xs
xsm
sm
md
lg

“มนตรี สุมณฑา” นักวิชาการปลาผู้เชี่ยวชาญเรื่อง “งู”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในขณะที่งานหลักของเขา คือ การศึกษาปลา แต่ “ความสะใจ” คือ สิ่งที่ได้จากการศึกษางูเป็นงานอดิเรก โดยจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาหันมาสนใจสัตว์เลื้อยคลานประเภทนี้ เพราะมีคนรังเกียจงูเยอะไป อีกทั้งผู้ใหญ่ก็สอนให้เด็กกลัวงู แต่เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับงูก็ไม่สามารถตอบได้ เขาจึงหันมาศึกษาด้วยตัวเอง

แม้จะถูกงูพิษกัดปางตายมาแล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งได้ทิ้งรอยแผลเป็นใหญ่ทาบบนท่อแขน และยังไม่นับรวมงูมีพิษอ่อนๆ ที่เขาถูกกัดมานับไม่ถ้วน แต่ มนตรี สุมณฑา นักวิชาการประมงชำนาญการ ประจำสถานีประมงทะเลจังหวัดระนอง ในสังกัดกรมประมง ยังคงเดินหน้าศึกษางูเป็น “งานอดิเรก” จนได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมประมงให้ศึกษา “งูทะเล” ของเมืองไทย

มนตรี เล่าประสบการณ์เฉียดตายจากอสรพิษ ว่า เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน มีกองถ่ายละครติดต่อให้นำงูเห่าไปถ่ายละคร ซึ่งเขาได้นำไป 3 ตัว แต่มีงูอยู่ตัวหนึ่งที่ไม่ได้เข้าฉากแสดงละคร และเป็นตัวที่กัดเขาจังๆ ทำให้เขาต้องอยู่โรงพยาบาลถึง 20 วัน ซึ่งพิษในกลุ่มทำให้ตายไม่ทำอันตรายเขาเท่าไหร่ แต่หมอดูอาการนานไปทำให้พิษในกลุ่มทำลายเซลล์มีเวลาทำลายเซลล์จนแขนเกือบเน่า ต้องล้างแผลเอาหนองใต้ผิวหนังออก ซึ่งหากช้ากว่านั้นก็ต้องตัดแขนทิ้ง

นอกจากนั้น เขาเคยถูกงูเห่ากัดอีกครั้งแต่ทำให้เกิดอาการบวมแค่ 3 วัน เพราะไม่ได้รับพิษเต็มๆ รวมถึงถูกงูพิษชนิดอื่นๆ เช่น งูเขียวหางไหม้ เป็นต้น ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่มองว่างูเป็นสัตว์ที่อันตราย ซึ่งหลายครั้งที่ถูกงูกัดนั้นก็เป็นเพราะเราเข้าไปยุ่งกับงูเอง แต่คนเรามักไม่พยายามอยู่ร่วมกับงู
ภาพงูสายม่านคอแดงที่มนตรีบันทึกไว้ได้
งูพิษอีกตัวที่เขาถูกกัด คือ งูลายสาบคอแดง ซึ่งเป็นงูกลุ่มลายสอที่มีพิษกัด แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่างูชนิดนี้มีพิษมากน้อยแค่ไหน และปกติเป็นงูที่ไม่กัดคน แต่ก่อนที่จะเข้าไปจับงูลายสาบคอแดงที่เลี้ยงไว้นั้นเขาไปจับเขียดมาก่อนทำให้กลิ่นติดมือ งูจึงคิดว่าเป็นเหยื่อและฉก

นักวิชาการปลาผู้เชี่ยวชาญเรื่องงูเล่า และบอกว่า เมื่อไปถึงมือหมอตอนนั้นเขาเกือบไตวาย และมีเลือดออกเต็มช่องท้อง แต่เขาก็รอดมาได้ เมื่อหมอลองเสิร์ชข้อมูลดูพบรายงานว่า ทั้งโลกมี 4 เคสที่ถูกงูชนิดนี้กัด และมี 1 เคสเป็นชาวเยอรมันที่ตาย โดย 3 เคสถูกกัดระหว่างให้อาหาร ส่วนอีกรายไม่ทราบแน่ชัดว่าถูกกัดเพราะอะไร พิษของงูชนิดนี้จะยับยั้งการแข็งตัวของเลือด หลังถูกกัดจะมีเลือดไหลตามเนื้อเยื่ออ่อน รวมถึงบริเวณแผลที่เพิ่งหาย

“ปัญหาคือ งูเป็นที่รังเกียจ เมื่อคนเจอแล้วก็จะถูกตีตาย รวมถึงการบุกรุกถิ่นอาศัย ทำให้งูหลายชนิดค่อยๆ หายไปจากถิ่นที่เมืองขยายตัวเข้าไป ส่วนงูเห่า งูเหลือม งูหลาม เป็นงูที่ปรับตัวให้อยู่ตามท่อต่างๆ ได้ คู่แข่งน้อยลง จึงพบว่ามีความชุกชุมในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมาก แต่งูอื่นๆ อยู่ไม่ได้ ส่วนงูในป่าก็ถูกบุกรุกพื้นที่ ทั้งสร้างเขื่อน ทำสวนยางซึ่งแม้จะมีต้นไม้แต่ไม่มีสัตว์ที่เป็นอาหารของงู และมีการใช้ยาฆ่าแมลง ทำให้งูที่ไปกินเหยื่อที่สัมผัสยาฆ่าแมลงตายไปด้วย” มนตรีเล่า
ภาพงูเขียวหางไหม้ตโตจันทบูรณ์ที่มนตรีบันทึกไว้ได้
ส่วนงูทะเลนั้นยังมีการศึกษาอยู่น้อย แต่ปัจจุบันมีการส่งออกหนังงู ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากการทำประมง และบางครั้งมนตรีก็ได้รับตัวอย่างให้มาจำแนกชนิดของงู โดยปัจจุบันไทยมีงูทะเลอยู่ประมาณ 30 ชนิด และมีโอกาสที่จะได้เจอชนิดใหม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับการรวบรวมข้อมูล ทั้งนี้ เขาหวังว่าการศึกษางูจะทำให้ได้ข้อมูลที่จะนำไปเผยแพร่ต่อเพื่อให้คนได้เห็นสิ่งที่เขาเห็น และได้ลดความรังเกียจลง

“ให้สัตว์ที่อยู่มาก่อนคนได้อยู่บนโลกนี้ต่อไป งูนั้นมีวิวัฒนาการสายเดียวกับกิ้งก่า เมื่อก่อนงูเคยมีแขนขา แล้วค่อยๆ หายไป ซึ่งเป็นผลดีเพราะทำให้ไม่เกะกะ และไปได้ทุกที่ เราจึงเจองูได้ในทุกถิ่นอาศัย ทั้งในน้ำ บนบก และบนต้นไม้” มนตรี กล่าว









กำลังโหลดความคิดเห็น