วท.เป็นเจ้าภาพเปิดตัว “เว็บไซต์เฉลิมพระเกียรติ” โดยรวบรวมข้อมูลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกือบ 4,000 โครงการที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ สทอภ. จัดทำข้อมูลภูมิสารสนเทศจากภาพถ่ายดาวเทียม มีล็อกซเลย์รับหน้าที่บริหารจัดการข้อมูล รมว.วท. ชี้เพื่อชื่นชมพระอัจฉริยภาพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมจุดประกายให้ ปชช. ไปปฏิบัติตาม
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้จัดงานแถลงข่าว “ระบบบริหารจัดการข้อมูลด้วยระบบภูมิสารสนเทศโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 54 ที่อาคารพระจอมเกล้า วท. โดย ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รมว.วท. เปิดเผยว่า วท.ได้ร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสานเทศ (สอทภ.) และ บริษัท ล็อกซเลย์ จำกัด (มหาชน) จัดทำโครงการเว็บไซต์เฉลิมพระเกียรติขึ้น เพื่อรวบรวบเรื่องราวเรื่องราว และผลสำเร็จของโครงการมาประมวลจัดเรียบเรียงไว้ที่เดียวผ่านเว็บไซต์ www.rdp.in.th โดยข้อมูลของโครงการพระราชดำริในปัจจุบันยังอยู่อย่างกระจัดกระจาย ไม่มีการรวบรวมข้อมูลและเรื่องราวทั้งหมดไว้
"โครงการนี้เริ่มต้นจากการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งกับทาง สทอภ. ว่า ควรนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมมาจัดทำเป็นระบบภูมิสารสนเทศ ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเนื่องจากปี 2554 ถือเป็นปีมหามงคลครบรอบ 84 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ พระองค์ท่านทรงนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้ เพื่อช่วยเหลือราษฏรผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ"
“และเพื่อให้ประชาชนที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษา ค้นคว้า ข้อมูลเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างสะดวกไม่ยุ่งยาก เนื่องจากเว็บไซต์ได้ออกแบบมาง่ายต่อการใช้งาน มีข้อมูลที่ทันสมัย มีภาพที่คมชัด มีความละเอียดสูง ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการจุดประกายให้พี่น้องประชาชนได้นำแนวคิดพระราชดำริด้านการพัฒนาต่างๆ ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปปฏิบัติตามต่อไป” รมว.วท. กล่าว
ทางด้าน นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการ กปร. กล่าวว่า ทาง กปร.จะเป็นหน่วยงานกลางที่จัดเก็บ รวบรวมข้อมูลพระราชดำริทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีโครงการพระราชดำริทั้งหมด 3,975 โครงการ โดยทางเจ้าหน้าที่ กปร. ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศนั้น สามารถอัพเดตข้อมูลได้ตลอดเวลา การทำงานจะมีความคล้ายกับวิกิพีเดีย
อีกทั้ง ทาง กปร.ส่วนกลางจะคัดกรองและตรวจสอบข้อมูลที่หน่วยงาน กปร.ทั่วประเทศอัพเดทเข้ามาเพื่อความถูกต้องของข้อมูล และเมื่อเข้ามายังเว็บไซต์เฉลิมพระเกียรติจะได้ทราบว่าแต่ละโครงการอยู่ในจุดไหน ตำแหน่งไหนบ้าง เพื่อง่ายต่อการค้นหาตำแหน่งต่อไป
นายวสันต์ จาติกวณิช กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทล็อกซเลย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการเว็บไซต์เฉลิมพระเกียรตินั้น มีระบบบริหารจัดการข้อมูลของบริษัทล็อคซเล่ย์เอง เนื่องจากบริษัทนั้นพัฒนาระบบแผนที่อีไอเอส โดยก่อนหน้านี้ได้นำไปใช้ประโยชน์ในโครงการระบบข้อมูลสถานการณ์อุทกภัยของศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) จึงได้เล็งเห็นว่าระบบดังกล่าวนั้นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการข้อมูลของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีถึง 3,975 โครงการ
ทั้งนี้ เว็บไซต์เฉลิมพระเกียรติ จะมีความโดดเด่นในเรื่องของแผนที่เป็นการผสมผสานระหว่าง "จีไอเอส" (ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ Geographic Information System : GIS) เป็นระบบแผนที่ และ "เอ็มไอเอส" (Management Information System : MIS) ระบบข้อมูลเพื่อการบริหาร ซึ่งจะได้ออกมาเป็นระบบอีไอเอส (Executive Information System : EIS) สามารถรองรับข้อมูลได้เป็นล้านจำนวนชุดข้อมูล และสามารถรองรับแผนที่ทุกรูปแบบทั่วโลก
อย่างไรก็ดี ระบบนี้ยังมีคุณสมบัติที่ง่ายต่อการนำเข้าข้อมูลและสืบค้นข้อมูลสำหรับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วไป ทำให้ข้อมูลมีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา และหากมีเหตุการณ์ หรือมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ กปร. ตามศูนย์ต่างๆ ทั่วประเทศ สามารถอัพเดตข้อมูลได้อยู่ตลอดเวลา เพราะสามารถรองรับข้อมูล หรือรูปภาพได้ทุกได้ทุกรูปแบบ
นอกจากนี้ ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รักษาการแทนผู้อำนวยการ สทอภ. กล่าวว่า สำหรับข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่นำมาใช้เป็นข้อมูลในเว็บไซต์เฉลิมพระเกียรตินั้น ประกอบด้วยข้อมูลดาวเทียมธีออส (THEOS) ซึ่งจะมีความละเอียดสูง สามารถแสดงที่ตั้งได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังเป็นข้อมูลที่ยังสามารถแสดงข้อมูลภาพรวมโครงการได้ทั้งหมด ว่าโครงการแต่ละโครงการอยู่ในตำแหน่งไหน ถนนอะไร มีเส้นทางการเดินทางอย่างไรบ้าง
ตลอดจนยังมีการแสดงรายละเอียดของโครงการพระราชดำริย้อนหลัง 20 – 30 เพื่อเป็นการแสดงให้ว่ามีการพัฒนาอย่างไรจากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งโครงการดังกล่าวนั้นคาดว่าอีก 2 เดือน จะทำได้ 60% และจะสำเร็จ 90% ก่อนวันที่ 5 ธ.ค.55 เพื่อเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และชื่นชมพระอัจฉริยภาพของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว