xs
xsm
sm
md
lg

ทัวร์งานสัปดาห์วิทย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เด็กๆ อินเดียรอเข้าชมนิทรรศการสัปดาห์วิทย์ฯ ที่จัดอย่างเรียบง่ายแต่คงคุณภาพ บางคนนั่งรถไฟถึงสองวันเพื่อมาร่วมงานที่หมุนเวียนจัดไปทั่วประเทศ การจัดงานสัปดาห์วิทย์ของอินเดียหมุนเวียนไปต่างรัฐต่างๆ ตามแต่ละปี และมักเลือกจัดงานตามวิทยาลัยในชนบท เพื่อกระจายการจ้างงานและองค์ความรู้ให้ประชาชน (ระบบวิทยาลัยในอินเดียมักมีสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยม อาชีวศึกษาจนถึงอุดมศึกษาอยู่รวมกัน อาจารย์ที่สอนระดับสูงสามารถมาร่วมกิจกรรมกับเด็กเล็กๆ ได้โดยง่าย)
ใครไปงานสัปดาห์วิทย์ฯมาแล้วยกมือขึ้น? ผมเคยไปงานสัปดาป์วิทย์ที่มหาวิทยาลัยใกล้บ้านครั้งแรกสมัยเป็นเด็กนักเรียนหัวเกรียน จนกระทั่งปีนี้ผมไปงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติในฐานะคนทำงานที่มีกิจกรรมเล็กๆ อยู่ในนั้น ตลอดเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ผมว่างานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ของบ้านเราพัฒนาขึ้นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจและมีภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีนิทรรศการ กิจกรรม การประกวดแข่งขันแปลกใหม่เกิดขึ้นมากมาย และแน่นอนว่ากิจกรรมที่หลากหลายนี้สามารถสร้างประสบการณ์ร่วมและจุดประกายความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์ให้เยาวชนคนไทยตัวเล็กของเราได้ไม่น้อย

ทว่าหากลองกระเทาะเปลือกที่ฉาบด้วยรสหวานของกิจกรรมแปลกตา สวนสนุกวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ยักษ์ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ระดับโลกที่เด็กไทยได้สัมผัสก่อนใครแทบทุกปี ผมกลับมีคำถามถึงก้าวต่อไปของงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ในฝัน ที่น่าจะลงลึกได้ถึงแก่นของวิทยาศาสตร์ภาคประชาชนอยู่สองข้อ คือ เราจะสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อเด็กไทยจะได้ไม่เป็นเพียงแต่ผู้รอรับ รอเลียน(แบบ) แต่จะเป็นผู้สร้างองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีเพื่อนำเงินตราเข้าประเทศได้หรือไม่? ส่วนข้อที่สองคือความตระหนักรู้ทางวิทยาศาสตร์จะสามารถสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมที่มีเวลาจำกัดได้อย่างไร?

ผมมีตัวอย่างการจัดสัปดาห์วิทย์ฯ ในประเทศอื่นๆ กันว่าเค้าจัดการกันแบบไหนบ้าง สามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมกระบวนการคิดภาคประชาชนให้น่าสนใจได้อย่างไร เผื่อปีหน้าอาจจะมีกิจกรรมใหม่ๆ ให้เราได้ร่วมสนุกเพิ่มขึ้นอีกก็ได้

รูปแบบแรกที่โดนใจจนผมขอเรียกว่า “สัปดาห์วิทย์ฯ ชิดชาวบ้าน” ต้องยกนิ้วให้รัฐบาลออสเตรเลียที่สามารถสร้างความตระหนักและเพิ่มพูนกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้กับประชาชนได้อย่างน่าสนใจ เพราะไฮไลท์ของสัปดาห์วิทย์แบบออสซี่ ไมได้อยู่แค่ในห้องประชุม แต่เป็นการลงแขกทำวิจัยแบบบ้านๆ หรือภาษาวิชาการเรียกว่า ระบบ “Citizen Science” ซึ่งใช้ระบบอาสาสมัครทั่วประเทศ ช่วยกันเก็บข้อมูลง่ายๆ น่าสนใจรอบๆ ตัวมาวิเคราะห์ร่วมกัน โดยได้รับความร่วมมือกับ Australian Broadcasting Corporation (ABC) ตัวอย่างโปรเจกต์ที่ถูกใจนักชีววิทยาแบบผม คือ ในปี 2010 ชาวออสซี่กว่า 12,000 ร่วมกันสำรวจพฤติกรรมแกะที่มีความสัมพันธ์กับปริมาณน้ำนมในฟาร์มของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนุกที่ เด็กๆ พ่อแม่ ไล่ไปตั้งแต่ยายสีตาสาจนถึงตาจอห์นยายแอมมีเกษตรกรฟาร์มแกะ ก็สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ได้อย่างเท่าเทียม ส่วนสัปดาห์วิทย์ปี 2012 ชาวออสซี่เค้าร่วมวงกันเก็บสถิติมลพิษทางเสียงจากพื้นที่ใกล้ตัวที่สัมพันธ์กับสุขภาพหูและการได้ยินของตนเอง วิธีนี้น่าสนใจว่าสามารถปรับใช้กับสังคมได้ไม่ยาก เพราะหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ก็เกิดกระแสอาสาสมัครในคนไทยรุ่นใหม่ไปเต็มๆ แถมวัยรุ่นไทยเรายังใช้สังคมออนไลน์สูงติดอันดับโลกอยู่แล้ว ต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสกันเสียหน่อย

