งูเขียวตัวยาวกว่า 2 ฟุต กำลังเลื้อยผ่านม่านหน้าต่างท่ามกลางความตื่นตกใจของชาวออฟฟิศกว่าสิบชีวิต ในจังหวะที่ที่สัตว์ไม่มีขากำลังเลื้อยหาทางออก เจ้าหน้าที่อาคารก็เข้ามาในเหตุการณ์พร้อมไม้ท่อนใหญ่ หลังจากหลบหลีกกันอยู่สักพัก ที่สุดก็มีเสียงฟาดท่อนไม้ 2-3 ที และร่างยาวๆ ก็ถูกนำออกไป
เหตุการณ์ข้างต้น คือ ประสบการณ์ตรงของทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ และเชื่อว่า คงมีงูอีกหลายตัวที่เผชิญชะตาเดียวกันนี้เมื่อหลงเข้ามาในถิ่นอาศัยของคน ในฐานะที่ติดตามและนำเสนอข่าวสารวิทยาศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า คนและงูจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้หรือไม่?
เราเดินทางไปหาคำตอบนี้ที่คลังดูแลตัวอย่างสัตว์อ้างอิง พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ที่คลองห้า ปทุมธานี ซึ่งมีแหล่งรวบรวมตัวอย่างสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยมีตัวอย่างสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกว่า 20,000 ตัว ซึ่งคิดเป็น 80% ของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกทั้งหมดของไทย
สัญชัย เมฆฉาย ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลื้อยคลาน กล่าวว่า งูเป็นสัตว์ลึกลับและชอบหลบซ่อนตัว คนที่เจอส่วนใหญ่มักจะตีไว้ก่อน ทั้งที่จริงๆ แล้วงูหลายชนิดในระบบนิเวศจะกินหนูซึ่งมีแพร่พันธุ์ได้เร็วมาก และจะกลายเป็นปัญหาหากงูหายไปจากทุ่งนา หนูก็จะเต็มนา และจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดมาก
ผู้เชี่ยวชาญสัตว์เลื้อยคลานจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา บอกเราว่า งูพิษไทยมี 2 ประเภท คือ งูประเภทที่มีพิษทำลายประสาท ซึ่งมีฤทธิ์กดประสาท ทำให้ง่วงนอน หากหลับก็จะฟื้นได้ยาก เช่น งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม เป็นต้น และอีกประเภท คือ งูที่มีพิษทำลายระบบเลือด ทำให้แผลเน่า เช่น งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ เป็นต้น
สัญชัย แนะวิธีสังเกตงูพิษที่พบได้ปล่อย เช่น งูเห่า สังเกตได้เมื่อมีการแผ่แม่เบี้ย งูสามเหลี่ยมที่มีลำตัวไม่เป็นทรงกระบอกแต่เป็นรูปสามเหลี่ยม งูเขียวหางไหม้และงูกะปะที่มีลักษณะแก้มป่อง ตัวสั้น และมีเกร็ดละเอียด เป็นต้น แต่ปกติงูเป็นสัตว์ขี้อายและกลัวคนมาก คนที่โดนกัดคือกรณีจวนตัวจริงๆ หรือกรณีที่คนเข้าไปจับงู
“น่าสงสารที่งูหลายชนิดไม่มีพิษ แต่คนก็ไปตีมัน ทั้งที่มีเพียง 10% เท่านั้นที่เป็นงูพิษ” สัญชัยกล่าวและบอกว่า การปรับให้คนกลัวและทำร้ายงูน้อยลงนั้นต้องให้ความรู้เกี่ยวกับงู เพื่อให้คนแยกแยะได้ว่างูตัวใดมีพิษหรือไม่มีพิษ แต่ประเทศไทยมีข้อมูลเกี่ยวกับงูอยู่น้อย ซึ่งตำราเหล่านั้นมักอยู่ในห้องสมุด และคนไม่ค่อยหยิบอ่าน
ปัจจุบันทางพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเลี้ยงงูเป็นๆ ไว้ประมาณ 20 ตัว เพื่อใช้จัดแสดงในโอกาสต่างๆ อาทิ งูหลาม งูเห่า และงูเห่าเผือก งูกระด้าง งูหัวกะโหลก งูเขียวหางไหม้ เป็นต้น และยังเก็บรวบรวมตัวอย่างเพื่อการศึกษา โดยนิยมดองงูตัวอย่างแบบเปียดเพราะเก็บรักษาตัวอย่างได้เหมือนตัวจริงที่สุด เพียงแต่สีจะซีดลง จึงต้องบันทึกภาพไว้ก่อนฉีดฟอร์มาลีนและดองด้วยแอลกอฮอล์ 70% ซึ่งในพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศที่เก็บตัวอย่างลักษณะนี้ยังคงรักษาตัวอย่างไว้ได้มานาน 300-400 ปี นอกจากนี้ยังเก็บตัวอย่างแบบแห้งเพื่อใช้ในการจัดแสดง ซึ่งต้องเก็บรักษาด้วยลูกเหม็นเพื่อไล่มอดและด้วงกินซาก
สำหรับเมืองไทยเพิ่งมีการศึกษางูอย่างจริงจังได้ประมาณ 30 ปี และมีตำราภาษาไทยเพียง 2 เล่ม รวมถึงตำราที่มีฝรั่งเข้ามาศึกษางูในไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่บ้างประปราย โดยประเทศไทยมีงูกว่า 300 ชนิด ในจำนวนนั้นประมาณ 30 ชนิดเป็นงูทะเล ซึ่งยังมีผู้ศึกษาอยู่น้อยเพราะงูทะเลส่วนใหญ่เป็นงูมีพิษ ทำให้คนไม่ค่อยเข้าไปยุ่ง
“งูทะเลเป็นกลุ่มที่มีพิษน้อย แต่พิษมีความเข้มข้นสูง ส่วนใหญ่จะกัดปลาที่เป็นเหยื่อ และโดยธรรมชาติจะกลัวสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่า มักจะว่ายหนี การศึกษางูทะเลส่วนใหญ่จะไปจับที่ท่าเรือ และจะมีพ่อค้ามาติดต่อเพื่อซื้อหนัง บางครั้งเคยจับได้ 100 กว่าตัว และส่วนใหญ่เป็นชนิดเดียวกัน อาจจะออกมาผสมพันธุ์ แล้วติดอวน จมน้ำตาย เพราะงูต้องขึ้นมาหายใจเหมือนเต่า แล้วเก็บอากาศไว้ในปอด” สัญชัย กล่าวถึงงูทะเลที่เรายังมีความรู้อยู่น้อย
ส่วนผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องงูพิษเป็นพิเศษต้องยกให้สถานเสาวภา สภากาชาดไทย โดยทั้งเพาะเลี้ยง จัดแสดงและผลิตเซรุ่มจากงู ซึ่งการผลิตเซรุ่มนั้นจะรีดพิษจากงูแล้วฉีดให้ม้าสร้างภูมิคุ้มกัน จากนั้นนำเลือดม้าไปปั่นแห้งเก็บไว้ และละลายน้ำเมื่อนำไปใช้ และสัญชัยเองเพิ่งมีประสบการณ์ได้รับเซรุ่มหลังถูกงูกะปะกัดระหว่างทำสวน และพยายามเขี่ยงูให้พ้นทาง
หลังถูกงูกัด สัญชัย ขับรถจักรยานยนต์และนำร่างงูที่ถูกตีจนตายไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง แต่กว่าจะได้รับการฉีดเซรุ่มต้องรอให้แพทย์ดูอาการร่วม 9 ชั่วโมง ซึ่งจุดนี้เขากล่าวว่าคนทั่วไปไม่ค่อยเข้าใจว่าเหตุใดเมื่อไปพบแพทย์หลังถูกงูกัดแล้วไม่ได้รับเซรุ่มทันที เพราะเซรุ่มคือพิษงู แพทย์จึงต้องดูอาการและตรวจเลือดให้แน่ใจว่าได้รับพิษไปเท่าใด เพื่อให้เซรุ่มในปริมาณที่เหมาะสม แต่กรณีงูที่มีพิษร้ายแรงอย่างงูเห่า แพทย์อาจจะให้เซรุ่มเล็กน้อยเพื่อต้านพิษไว้ก่อน
“ผมไปถึงโรงพยาบาลบ่าย 3 กว่าจะได้ฉีดเซรุ่มก็เที่ยงคืน เพราะต้องเจาะเลือด เช็กผลเลือด ดูจนแน่ใจว่ามีปริมาณพิษเท่าไร จึงฉีดเซรุ่มให้เท่าปริมาณพิษที่ได้รับ ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับฉีดพิษเข้าร่างกายเพิ่ม เพราะเซรุ่มก็คือพิษงูนั่นเอง” ผู้ถูกงูพิษกัดครั้งแรกแต่ถูกงูไม่มีพิษกัดนับไม่ถ้วนเล่าประสบการณ์
