บทความโดย ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์
ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ www.siamensis.org
ภาพโดย เสฎฐวุฒิ วิเศษบุปผา
พ.ศ. 2547มีรายงานพบจระเข้ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นครั้งแรก จากบริเวณเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ผากล้วยไม้ ลำน้ำที่พบ คือลำตะคอง สายน้ำสายหลักที่ไหลหล่อเลี้ยงป่าเขาใหญ่ ว่ากันว่ามีสองตัว เกิดเป็นข่าวใหญ่โตอยู่พักใหญ่ ว่ามันมาได้อย่างไร ข่าวจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช ระบุว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ซึ่งมีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ยังไม่เคยมีรายงานพบจระเข้ในพื้นที่
ดังนั้นคาดว่าจระเข้ทั้งสองตัวจะเป็นจระเข้ที่มีคนนำมาปล่อย อีกสัก 2-3 ปีต่อมา พอจระเข้เริ่มตัวใหญ่ขึ้น เริ่มมีคนพบเห็นบ่อยขึ้น จึงกลายเป็นข่าวโด่งดังอยู่ช่วงหนึ่ง บ้างก็ว่าจะจับออกมา เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นจระเข้ไทยหรือไม่ แต่ในที่สุดก็สรุปว่า ปล่อยมันไว้ เพื่อทำการศึกษาวิจัยก่อน แล้วค่อยว่ากันอีกที
2-3 ปีผ่านไป จระเข้เขาใหญ่อยู่ในที่ของมันได้เป็นอย่างดี สรุปว่ามี 2 ตัว น่าจะเป็นเพศผู้ทั้งคู่ จากภาพถ่ายที่เห็นนักท่องเที่ยวถ่ายกันมาได้เรื่อยๆ พบว่ามีลักษณะภายนอกคล้ายกับจระเข้น้ำจืดไทยมากที่สุด (ที่เขียนเช่นนี้เพราะจระเข้ลูกผสมระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็มบางทีก็มีลักษณะ คล้ายจระเข้น้ำจืดได้เหมือนกัน) แต่จากพฤติกรรมที่เห็นว่าไม่ก้าวร้าว ทำให้ผมพอจะเชื่อว่ามันน่าจะเป็นจระเข้น้ำจืด ครอโคไดลัส สยามเอ็นซิส (Crocodylus siamensis) พันธุ์แท้ (แต่ก็ย้ำอีกครั้งว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นลูกผสมเหมือนกัน แต่ไม่ใช่จระเข้จากต่างประเทศหรือน้ำเค็มแน่นอน)
ดูแล้วเหมือนจะชื่นมื่น จระเข้อยู่ได้ คนก็ได้เห็นจระเข้ในธรรมชาติ ผมนึกดีใจว่า ยังมีจระเข้อาศัยอยู่ในธรรมชาติให้คนไทยได้ดูบ้าง เพราะปัจจุบันจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยจัดเป็นหนึ่งในชนิดที่ใกล้จะสูญ พันธุ์ไปจากธรรมชาติที่สุดแล้วชนิดหนึ่ง อย่างน้อยเรามีสองตัวนี้ไว้ ให้คนไทยได้เรียนรู้และคุ้นเคยที่จะเห็นจระเข้อยู่ในธรรมชาติบ้าง อีกหน่อยเราอาจจะมีโครงการปล่อยจระเข้ในป่าอื่นๆได้บ้าง
