xs
xsm
sm
md
lg

คิดเบี้ยประกันภัยน้ำท่วมตามเสี่ยงด้วยข้อมูลดาวเทียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 (ซ้ายไปขวา) นายวิชัย สันติมหกุลเลิศ นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และนางปราณีต ดิษริยะกุล รอง ผอ.สทอภ.
สทอภ.กระจายข้อมูลสู่สมาคมประกันวินาศภัย นำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ประเดิม 16 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำท่าจีน เพื่อคิดเบี้ยประกันตามความเสี่ยง และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เบื้องต้นรับประกันความเสียหายเฉพาะทรัพย์สินก่อน

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ.และสมาคมประกันวินาศภัย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาต้นแบบแผนที่และแบบจำลองการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยจากน้ำท่วม เพื่อการรับประกันวินาศภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำท่าจีน เมื่อ 5 ส.ค.54 ณ สมาคมประกันวินาศภัย โดยมีระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการบริหาร รักษาการผู้อำนวยการ สทอภ.กล่าวระหว่างพิธีลงนามซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้เข้าร่วมด้วยว่า หนึ่งในภาระของ สทอภ.คือทำให้มีการใช้งานข้อมูลดาวเทียมและภูมิสารสนเทศทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยทางสำนักงานมีดาวเทียม 1 ดวงคือดาวเทียมธีออส (THEOS) และซื้อข้อมูลดาวเทียมจากต่างประเทศอีก 6-7 ดวง

“กรณีการการจัดการภัยพิบัติ เราเป็นองค์การมหาชนแรกๆ ของประเทศที่ทำเรื่องติดตามภัยพิบัติ สึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมและไฟป่า โดยใช้ดาวเทียมในการติดตาม ซึ่งเราทำมาตั้งแต่ยังเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เราได้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมบันทึกเหตุการณ์น้ำท่วม แต่ภาพถ่ายดังกล่าวไม่สามารถบอกได้ทันทีว่าปีหน้าจะเกิดน้ำท่วมหรือไม่ แต่ก็รวบรวมภาพถ่ายเหล่านี้มากกว่า 10 ปี และคิดว่าจะเพิ่มมูลค่าให้แก่ภาพถ่ายดาวเทียมนี้อย่างไรบ้าง” ดร.อานนท์กล่าว

การลงนามความร่วมมือกับสมาคมประกันวินาศภัยจะเพิ่มมูลค่าให้แก่ภาพถ่ายดาวเทียมและเป็นการกระจายการใช้ประโยชน์แก่ภาคเอกชน โดย ดร.อานนท์กล่าวว่าข้อมูลเหล่านี้จะบอกถึงความถี่ในการเกิดน้ำท่วมของแต่ละพื้นที่ และเกิดสภาพน้ำท่วมอย่างไร จากนั้นจะใช้สถิติและแบบจำลองทางคณิตศาสตร์มาคาดการณ์ความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมในอนาคต

“ความถี่และความเสี่ยงก็ตรงกับความต้องการของสมาคมประกันวินาศภัย จึงเกิดเป็นพันธมิตรและการทำงานร่วมกันในครั้งนี้ขึ้น ซึ่งประโยชน์จะเกิดแก่ประชาชน และบริษัทเอกชน ข้อมูลเหล่านี้ทำให้การประเมินความเสี่ยงใกล้เคียงความจริง และช่วยภาคเอกชนบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีขึ้น กระจายการบริหารจัดการความเสี่ยงของภาครัฐลงมายังภาคเอกชนมากขึ้น ที่ผ่านมาการพึ่งรัฐอย่างเดียวไม่เพียงพอแก่ความต้องการ เพราะภาครัฐมีงบประมาณจำกัด” ดร.อานนท์กล่าว