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์เลื้อยคลาน บอกอีกว่า อาการหลังถูกงูกัดจะหนักหรือเบาขึ้นอยู่กับปริมาณพิษที่ได้รับ หากถูกงูกัดช่วงหัวค่ำมักได้รับพิษเยอะ เพราะงูเพิ่งออกล่าเหยื่อและยังมีพิษอยู่เต็มตัว แต่หากถูกกัดช่วงรุ่งสางงูมักใช้พิษไปเกือบหมด เมื่องูปล่อยพิษหมดแล้วต้องใช้เวลาอีกเป็นสัปดาห์กว่าจะผลิตพิษขึ้นมาทดแทน
อย่างไรก็ดี สัญชัย กล่าวว่า เมื่อถูกงูกัดให้สังเกตลักษณะรอยเขี้ยวที่บาดแผล หากเป็นงูไม่มีพิษจะมีรอยเขี้ยวที่สม่ำเสมอ แต่ถ้าเป็นงูพิษจะมีรอยเขี้ยวใหญ่ๆ ด้านหน้า 2 รู และควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งจะมีเซรุ่มของงูที่ชุกชุมในท้องถิ่นนั้นๆ สำรองไว้ ส่วนโรงพยาบาลเอกชนมักไม่ได้สำรองไว้มาก เพราะเซรุ่มเหล่านั้นมีอายุในการเก็บรักษาและมีค่าใช้จ่าย หากเก็บไว้โดยไม่ได้ใช้ก็กลายเป็นค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง
นอกจากการศึกษางูของหน่วยงานรัฐแล้วก็มีประชาชนบางส่วนที่นิยมเลี้ยงงู แต่งูเหล่านั้นมักเป็นงูจากต่างประเทศ เพราะงูไทยค่อนข้างดุและมีกฏหมายคุ้มครอง และงูต่างประเทศที่นำมาเลี้ยงนั้นเป็นงูที่ถูกเลี้ยงต่อเนื่องมาหลายรุ่น ทำให้ไม่ดุมาก
“งูที่นิยมเลี้ยงกันมากคืองูหลามซึ่งเชื่องกว่างูเหลือม เราแยกงูเหลือมและงูหลามได้จากลักษณะที่หัว เพราะลายบนตัวจะมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกันเลย โดยงูหลามจะมีลายสามเหลี่ยมเป็นปื้นใหญ่ที่หัว ตัวอ้วน สั้น ส่วนงูเหลื่อมจะมีขีดสีดำเล็กๆ ขีดเดียวบนหัว และมีลำตัวผอมยาว” สัญชัย กล่าว
เมื่อเอ่ยถึงการเลี้ยงงูเราจึงถามต่อไปถึงข่าวลือเกี่ยวกับงูกรีนแมมบ้า ที่หลุดออกมาในช่วงอุทกภัยเมื่อปี 2554 ซึ่งเขาได้ชี้แจงว่า งูแมมบ้ามีถิ่นอาศัยอยู่ในทะเลทราย ซึ่งเป็นที่โล่ง และปกติจะกินสัตว์เลื้อยคลาน แต่หากหลุดในสิ่งแวดล้อมต่างถิ่นจะหาอาหารไม่ได้ แต่ที่กลัวคือแม้จะอดอาหารแต่งูก็ยังอยู่ได้เป็นเดือน อย่างไรก็ดี หากหลุดจริงตอนนี้ก็น่าจะตายหมดแล้ว
“ส่วนที่กลัวว่างูจะผสมข้ามพันธุ์กับงูสายพันธุ์ไทยจนกลายเป็นงูที่ดุร้ายนั้น เป็นความเชื่อที่ผิดเพราะงูมีอวัยวะที่ป้องกันการผสมข้ามพันธุ์ โดยมีตุ่มหรือหนามเป็นลักษณะเฉพาะเหมือนแม่กุญแจและลูกกุญแจ และลักษณะเฉพาะนี้เองเราใช้ศึกษาเพื่อจำแนกงูชนิดใหม่ด้วย” ผู้เชี่ยวชาญสัตว์เลื้อยคลาน อพวช.กล่าว
...การเข้าไปทำความรู้จักและเรียนรู้งูภายในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาครั้งนี้ ทำให้เราได้เข้าใจและลดความกลัวงูลงไปได้มาก น่าเศร้าว่างูที่เราเจอส่วนใหญ่เป็นงูไม่พิษแต่งูเหล่านั้นมักถูกตีตายด้วยความกลัวของคน เพราะแม้กระทั่งงูเห่าที่มีพิษร้ายแรงยังไม่กัดคนพร่ำเพรื่อ หากงูแผ่แม่เบี้ยใส่เราก็เพียงยืนนิ่งๆ แล้วงูก็จะหนีไปเอง ก็ได้แต่หวังว่าในปี “มะเส็ง” นี้เราจะเปิดใจเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับงูได้อย่างสันติมากขึ้น...