยา นักชีวเคมี สัตวแพทย์ และนักพันธุศาสตร์ล้วนมีบทบาทในการช่วยเหลือชนิดพรรณชางชนิดที่หลบซ่อนอยู่ในหมู่ญาติขนาดใหญ่ ทำให้ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นชนิดเดียวกัน เช่น งูหลามต้นไม้ หรือ Green Tree Python (Morelia azurea) จากเกาะปาปัวและนิวกินีที่มีชนิดพันธุ์ย่อยหลากหลายมากตามถิ่นที่อยู่บนเกาะเล็กๆ และผืนป่าที่สลับซับซ้อน ซึ่งในปัจจุบันสามารถซื้อขายได้ทุกชนิดพันธุ์ย่อยหากมีใบอนุญาติตามบัญชี 2 แต่ในปี 2010 นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจสอบถิ่นที่อยู่ ลักษณะภายนอก และพันธุกรรมแล้วพบว่าหากชนิดพันธุ์ย่อยชนิดพันธุ์ใดมีจำนวนประชากรในธรรมชาติเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ก็จะถูกเสนอให้ขยับขึ้นมาอยู่ในบัญชี 1 ซึ่งห้ามค้าขายได้ เป็นต้น

หากแต่การใช้สัตว์ป่าเป็นเครื่องมือการเจรจาเพื่อถ่วงดุลอำนาจทางการค้ากันก็มีให้เห็นทุกปี เช่น การประชุมที่จะถึงนี้ประเทศไทยกำลังจะเสนอให้ปรับลดจระเข้น้ำเค็มและจระเข้น้ำจืดในกรงเลี้ยงจากบัญชี 1 ที่ห้ามค้าขายลงมาบัญชี 2 ซึ่งถือเป็นผลดีกับการส่งออก แม้จระเข้ในธรรมชาติก็อาจจะได้รับผลกระทบด้วยเพราะมีประชากรไม่มากนัก แต่อย่างไรก็ตามอเมริกาที่มีอุตสาหกรรมเครื่องหนังขนาดใหญ่กลับตั้งท่าคัดค้าน เพราะหากจระเข้ถูกปรับลดบัญชีลงประเทศคู่แข่งก็จะมีกำลังต่อสู้ขึ้นมาทันที ในทางกลับกันอเมริกาได้เสนอให้หมีขั้วโลกขึ้นมาอยู่ในบัญชี 1 เนื่องจากเสี่ยงสูญพันธุ์ แต่ประเทศรัสเซียและเดนมาร์กคัดค้าน เพราะชนเผ่าพื้นเมืองยังมีวัฒธรรมการล่าอยู่

ส่วนเรื่องงาช้างที่ถูกจับตามองมากเพราะพ่อค้างา “ตัวเอ้” อย่างแทนซาเนียกำลังเตรียมเสนอให้ที่ประชุมอนุญาตให้ขายงาช้างให้จีน ทั้งๆ ที่สต๊อกงาช้างในแทนซาเนียที่เตรียมขายล้วนมาจากการล่าในธรรมชาติทั้งสิ้น แต่เมื่อจีนกำลังเนื้อหอม ประเทศที่คัดค้านร่างของจีนและแทนซาเนียอาจเกิดผลกระทบกับการค้าและความสัมพันธ์อื่นๆ ได้ คำถามคือใครจะกล้า? รวมทั้งประเทศไทยด้วยว่าจะกล้าปฏิเสธ หรือ vote no ให้กับร่างการค้างาช้างสัตว์ที่ได้ชื่อว่าประจำชาติหรือไม่?

ในเวลาที่นอแรดราคาเท่ากับทองคำ และงาช้างราคาคู่หนึ่งราคาหลายล้านบาท...นี่คือประเด็นที่นักอนุรักษ์และนักวิทยาศาสตร์ในสายงานที่เกี่ยวข้องกำลังจับตาดูรัฐบาลชุดนี้อยู่ หรือเราอาจจะเห็นเพียงเงาสีเทาที่ครอบคลุมจุดประสงค์ของการอนุรักษ์ และแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของเวทีการค้าสัตว์และพืชป่าอย่างถูกกฏหมาย ที่เชื่อมโยงไปถึงผลประโยชน์ทางการค้าในเวทีเจรจาระดับโลกแห่งนี้

ในครั้งหน้า นายปรี๊ดจะมาขอเล่าเรื่องนี้ต่อ แต่เป็นแง่มุมเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบชนิดพันธุ์และแหล่งที่มาของสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นชิ้นเนื้อวาฬในตลาดอาหาร และการตรวจสอบ DNA จาก หนัง งา เขา และนอของสัตว์ป่าว่ามาจากที่ไหน? เป็นสัตว์ป่าที่ถูกสวมใบอนุญาตเป็นสัตว์ในกรงเลี้ยงหรือไม่? แล้วนักวิทยาศาสตร์มีหลักการตรวจสอบกันอย่างไรบ้าง? รอติดตามอีกสองอาทิตย์ถัดไปนะครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย
ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์
กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว

ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์







กำลังโหลดความคิดเห็น