สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน - อพวช.จับมือ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จัดนิทรรศการ “ภาพสะท้อน” เป็นครั้งในภูมิภาค เพื่อเสนอมุมภาพสะท้อนที่ปรากฏบนกระจกในรูปแบบที่แตกต่างกัน และให้ความรู้เกี่ยวกับแสง โดยมีกระจกแสดงในรูปแบบต่างๆ มากกว่า 25 รูปแบบ
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา จับมือ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เปิดใหญ่งาน “นิทรรศการภาพสะท้อน” ขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาค เผยนำเสนอในมุมภาพสะท้อนที่ปรากฏบนกระจกในรูปแบบที่แตกต่างกัน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับแสงพร้อมโชว์กระจกส่องผู้ต้องหาเป็นแห่งแรก และเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการสะท้อนของแสงในรูปแบบต่างๆ ผ่านกระจก
สำหรับนิทรรศการภาพสะท้อน (Reflection Exhibition) เป็นนิทรรศการที่ใช้กระจกเป็นเนื้อหาหลัก โดยนำเสนอในมุมของภาพสะท้อนที่ปรากฏจากกระจกในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น หลักการของแสง การสะท้อนของภาพและแสง ประวัติ ขั้นตอนการผลิต และพัฒนาการของกระจก โดยการนำเสนอแบ่งออกเป็น 3 โซนหลัก จัดแสดงบนพื้นที่กว่า 650 ตารางเมตร มีกระจกรูปแบบต่างๆ รวมกว่า 25 รูปแบบ ประกอบด้วย
โซน 1.ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับแสง ในโซนนี้จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับแสง เพราะการเห็นสิ่งต่างๆ ได้นั้น ก็เพราะแสงมาตกกระทบกับวัตถุ โดยลักษณะการสะท้อนจะขึ้นอยู่กับชนิดและลักษณะของตัวกลางที่แสงตกกระทบ ชิ้นงานที่อธิบายความรู้เกี่ยวกับแสง คือ ใยแก้วนำแสง, กระจกส่องดูผู้ต้องหา, ภาพลวงตา, ค้นฟ้าคว้าเพชร, กระปุกออมสินลวงตา และ ภาพ 3 มิติ
โซน 2.ปรากฏการณ์ภาพสะท้อนจากแสง โซนนี้ทำให้ทราบว่า กระจกสามารถสะท้อนแสงและภาพได้อย่างไร ด้วยการศึกษาถึงประวัติการค้นพบกระจกและขั้นตอนการผลิตส่วนประกอบ ประเภท และการสะท้อนภาพของกระจก ชิ้นงานในโซนนี้สร้างสรรค์จากสิ่งที่ได้จากการสะท้อนของกระจก เช่น ศีรษะมายา, กระจกสร้างภาพ, ไม้กวาดเหินเวหา, เขาวงกตมายา และแท่นกระจกไม่รู้จบ เป็นต้น
โซน 3.เลื่อมพรายสายรุ้ง สิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่มีลักษณะปรากฏคล้ายกระจกในตัวของมัน ด้วยความสวยงามจากสีสันของกระจกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เราเรียกกระจกในสิ่งมีชีวิตว่า “เลื่อมพรายสายรุ้ง” (Iridescent Wilderness) ซึ่งสิ่งที่คล้ายกระจกนี้ เกิดจากสารประกอบหลายชนิด เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต ไคตินเคอราติน หรือสารโปรตีน เราพบเลื่อมพรายรุ้งในสิ่งมีชีวิต เช่น ปีกผีเสื้อ แมลงทับ หอยมุก หางปลากัด ผิวหนังของงู และเส้นผมมนุษย์
ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า สถาบันได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ อพวช.ในการร่วมกันสร้างกิจกรรมด้านการเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่สาธารณะ รวมถึงการเผยแพร่ผลการดำเนินงานและประชาสัมพันธ์กิจกรรมของทั้ง 2 หน่วยงานให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และเสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงมีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การจัดแสดง “นิทรรศการภาพสะท้อน” นั้น ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการ อพวช.กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกในภูมิภาค และครั้งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังเป็นกิจกรรมแรกในการลงนามความร่วมมือของ 2 สถาบัน ซึ่งนิทรรศการดังกล่าวไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน และมีบางชิ้นที่พัฒนาให้มาใหม่ เช่น กระจกภาพ 3 มิติ และกระจกส่องผู้ต้องหา เป็นต้น โดยใช้งบประมาณในการจัดสร้างกระจกในรูปแบบต่างๆ นี้กว่า 4 ล้านบาท เพื่อให้นิทรรศการเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการสะท้อนของแสง
นิทรรศดังกล่าวจะจัดแสดงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ย.55 เป็นต้นไป ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และในวันเด็กปี 2556 ทางสถาบันจะจัดกิจกรรมขึ้นเพื่อเชิญชวนให้เด็กๆ และเยาวชนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้
นอกจากนี้ อพวช. ยังจะจัดคาราวานวิทยาศาสตร์ร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เพื่อนำวิทยาศาสตร์ออกไปสู่เยาวชนและประชาชนทั่วประเทศ พร้อมดึงท้องถิ่นมาร่วมส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวให้มากขึ้นด้วย
ผู้สนใจเข้าชมนิทรรศ ดังกล่าวได้ในวันเวลาราชการ โดยติดต่อส่วนงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน โทรศัพท์ 0-4421-7040 ต่อ 1251-2