จระเข้น้ำ จืดสายพันธุ์ไทย เท่าที่ฟังมาและศึกษาตามข่าวและวิชาการ เป็นจระเข้ที่ไม่ดุร้าย ชาวบ้านที่คลองชมพู ในจ.พิษณุโลก ซึ่งยังมีจระเข้น้ำจืดตัวใหญ่ๆอาศัยอยู่ ก็ยืนยันว่ามันไม่เคยทำร้ายคน จระเข้ดุๆของไทย เท่าที่ติดตามข่าวและภาพดูเกือบทั้งหมดที่เห็นเป็นจระเข้น้ำเค็มซึ่งตัวใหญ่ กว่าและก้าวร้าวกว่ามาก ผมค่อนข้างมั่นใจว่าถ้าไม่มีไอ้บ้าที่ไหนอุตริไปกระโดดปล้ำจระเข้ เจ้าสองตัวที่เขาใหญ่คงจะไม่ทำร้ายใคร
เดือน ธค. 2555 จู่ๆก็มีข่าวออกมาว่า ต้องทำการจับจระเข้ทั้งสองตัวออกจากเขาใหญ่ โดยโดนตั้งข้อหาร้ายแรงหลายข้อ คือ
1.เป็นเอเลี่ยนสปีซีย์หรือชนิดพันธุ์ต่างถิ่นของเขาใหญ่ - ข้อนี้ ต้องบอกก่อนว่าผมเชื่อว่าสองตัวนี้เป็นจระเข้ปล่อยแน่ๆ แต่ผมไม่เชื่อว่าดงพญาเย็น ไม่เคยมีจระเข้ ดังนั้นการที่ไม่เคยเจอตั้งแต่ พ.ศ.2505 ไม่ได้หมายความว่าดงพญาเย็นไม่เคยมีจระเข้อาศัยอยู่ ทุกวันนี้ในอุทยานฯใกล้เคียงกับเขาใหญ่ เช่น ปางสีดา ก็ยังมีรายงานจระเข้น้ำจืดอาศัยอยู่ แล้วทำไมเขาใหญ่จะเคยมีจระเข้ไม่ได้ ถ้าจะห่วงเรื่องเอเลี่ยนสปีซีย์จะกลับกันด้วยซ้ำ เพราะลำตะคองบนเขาใหญ่ถูกกั้นฝายเป็นช่วงๆ ทำให้จากระบบนิเวศน้ำไหลกลายเป็นน้ำนิ่ง แล้วก็มีคนเอาปลานิลไปปล่อยจนขยายพันธุ์เต็มไปหมด จระเข้น่าจะคอยช่วยจับปลานิลกิน ควบคุมประชากรไม่ให้ปลาต่างถิ่นจากทวีปแอฟริกาชนิดนี้มีมากเกินไปด้วยซ้ำ ถ้าจะเครียดกับเรื่องนี้จริงๆ ผมว่ากรมอุทยานฯ น่าจะหันไปควบคุมพืชต่างๆที่ตัวเองนำขึ้นไปปลูกในอุทยาน พืชต่างถิ่นที่พบเป็นจำนวนมากในหลายอุทยาน ปลาต่างถิ่นในลำห้วย รวมไปถึงอุทยานอื่นๆที่มีข่าวชาวบ้านเอาวัวเข้าไปเลี้ยงมากกว่า ที่จะมาเครียดกับเจ้าสองตัวนี้
2.ดุร้าย - เกรงว่าจะทำร้ายคน ข้อนี้ผมเชื่อว่าสองตัวนี้ได้พิสูจน์มาหลายปีแล้วว่ามันไม่ได้ก้าวร้าวเลย ถ้าเรากันที่ให้ชัดเจน ไม่ให้คนลงไปเล่นน้ำไปกวนมัน ทำป้ายเตือนนักท่องเที่ยว ออกกฎการอยู่ร่วมกันให้ชัดเจน ผมว่าโอกาสที่มันจะทำร้ายคนนั้นน้อยมาก และคิดว่าเป็นโอกาสในการเรียนรู้ที่ดีของคนทุกเพศ ทุกวัยและทุกชาติ ถ้าจะกลัวสัตว์ทำร้ายนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเขาใหญ่ แล้วต้องจับออก เราคงต้องจับ เสือ ช้าง งูพิษ หมีควาย ทาก ยุง และ หมาใน ออกด้วย ผมคิดว่าคนมาเที่ยวป่า จะหวังว่าจะต้องปรอดภัยเหมือนเที่ยวห้างคงไม่ได้ ในเมื่อป่าคือบ้านของสัตว์ป่าและคนเป็นเพียงแค่ผู้มาเยือน เราต้องเคารพสัตว์และให้เกียรติ์มัน