อันดับต่อมาที่ต้อง “กดไลค์” ผมขอให้ชื่อว่า “สัปดาห์วิทย์ใกล้ชิดความหลากหลาย” ซึ่งผมชื่นชมมาก เพราะไปเห็นมากับตา คือ งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ของอินเดีย ซึ่งถือเป็นงานใหญ่และมีจุดเด่นที่ต้องร้อง “เยี่ยมมากนะ...นายจ๋า” เพราะรัฐบาลอินเดียให้เกียรติในความหลากหลายของชาติพันธุ์ และสามารถดึงเด็กอินเดียให้ “คิดแบบดินสู่ดาว” ไฮไลท์ของงานเป็นการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนักเรียนนักศึกษาบนหัวข้อที่ถูกตั้งบนฐานวิถีชีวิตและบริบทแบบอินเดีย

ในปีที่ผมไปหัวข้อของงานคือ “Better Biodiversity for Better Life” ในห้องนำเสนอผลงานมีกรรมการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมานั่งเป็นกรรมการราวกับสอบวิทยานิพนธ์ แต่คำถามจะเน้นที่กระบวนการคิด และการทำงานเป็นทีมมากกว่าเน้นผลที่ได้ เด็กๆ เองก็ไม่ได้แข่งกันทำโปสเตอร์หรูหราอลังการกลับถือโปสเตอร์ทำมือง่ายๆ บ้านๆ มาแสดง แต่เนื้อในอัดแน่นด้วยคุณภาพตามโจทย์ที่แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งออกมาจากปัญหาที่พวกเขาพบเจอในชีวิตประจำวัน เช่น การทดลองคุณภาพปุ๋ยจากดินใต้ไม้ที่มีนกเอี้ยงมาเกาะรวมกัน สำรวจรูปแบบของเครื่องจักสานจากป่าไผ่ในชุมชน เป็นต้น การนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ก็น่าสนใจเพราะมีการใช้ภาษา ถึง 13 ภาษา ทั้งอังกฤษ ฮินดี ทมิฬ ฯลฯ ตามแต่ความถนัดของนักเรียน

กรรมการจัดงานเล่าให้ผมฟังว่าเขาไม่ได้ต้องการให้นักเรียนมาแข่งขันกันเอาถ้วยเอาโล่ แต่ต้องการกระตุ้นให้มีกระบวนการคิดที่ดี รางวัลจึงมีแค่การให้เหรียญทองและเหรียญเงินตามระดับความสามารถเพื่อเป็นกำลังใจเท่านั้น สุดท้ายที่น่า “กรี๊ด” ตามที่สุดคือการปรากฏตัวของ “ดร.เอพีเจ อับดุล กาลัม” อดีตประธานาธิบดีและวิศวกรอวกาศ ที่เรียก “เสียงกรี๊ด” ของเด็กอินเดียทั้งห้องประชุมได้อย่างยาวนาน วิ่งไล่ตามขอจับมือจนครูต้องเป่านกหวีดไล่ให้นั่งที่ แสดงให้เห็นถึงแรงจูงใจจาก “คนต้นแบบ” หรือ “Role model” ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่จับต้องได้จริงของเด็กอินเดีย ผมจึงไม่แปลกในเลยที่ปลายปีหน้าอินเดียจะส่งกระสวยอวกาศไปดาวอังคารแล้ว เพราะเด็กของเค้ามี “ตัวจริงในหัวใจ” ดังนั้นงานสัปดาห์วิทย์ของอินเดียจึงไม่ต้องว่าจ้างดาราวัยใสมาออกโรงเรียกแขก จนต้องแอบคิดว่าถ้านักวิทย์ไทยเก่งๆ มาเดินโชว์ตัวในงาน วัยรุ่นไทยคงแบะปากใส่ พร้อมกับพูดว่า “ป้า ลุง นี่ใคร? เดินเกะกะเวอร์!” ซึ่งคงต้องค่อยๆ ส่งเสริมกันไป เพราะตอนนี้นักวิทย์รุ่นใหม่หน้าใสๆ ก็เริ่มมีเด็กๆ ปลื้มมากขึ้นบ้างแล้ว

พี่ใหญ่ใกล้ตัวอย่างจีนมีการจัดการคล้ายกับเรา คือ จัดงานใหญ่ไว้ที่เมืองศูนย์กลาง (ปีนี้จัดที่เซี่ยงไฮ) และให้องค์กรและสถาบันการศึกษาในมณฑลต่างๆ จัดงานเล็กแบบดาวราย ข้ามไปฝั่งสหภาพยุโรปก็เคยจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ในระดับภูมิภาคมาแล้ว ในชื่อ “European Science Week” ในช่วงปี 2000-2006 ซึ่งตอนนี้กระแสประชาคม ASEAN กำลัง “ขึ้นหม้อ” หากใครทำคลอด “ ASAEN Science Week ” ได้คงจะดีไม่น้อย และน่าถือจะเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และลดปัญหาความยากจนได้อีกทางหนึ่ง

ส่วน “เจ้าพ่อ” วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างอเมริกาและอังกฤษที่สั่งสมงานด้านวิทยาศาสตร์มาเป็นเวลานานนั้น แทบจะเป็นต้นแบบสากลของงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์เลยก็ว่าได้ เพราะความหลากหลายของกิจกรรมและการกระจายการเข้าถึงของประชาชนนั้นถือว่าทำได้ไม่มีที่ติ โดยรัฐเป็นเจ้าภาพจัดทำเว็บไซต์สัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้นโดยเฉพาะแล้วนำข้อมูลงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ที่จัดขึ้นทั้งในศูนย์วิจัย สถานศึกษา บริษัทเอกชนมารวบรวมไว้ให้ครูอาจารย์ ผู้ปกครอง และนักเรียนักศึกษาที่สนใจ สามารถติดตามหรือค้นหากิจกรรมเรือนพันเรือนหมื่นที่จัดใกล้บ้านได้ภายในไม่กี่ “คลิก” ส่วนกิจกรรมก็มีหลากหลาย ทั้งการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ กิจกรรมอาสาสมัครวิทยาศาสตร์ การบรรยายโดยนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล ไล่ไปจนถึงปาร์ตี้แบบวิทย์ๆ ที่มี Science Show ดูแกล้มขนมอร่อยๆ การจัดการให้ประชาชนเข้าถึงกิจกรรมทั่วประเทศบนเว็บไซด์เดียวนี้ บ้านเราก็น่าจะจัดการได้ไม่ยาก เพียงแค่มีองค์กรหลักๆ สักแห่งเป็นเจ้าภาพ เพราะสถาบันการศึกษาในแทบทุกจังหวัดล้วนแต่จัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ในช่วงเวลาที่พร้อมกันอยู่แล้ว ถ้าสามารถจัดการระบบการเข้าถึงข้อมูลได้ดี ก็น่าจะสามารถจัดระบบการประกวดโครงงาน การถ่ายทอดสดการบรรยายจากนักวิทย์ชื่อดัง การจัดการแข่งขันการทดลองเหมือนฟุตบอล คาราวานวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่สร้าง National Project ให้ประชาชนมีส่วนร่วมแบบพี่ออสซี่เค้าทำได้ คงจะเป็นอะไรที่วัยรุ่นเค้าเรียกว่า “มันฟินมาก!”

จากตัวอย่างที่ผมหยิบมาเล่า จุดที่น่าสนใจของสัปดาห์วิทย์ฯ ในต่างแดนที่เราน่าจะถอดบทเรียนและมาปรับใช้ได้ คือ การสร้างกิจกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อความตระหนักรู้สู่ภาคประชาชน ความหลากหลายของวิถีชีวิต และการเข้าถึงข้อมูลในภาพรวมของงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ทั้งประเทศ ซึ่งในปีนี้มีหลายกิจกรรมที่ผมประทับใจและใกล้เป็นสัปดาห์วิทย์ในฝัน (ของผม)แล้ว เช่น การนำเสนอ “วิทยาศาสตร์ในโลกมุสลิม” ซึ่งผมคิดว่าเป็นนิทรรศการที่แปลกใหม่ และส่งเสริมทรรศนคติที่ดีในความหลากหลายทางของสังคมไทย ส่วน “วิทยาศาสตร์กับสายน้ำ” ที่แสดงวิถีชีวิตของคนไทยกับสายน้ำและคุณสมบัติของน้ำก็ทำให้คนเข้าใจน้ำซึ่งเป็นสิ่งใกล้ตัวมากในวันนี้ และเราต้องเรียนรู้เพื่อเตรียมรับมือกับพลังแห่งคงคาเมื่อคราวท่านโมโห และยังมีอีกหลายนิทรรศการที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้อย่างตื่นตาตื่นใจไปพร้อมกับความรู้ใหม่ๆ ที่สอดแทรกอยู่ทั่วทั้งงาน

