xs
xsm
sm
md
lg

เจ๋งดี! ผลิตสาหร่ายจากน้ำเสียโรงงานยางเลี้ยง “ไรแดง” อาหารปลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งใช้สาหร่ายและแคทีเรียช่วยกันบำบัดก่อนถ่ายลงบ่อเลี้ยง ไรแดง
สกว.- หากใครเคยได้สัมผัสกลิ่นเหม็นจากโรงงานแปรรูปน้ำยาง คงทราบถึงความรุนแรงของมลพิษทางอากาศนี้ที่ทำให้ชีวิตประจำวันของหลายคนไม่ปกติสุข หากแต่นักวิจัยได้พัฒนากระบวนการอันแยบยล นำน้ำเสียไปเลี้ยงสาหร่ายและแบคทีเรียเพื่อดึงสารอาหาร จากนั้นนำสาหร่ายไปเลี้ยง “ไรแดง” เหยื่อของปลาและลูกกุ้งอีกทอดหนึ่ง

ผศ.ดร.ชลธี ชีวะเศรษฐธรรม และ ผศ.ดร.วิไลรัตน์ ชีวะเศรษฐธรรม จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนวิจัยจากโครงการวิจัยแห่งชาติยางพารา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยความร่วมมือกับองค์การสวนยาง (อสย.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประสบความสำเร็จในการคิดค้นวิธีจัดการของเสียภายในโรงงานแปรรูปยางพารา ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างรายได้เพิ่มแก่โรงงานอีกต่อ

วิธีที่นักวิจัยคิดค้นขึ้นในงานวิจัยเป็นกระบวนการทางชีวภาพ โดยใช้แบคทีเรียสังเคราะห์แสงร่วมกับสาหร่ายน้ำจืดปล่อยในบ่อบำบัดน้ำเสีย แบคทีเรีย และสาหร่าย จะดึงธาตุอาหารและสารเคมีในน้ำเสียไปใช้เป็นอาหารเพื่อการเจริญเติบโต ทำให้น้ำเสียกลายเป็นน้ำดี นำกลับไปหมุนเวียนใช้ในโรงงานได้อีก หลังจากนั้น แบคทีเรียและสาหร่ายจะถูกกำจัดทิ้งโดยนำมาเป็นอาหารเลี้ยง “ไรแดง” สิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งซึ่ งใช้ร่วมกันในกระบวนการบำบัด

ทั้งนี้ ไรแดงเป็นอาหารธรรมชาติของลูกปลา ลูกกุ้ง โดยผลผลิตไรแดงที่ได้สามารถนำไปจำหน่ายเป็นอาหารสัตว์สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีราคาจำหน่ายตั้งแต่กิโลกรัมละ 80-100 บาท นอกจากนี้ งานวิจัยยังได้พิสูจน์ตรวจสอบแล้วว่า ไรแดงที่ได้จากกระบวนการน้ำทิ้งมีความปลอดภัย ไม่มีผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อาหารในระยะยาว

สำหรับ “กากขี้แป้ง” ของเสียในรูปของแข็งซึ่งเกิดจากกระบวนการปั่นเหวี่ยงในการผลิตน้ำยางข้น พบว่า อุดมไปด้วยแร่ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช โดยเฉพาะฟอสฟอรัส ซึ่งมีปริมาณสูงเทียบเท่ากับปุ๋ยฟอสเฟตที่ใช้ทั่วไป นักวิจัยจึงได้นำกากขี้แป้งผสมกับวัสดุอื่นๆ ในอัตราส่วนที่เหมาะสมพัฒนาเป็นสูตร “วัสดุปรับปรุงดิน” ที่ใช้ได้กับพืชทุกชนิด ช่วยเร่งอัตราการเจริญเติบโตของพืช

กากขี้แป้งยังใช้เป็นวัสดุรองก้นหลุมสำหรับกล้าพืชต่างๆ โดยผลิตในรูปแบบเม็ดบรรจุถุงที่เก็บรักษาและนำไปใช้ง่าย ทั้งนี้ วัสดุปรับปรุงดินที่พัฒนาขึ้นสามารถใช้ทดแทนปุ๋ยฟอสเฟตนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งในแต่ละปีมูลค่ากว่าหลายพันล้านบาท จึงช่วยลดต้นทุนของเกษตรกร ในขณะที่โรงงานสามารถลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมพร้อมกับสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของเสียกลับมาเป็นรายได้หมุนเวียนแก่โรงงาน

ระบบบำบัดของเสียด้วยวิธีชีวภาพจากงานวิจัยนี้ได้มีการทดสอบและถ่ายทอดให้กับโรงงานหลายแห่งนำไปใช้ อาทิ โรงงานผลิตน้ำยางข้นขององค์การสวนยาง อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช บริษัท พัทลุง พาราเท็กซ์ จำกัด จ.พัทลุง บริษัท ไทยอีสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด จ.ชลบุรี และบริษัท ดี.เอส.รับเบอร์ แอนด์ ลาเท็กซ์ จำกัด จ.ระยอง ซึ่งพบว่าใช้ได้ดีกับทุกแห่ง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบจัดการของเสียของโรงงาน

สามารถติดตั้งระบบบำบัดของเสียดังกล่าวเพื่อทดแทนระบบเติมอากาศ และระบบบำบัดด้วยสารเคมีที่โรงงานใช้อยู่เดิม ซึ่งช่วยให้โรงงานประหยัดต้นทุนค่าติดตั้ง ค่าบริหาร ค่าไฟฟ้าและสารเคมี รวมทั้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการใช้สารเคมี และยังมีประสิทธิภาพในการกำจัดของเสียได้ดีกว่าการใช้จุลินทรีย์ อีกทั้งติดตั้งง่าย สามารถปรับใช้ร่วมกับระบบเดิมที่โรงงานมีอยู่ อาทิ ระบบบ่อเติมอากาศและระบบแก๊สชีวภาพ ได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน ผลผลิตไรแดงและวัสดุปรับปรุงดินจากกากขี้แป้งที่ได้ในกระบวนการกำจัดของเสีย โรงงานสามารถนำไปใช้หรือจำหน่ายสร้างรายได้เพิ่ม เป็นการใช้ประโยชน์จากของเสียจากเดิมที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อกำจัดทิ้ง

วิธีจัดการของเสียในด้วยกระบวนการทางชีวภาพจากงานวิจัยนี้ช่วยให้โรงงานแปรรูปยางพาราสามารถจัดการ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของเสียทั้งในรูปของเหลว (น้ำเสีย) และของแข็ง (กากขี้แป้ง) จึงเท่ากับว่า กิจการสามารถใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบยางธรรมชาติได้ทุกส่วนโดยเกิดของเสียน้อยที่สุดหรือหรือไม่มีของเสียเลย

ผู้ประกอบการรายใดสนใจวิธีจัดการของเสียดังกล่าว สามารถติดต่อได้ที่บริษัท ซี ไซเอนซ์ แอนด์ คอนซัลแทนต์ จำกัด 306 หมู่ 4 ตำบลสมหวัง อำเภอกงหรา พัทลุง 93000 โทร.0 7460 5013 หรืออีเมล cwilai@bunga.pn.psu.ac.th และ cscience2008@hotmail.com
น้ำที่ผ่านการบำบัด
ไรแดงที่เลี้ยงด้วยสาหร่ายบำบัดน้ำเสียจากโรงงานแปรรูปยางพารา
กากขี้แป้งนำมาผสมเป็นปุ๋ยสูตรต่างๆ
ของเสียจากโรงงานแปรรูปยางพาราที่ยังไ่มผ่านการบำบัด






กำลังโหลดความคิดเห็น