ไม่ใช่ว่าเราไม่หวงสวัสดิภาพนักท่องเที่ยวหรือคนทั่วไป จะเห็นว่าไม่เคยมีใครออกมาคัดค้านโวยวายเวลามีจระเข้หลุดเข้าไปอยู่ในแหล่ง ชุมชน เราได้เห็นอธิบดีไกรทองถือปืนไล่ล่าไอ้เข้ ก็มีมาแล้ว คือเป็นผมๆ ก็ไม่สบายใจ แต่ 2 ตัวนี้มันอยู่ในป่านะครับ เราจะให้โอกาสมันอยู่บ้างไม่ได้หรือ? ในเมื่อที่ผ่านมาพฤติกรรมของมันก็ชัดเจนว่าไม่ได้มีความก้าวร้าวใดๆ
3.กินสัตว์หมดป่า – ตามข่าวบอกว่าจระเข้จะกินนากจนหมดลำน้ำ ข้อนี้ตามหลักแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้ ผมเชื่อว่านากเรียนรู้ที่จะอยู่กับจระเข้ได้ เคยดูสารคดีในต่างประเทศ จระเข้กลัวนากด้วยซ้ำ ข้อสำคัญ นากยังมีอยู่มากมายในลำตะคอง ล่าสุดก็มีคนถ่ายภาพได้เป็นฝูงใหญ่ ไม่ได้หมดไปอย่างที่มีการกล่าวอ้าง ส่วน เหี้ย งู ลิง รวมไปถึงกวางนั้น ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จระเข้จะกินจนหมดป่าเขาใหญ่ได้ โดยเฉพาะกวาง ซึ่งจระเข้น้ำจืด ไม่น่าจะมีขนาดใหญ่พอที่จะกินกวางได้ คือไม่ได้ต้องอ้างอิงวิชาการใดๆ ป่าเขาใหญ่กว้างใหญ่ขนาดไหน จระเข้สองตัวนี่จะกินสัตว์พวกนี้หมดได้อย่างไร? ลิงจะลงมาให้จระเข้กินปีหนึ่งสักกี่ตัว? เหี้ยปรับตัวเก่งอย่างนั้นจะโดนจระเข้กินหมดคงเป็นไปไม่ได้ ผมไม่เชื่อว่าในระบบนิเวศใหญ่ระดับเขาใหญ่ จระเข้แค่สองตัวจะกินอะไรให้หมดไปได้เลย
4.ถ้าต้องการตรวจ DNA ว่าเป็นพันธุ์ไทยแท้หรือไม่ ผมเชื่อว่าเรามีวิธีการที่ดีกว่าเช่นการใช้ตัวอย่างจากอุจาระ (ซึ่งถามผู้เชี่ยวชาญแล้วว่าสามารถทำได้) ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีกว่าเสี่ยงไปปล้ำจับมันขึ้นมาทั้งตัวมากมายนัก เพราะถ้าตรวจแล้วออกมาว่ามันเป็นพันธุ์แท้แล้วถ้าท่านอยากให้มันอยู่ต่อ มันอาจจะเครียดและไม่อยากอยู่แล้วก็ได้ คือถ้าตรวจแล้วไม่ใช่พันธุ์แท้ จะคิดอ่านจับมันก็ค่อยว่ากัน ดีกว่าไปไล่จับมาก่อนแล้วค่อยมาพิสูจน์
สรุปคร่าวๆ ว่าผมไม่เห็นด้วยที่มีการยัดเยียดข้อหาให้กับจระเข้เขาใหญ่รอบนี้ และจากเมื่อหลายปีก่อนที่เคยบอกว่าจะมีการทำการวิจัยจระเข้ทั้งสองตัว ทุกวันนี้ผมก็ยังไม่เห็นว่าจะมีงานวิจัยอะไรออกมา จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย ปัจจุบัน ขอย้ำอีกครั้งว่าเป็นชนิดที่ถือว่าเหลือจำนวนอยู่ในธรรมชาติน้อยที่สุดชนิดหนึ่งในโลก