xs
xsm
sm
md
lg

ก.วิทย์มอบ “แผนที่ดาวเทียมหลวงพระบาง” ให้ลาว สานสัมพันธ์วิทยาศาสตร์ไอที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศไทย (ซ้าย) และ ดร.บุญเตียม พิสมัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานองค์การวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ขวา)
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – ก.วิทย์ไทยมอบ “แผนที่ดาวเทียมหลวงพระบาง” ให้ลาว พร้อมประชุมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เชียงใหม่ หลังใช้ข้อมูลจาก THEOS ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรมาจัดทำ ออกมาเป็นแผ่นพับ 1,000 ชุดกับคีออสมัลติมีเดียตั้งที่สนามบินหลวงพระบาง ฝ่ายลาวเชื่อเป็นประโยชน์ทั้ง “วิทย์-ท่องเที่ยว” ส่วนฝ่ายไทยเตรียมนำข้อมูลจากดาวเทียมด้านอื่นขยายประโยชน์เพิ่มร่วมกัน

วันนี้ (26 ก.พ. 54) ณ ห้องเวียงฟ้า รติลานนา ริเวอร์ไซด์ สปา รีสอร์ท มีพิธีมอบแผนที่ท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกหลวงพระบางจากดาวเทียม THEOS ระหว่างนายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศไทย และ ดร.บุญเตียม พิสมัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานองค์การวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมี ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รักษาการผู้อำนวยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และนายพิมพา อุททจัก รักษาการหัวหน้าห้องการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สปป.ลาว ร่วมในพิธี

โดยพิธีมอบแผนที่ท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกหลวงพระบางจากดาวเทียม THEOS ในครั้งนี้ จัดขึ้นควบคู่ไปกับการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทย-ลาว ครั้งที่ 5 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 25-26 ก.พ. 2554 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยได้มอบแผนที่ท่องเที่ยวจำนวน 1,000 ชุด และตู้ชุดคอมพิวเตอร์แสดงผลแผนที่แบบ Multimedia จำนวน 1 ตู้ ให้กับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของ สปป.ลาว ซึ่งตู้แสดงผลแผนที่ดังกล่าวจะถูกนำไปติดตั้งที่สนามบินเมืองหลาวงพระบาง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวในการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่างๆ

ทั้งนี้ื การจัดทำแผนที่ดังกล่าวเป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างกันของทั้งสองประเทศในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2546 โดยโครงการจัดทำแผนที่มรดกทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เมืองหลวงพระบาง เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) กับองค์การวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สปป.ลาว ตามข้อตกลงของการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทย-ลาว ครั้งที่ 4 (Agree Minutes of the 4th Ministerial Meeting on Cooperation of Science and Technology between the Kingdom of Thailand and Lao People’s Democratic Republic) เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2553

อย่างไรก็ตาม ในข้อตกลงดังกล่าวได้ระบุที่จะจัดทำแผนที่ท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกหลวงพระบางโดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทย รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลจากระยะไกล และสารสนเทศภูมิศาสตร์ระหว่างกัน ซึ่งทั้งนักวิจัยจากไทยและสปป.ลาวได้ออกสำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนามในพื้นที่เมืองมรดกโลกหลวงพระบาง เพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากดาวเทียม THEOS จนกระทั่งประสบผลสำเร็จ และได้จัดทำข้อมูลออกมาเป็นแผนที่ทั้งในรูปแบบแผ่นพับและแผนที่ดิจิตัลที่แสดงผ่านชุดคอมพิวเตอร์แสดงผลดังกล่าว

ด้าน ดร.บุญเตียม พิสมัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานองค์การวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สปป.ลาว กล่าวถึงการรับมอบแผนที่ท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกหลวงพระบางจากดาวเทียม THEOS ว่า แผนที่ดังกล่าวเป็นผลจากความร่วมมือกันของทั้งสองประเทศซึ่งมีความร่วมมือกันมาอย่างยาวนานในหลายๆ ด้าน ซึ่งการผลิตแผนที่โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสัญลักษณ์ของความร่วมมือระหว่างกันในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว ตัวแผนที่นั้นก็จะเป็นประโยชน์ในด่านการท่องเที่ยวต่อสปป.ลาวอีกด้วย ซึ่งในอนาคตหวังว่าจะมีการทำงานในลักษณะนี้ในพื้นที่อื่นๆ ของสปป.ลาวด้วย

ขณะที่ นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าดาวเทียม THEOS ถือเป็นดาวเทียมสำหรับการสำรวจทรัพยากรดวงแรกในภูมิภาค ซึ่งข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมนั้นประเทศไทยตั้งเป้าที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งในประเทศและในภูมิภาค โดยในส่วนของความร่วมมือกับสปป.ลาวที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกันมาเป็นเวลานานนั้น ในอนาคตน่าจะมีการนำข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ อย่างเช่นข้อมูลด้านทรัพยากร หรือข้อมูลเกี่ยวกับแม่น้ำโขงมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเตรียมที่จะนำคาราวานวิทยาศาสตร์ไปจัดแสดงและฝึกอบรมครูวิทยาศาสตร์ที่สปป.ลาว รวมทั้งสนับสนุนด้านวิชาการและเทคนิคให้กับสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติลาว และทำการวิจัยร่วมกันใน 5 ด้าน อาทิสาขาความหลากหลายทางชีวภาพและเทคโนโลยีเชื้อเพลิงชีวภาพ และสาขาเทคโนโลยีแสงซินโครตอน เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ร่วมกัน และเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของทั้งสองประเทศอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น