แม้วันนี้คนส่วนใหญ่จะยังมองวิทยาศาสตร์เป็นยาขม ทำให้สัปดาห์วิทย์ต้องหุ้มห่อด้วยเปลือกรสหวานเพื่อเชิญชวนคนเลือกชิมตามจริตและรสนิยม แต่หากมองลึกถึงแก่นของวิทยาศาสตร์ที่ต้องการสร้างกระบวนการคิดและความตระหนักรู้เพื่อปรับใช้ในชีวิตจริง งานสัปดาห์วิทย์แห่งโลกอนาคตอาจต้องมองหาวิธีแยบคายตามสไตล์ไทยๆ นำพาผู้คนเจาะให้ถึงแก่นของวิทยาศาสตร์ให้เกิดเป็นสังคมอุดมปัญญาอย่างแท้จริง เผื่อสักวันเราจะได้ไม่ต้องเห็นคนไทยไหว้ “หัวปลีพิการ” ออกข่าวเช้ากันเสียที

แหล่งข้อมูลงานสัปดาห์วิทย์ของประเทศต่างๆ ในปี 2012
ไทย http://www.nst2012.com/history.html
อังกฤษ http://www.britishscienceassociation.org/web/nsew/
ออสเตรเลีย http://www.scienceweek.net.au/
แอฟริกาใต้ http://www.scifest.org.za/
สหภาพยุโรป http://www.euscea.org/

วิทยากรรุ่นจิ๋วแดนโรตี (ประมาณ ป.2-3) สามารถโชว์การทดลองทางฟิสิกส์และอิเล็กทรอนิกส์ให้เด็กด้วยกันชมอย่างคล่องแคล่ว ราวกับอับดุล...ถามอะไรตอบได้หมด! การสร้างความตระหนักและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ดี ต้องได้ความร่วมมือจากครูและผู้ปกครองในการสนับสนุนให้เด็กๆ เพื่อพัฒนาสิ่งที่เห็นจนสามารถ คิดต่อ ต่อทำได้ด้วยตนเอง ก่อนออกจากบ้านลองชวนกันเปิดเว็บไซด์งานสัปดาห์วิทย์เพื่อหาโจทย์สนุกๆ ให้เด็กๆ ได้ค้นหา เมื่อกลับถึงบ้านลองชวนกันสรุปหรืออภิปรายสิ่งที่เห็น และมองหาเรื่องเหล่านั้นรอบๆ ตัว ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีวิธีหนึ่ง
คาราวานวิทยาศาสตร์ของไทยซึ่งนำไปจัดแสดงที่ สปป.ลาว ในปี 2553 การจัดคาราวานเป็นอีกวิธีการหนึ่ง ที่สามารถกระจายองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สุ่ชุมชนได้ ในบ้านเรามีคาราวานที่จัดทำโดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และกลุ่มอาจารย์ร่วมกับนักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัย หากขยายวิธีการนี้ไปสู่องค์กรต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมก็น่าจะสามารถนำวิทยาศาสตร์สู่ชุมชนและประชาชนทั่วไปได้โดยไม่มีข้อจำกัดของพื้นที่ (thaiembassy.org)
รศ.ดร. กำจัด มงคลกุล อดีตอาจารย์รั้วจามจุรี อดีตนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ และประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หลายสมัย ผู้เสนอให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็นวันวิทยาศาสตร์ สนับสนุนให้มีการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์  รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น โครงการโอลิมปิกวิชาการ ฯลฯ  ถือเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ที่มีคุณูปการต่อประเทศไทยอย่างยิ่งท่านหนึ่ง (mongkolkul.com)
*********************

เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด”
นักเรียนทุนวิทยาศาสตร์ที่บ่น โวยวาย บ้าพลังและไม่ชอบกรอบ แต่มีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์ล้นเหลือระหว่างตะกายบันไดการศึกษาสู่ตำแหน่ง “ด็อกเตอร์” ด้านชีววิทยา ทั้งงานสอน ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการเรียนวิทยาศาสตร์ ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ กรรมการตัดสินโครงงานวิทยาศาสตร์และวิทยากรบรรยายเรื่องวิทยาศาสตร์ใกล้ตัว

"แคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ สะกิดต่อมคิด"

อ่านบทความของนายปรี๊ดได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์
กำลังโหลดความคิดเห็น