การที่มีสองตัวนี้อยู่ในจุดที่นักท่องเที่ยวเห็นได้ง่าย น่าจะใช้มันให้เป็นประโยชน์ เพื่อการท่องเที่ยว เพื่อการศึกษาให้กับประชาชนทั่วไป มากกว่าที่จะไปตั้งแง่กับมัน อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีการท่องเที่ยวในหลายประเทศทั่วโลกที่นักท่องเที่ยวกับจระเข้ใกล้ชิดกันจน กลายเป็นจุดขาย ผมเชื่อว่าเราก็ทำได้
ในวันที่เขียนบทความนี้ ผมไม่แน่ใจว่ามันโดนจับไปหรือยัง แต่ถ้ายัง ผมขอร้องให้ท่านเปลี่ยนใจเถิดครับ ศึกษาวิจัยมันก่อน อย่างที่เคยได้กล่าวกันไว้ แล้วถ้าผลการวิจัยมันออกมาว่ามันจะกินนาก กินเหี้ย กินลิง หมดป่าจริงๆ สรุปว่ามันมีพฤติกรรมก้าวร้าวไล่กัดนักท่องเที่ยวจริงๆ เกรงว่าจะเป็นภัยถึง แก่ชีวิต (โดยไม่ใช่นักท่องเที่ยวไปอุตริแหย่มันก่อน) วันนั้นเราค่อยมาจัดการมันก็ได้ แต่ตามข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันและการกล่าวอ้างที่ไม่มีรายงานวิชาการ ใดๆมารองรับตามข่าวนั้น
ผมยังอยากยกประโยชน์ในจระเข้ทั้งสองได้มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างอิสระของมันต่อไปก่อนครับ
หมายเหตุ
จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย หรือ Crocodylus siamensis ชื่อวิทยาศาสตร์ของจระเข้ชนิดนี้ตั้งชื่อ สยาม เป็นเกียรติแก่ประเทศไทย แต่จริงๆแล้วมีการกระจายพันธุ์ค่อนข้างกว้าง ในเขตประเทศเวียตนาม ลาว กำพูชา และ ไทย โตเต็มที่มีขนาดประมาณ 4 เมตร อาหารส่วนใหญ่เป็น ปลา สัตว์เลื้อยคลาน และ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ปัจจุบันจระเข้ชนิดนี้จัดเป็นจระเข้ที่มีจำนวนในธรรมชาติเหลืออยู่น้อยที่ สุดชนิดหนึ่ง ประชากรที่ใหญ่ที่สุดที่ยังเหลืออยู่น่าจะอยู่ในประเทศกำพูชา ส่วนในประเทศไทย มีรายงานพบในเขตป่าอนุรักษ์บางแห่งเช่น แก่งกระจาน ทุ่งแสลงหลวง และ ปางสีดา ยังไม่มีรายงานว่าประชากรที่พบสามารถขยายพันธุ์ได้ ในปัจจุบันจระเข้สายพันธุ์นี้ยังเหลืออยู่มากในที่เลี้ยง และมีภาคเอกชนพร้อมที่จะบริจาคสายพันธุ์แท้เพื่อนำมาปล่อยในธรรมชาติ แต่ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐใดๆ มีโครงการปล่อยจระเข้แต่อย่างใด (เห็นแต่โครงการจับออก)
คลิปฝูงนากในอินเดียไล่จระเข้
อ้างอิง
http://www.thairath.co.th/content/edu/315012
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000104081