ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ม.ราชภัฎโคราช เตรียมจัดงาน “ประชุมวิชาการโลกด้านบรรพชีวินวิทยาและลำดับชั้นหิน 2011 และงานฟอสซิลเฟสติวัล” ขึ้นเป็นครั้งแรกของไทย “สมเด็จพระเทพฯ” เสด็จเป็นองค์ประธานเปิด 28 พ.ย. -5 ธ.ค. นี้ ที่โคราช เพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวง 84 พรรษา และสร้างเครือข่ายนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์ทั่วโลก เผยมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 33 ประเทศ ร่วม 300 คน พร้อมนำคณะเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวย้ำสร้างความเข้าใจไทยไม่ท่วมทั้งประเทศ
ที่ห้องประชุมสุวัจน์ ลิปตพัลลภ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา พร้อมด้วย ผศ.ดร.เศาวนิต เศาณานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา และ ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกันแถลงข่าว “การประชุมวิชาการโลกด้านบรรพชีวินวิทยาและลำดับชั้นหิน 2011 และงานฟอสซิลเฟสติวัล” เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลวโรกาส ทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา
ผศ.ดร.เศาวนิต เศาณานนท์ อธิบการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับ จังหวัดนครราชสีมา และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน และองค์กรชั้นนำทางด้านดึกดำบรรพ์จากนานาชาติ กำหนดจัดการประชุมวิชาการโลกด้านบรรพชีวินวิทยาและลำดับชั้นหิน 2011 และงานฟอสซิลเฟสติวัล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา (World Conference on Paleontology & Stratigraphy 2011 and Fossil Festival in honor to His Majesty the King’s 84 th Anniversary (WCPS 2011) ขึ้น
ในวโรกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานวันที่ 28 พ.ย. 2554 ที่โรงแรมสีมาธานี จ.นครราชสีมา ซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 33 ประเทศทั่วโลกรวมจำนวนทั้งสิ้น 270 คน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายและเป็นเวทีระดับโลกของนักวิทยาศาสตร์ ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์ และธรณีวิทยาจากทวีปต่างๆ ให้มีโอกาสได้นำเสนอผลงานวิจัยการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ๆ และเพื่อส่งเสริมการศึกษาค้นคว้า เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านบรรพชีวินวิทยา ของนักวิจัยและนักวิชาการด้านบรรพชีวินวิทยา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องบรรพชีวินวิทยาสู่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปให้มีความเข้าใจและเล็งเห็นคุณค่าของทรัพยากรทางด้านฟอสซิล ซากดึกดำบรรพ์มากยิ่งขึ้น
ผศ.ดร. ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีการศักยภาพด้านทรัพยากรดึกดำบรรพ์ที่โดดเด่น ในด้านพืช เป็นแหล่งที่เต็มไปด้วยไม้กลายเป็นหินจากพื้นที่ที่เคยเป็นลำน้ำโบราณ ทั้งพืชกลุ่มสนในยุคของไดโนเสาร์ พืชมีดอกในยุคของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งมีหลากหลายชนิด
ในด้านฟอสซิลดึกดำบรรพ์ มีการค้นพบไดโนเสาร์อิกัวโนดอนท์สายพันธุ์ใหม่ 2 ชนิด คือ ราชสีมาซอรัส สุรนารีอี และ สยามโมดอน นิ่มงามไม และยังพบไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ กลุ่มคาร์ซาโรดอนโตซอเรียน และสัตว์อื่นๆ ที่ร่วมยุคกับไดโนเสาร์ เช่น จระเข้โบราณ โคราโตซูคัส จินตสกุลไล และ เต่า คิซิลคูเมมิส โคราชเอนซิส และสัตว์อื่นๆอีกหลายชนิด
นอกจากนี้ พบว่าดินแดนของจังหวัดนครราชสีมาในยุคนั้นเป็นที่อาศัยของสัตว์มากมาย อาทิ เอบ โคราโตฟิ เธคัส พิริยะอิ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของอุรังอุตัง สัตว์คล้ายหมูและฮิปโป ที่สำคัญมากคือ มีการพบช้างโบราณในแหล่งเดียวไม่ต่ำกว่า 8 สกุล จากการค้นพบทั้งหมด 42 สกุลทั่วโลก
ผศ.ดร. ประเทือง กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีการจัดงานฟอสซิลเฟสติวัล ซึ่งเป็นงานมหกรรมการแสดงเกี่ยวกับฟอสซิลครั้งแรกของประเทศ ณ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีฯ บ้านโกรกเดือนห้า ต.โคกกรวด อ.เมือง จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 29 พ.ย. -5 ธ.ค.2554 โดยมีองค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศที่มีฟอสซิลดึกดำบรรพ์ ไว้ในครอบครอง เช่น พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟูกูอิ (ประเทศญี่ปุ่น) พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์สิรินธร พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ฯลฯ นำฟอสซิลมา ร่วมจัดแสดงนิทรรศการฟอสซิลดึกดำบรรพ์
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมคาราวานวิทยาศาสตร์ของ อบวช. ตอน คืนชีวิตให้กับซากสัตว์ , การแสดงนิทรรศการฟอสซิลแพนด้าอีสาน เมื่อ 200,000 ปีก่อน และ ยังมีกิจกรรมท่องทะเลโบราณ 275 ล้านปีก่อน และการจำหน่ายสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ของดีโคราชด้วย
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานประธานสภามหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานประชุมวิชาการฯ ครั้งนี้ถือเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยด้วย เนื่องจากหลังเสร็จสิ้นการประชุมทางวิชาการแล้ว จะมีการนำผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลกไปเที่ยวชมและสัมผัสกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ จ.นครราชสีมา เพื่อสร้างความเข้าใจว่าประเทศไทยไม่ได้เกิดน้ำท่วมทั่วประเทศ เนื่องจากภาพข่าวที่ออกไปทำให้ต่างประเทศมองว่าประเทศไทยถูกน้ำท่วมทั้งหมด จึงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ฉะนั้นการประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของโคราชให้คนทั้งโลกได้รู้จักด้วย