นายวิชัย สันติมหกุลเลิศ ประธานคณะกรรมการประกันภัยทรัพย์สิน สมาคมประกันวินาศภัย กล่าวว่านำร่องใน 16 จังหวัดแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำท่าจีนก่อน เพราะเป็นลุ่มน้ำสำคัญและมีการท่วมทุกปี ซึ่งที่ผ่านมาประเมินความเสี่ยงจากการส่งคนไปสอบถาม แต่ครั้งนี้เป็นการนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมมาประเมินซึ่งจะให้ความละเอียดถึงระดับตำบล ดังนั้น ในอำเภอเดียวกันอาจมีเบี้ยประกันไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ พื้นที่มีความเสี่ยงสูงจะมีเบี้ยประกันแพงกว่า โดยทาง สทอภ.จะจัดระดับความเสี่ยงตามความถี่ในการเกิดน้ำท่วม

ลักษณะการนำภาพถ่ายดาวเทียมมาประเมินความเสี่ยงเพื่อรับประกันวินาศภัยนี้ นายวิชัยกล่าวว่าเป็นรูปแบบที่ทางฝรั่งเศสมีใช้มานานแล้ว และใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลังไปถึง 20 ปี พร้อมทั้งอธิบายมาตรการจัดการของฝรั่งเศสว่า หากพื้นที่ใดมีน้ำท่วม 5 ปีขึ้นไป ประชาชนต้องมีส่วนช่วยในการรับมือกับปัญหา และถ้าท่วมบ่อย 5-10 ปี หน่วยงานท้องถิ่นต้องเข้ามาดู แต่ถ้าหากท่วมตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปรัฐบาลต้องเข้ามาช่วย เพราะรัฐบาลไม่ควรปล่อยให้มีพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากทุกปี นอกจากนี้ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมสูงและมีเบี้ยประกันแพงนั้น หากได้จัดการรับมือเพื่อบรรเทาภัยแล้วจะได้ลดเบี้ยประกันให้ถูกลงด้วย

ด้าน นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัย กล่าวว่าลำพังเงินงบประมาณของรัฐบาลไม่เพียงพอกับความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงต้องเอาธุรกิจประกันเข้าไปช่วยรับความเสี่ยง ซึ่งทางสมาคมโดยเฉพาะส่วนคณะกรรมการประกันภัยทรัพย์สินเห็นว่าภาระดังกล่าวเป็นหน้าที่ของสมาคมประกันวินาศภัย โดยเบื้องต้นของการรับประกันวินาศภัยในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมนั้นจะรับเฉพาะประกันความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สิน

พร้อมกันนี้ นายชิโนรส บุญเจิม รักษาการหัวหน้าฝ่ายพัฒนาพันธมิตรทางธุรกิจ สทอภ.เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ว่า ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่นำมาใช้ในความร่วมมือครั้งนี้เป็นข้อมูลจากดาวเทียมทุกดวงที่ทางสำนักงานรับสัญญาณและใช้งานในการเก็บข้อมูลภัยพิบัติที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงดาวเทียมธีออสที่เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงเดียวของไทย และดาวเทียมต่างประเทศดวงอื่นๆ เช่น ดาวเทียมสปอต (SPOT) ดาวเทียมเรดาร์แซท (RadarSat) และดาวเทียมแลนด์แซท (Landsat) เป็นต้น

“เราจะนำข้อมูลมาซ้อนๆ กันและวิเคราะห์หาความซ้ำซากในการเกิดน้ำท่วม คาดว่าภายใน 3 เดือนน่าจะสร้างแบบจำลองได้ทันใช้งานรอบการเกิดน้ำท่วมช่วง ต.ค.-พ.ย.นี้ และจะมีการปรับปรุงข้อมูลต่อเนื่องตลอดระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี ดังนั้น จะมีข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและภูมิสารสนเทศเพื่อการประเมินความเสี่ยงนี้รวมทั้งหมด 10 ปี” นายชิโนรส

ทั้งนี้ ทาง สทอภ.จะเป็นผู้ให้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อออกแบบจำลอง ส่วนทางสมาคมประกันวินาศภัยจะเป็นผู้อุดหนุนทุนและขยายผลสู่บริษัทประกันภัยที่เป็นสมาชิก โดย 16 จังหวัดในพื้นที่ศึกษาเพื่อประเมินความเสี่ยง ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครนายก และกำแพงเพชร
นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น