xs
xsm
sm
md
lg

ตะลุยค่ายอวกาศสำรวจเทคโนโลยีส่องโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เยาวชนในค่ายต่างสนุกสนานกับการทดลองใช้ “เครื่องรับสัญญาณจีพีเอส” เพื่อหาสิ่งของ และ สถานที่จากค่าพิกัดที่กำหนดให้
ปัจจุบันเทคโนโลยีอวกาศได้บทบาทต่อชีวิตคนยุคใหม่หลายๆ ด้าน ทั้งการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ สำรวจป่าไม้ ค้นหาพิกัดต่างๆ บนโลก ตลอดจนประยุกต์ใช้เพื่อรับมือกับภัยพิบัติได้ แล้วเทคโนโลยีเหล่านั้นมีอะไร? ไปร่วมค้นหาคำตอบกับเราใน “ค่ายตะลุยอวกาศ”

“ค่ายเยาวชนตะลุยอวกาศ” ครั้งที่ 16 ประจำภาคกลาง จัดขึ้น โดย สถาบันพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (สพอ.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ระหว่างวันที่ 25-26 พ.ค.54 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร  อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่ง ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ไม่พลาดที่จะร่วมสำรวจกิจกรรมในค่ายเยาวชนนี้ 

ในค่ายนี้มีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ เข้าร่วมทั้งหมด 280 คน จาก 30 โรงเรียน ซึ่งจากการเดินสำรวจของทีมข่าววิทยาศาสตร์พบว่ามีฐานกิจกรรมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศทั้งหมด 6 ฐาน ซึ่งนักเรียนในค่ายจะแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม เพื่อเวียนทำกิจกรรมในแต่ละฐาน โดยใช้เวลาฐานละประมาณ 45 นาที แบ่งเป็นการบรรยาย 15 นาที และเล่นเกม 35 นาที
 

น.ส.สุภาพิศ ผลงาม ผู้อำนวยการ สพอ. กล่าวว่า แต่ละฐานการเรียนรู้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านของ สทอภ. ทำหน้าที่เป็นวิทยากรประจำฐาน เพื่อทำให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศได้ถูกต้อง เกิดกระบวนการเรียนรู้และเข้าใจอย่างแท้จริง

“ฐานการเรียนรู้ระบบการกำหนดตำแหน่งพื้นโลกด้วยดาวเทียม” (Global Positioning System) เป็นเป็นฐานแรกที่ทีมข่าววิทยาศาสตร์มาสำรวจการทำกิจกรรมของน้องๆ ฐานนี้ได้รับความสนใจจากเยาวชนในค่ายเป็นอย่างมาก เพราะแต่ละคนได้ทดลองใช้เครื่องรับสัญญาณจีพีเอส ซึ่งเครื่องนี้อาศัยการคำนวณความถี่ที่ส่งมาจากดาวเทียมซึ่งโคจรอยู่รอบโลกแล้วประมวลผลเพื่อหาค่าพิกัดปัจจุบันของเครื่องรับสัญญาณ

ฐานการเรียนรู้นี้ยังได้ให้นักเรียนฝึกทดลองใช้อุปกรณ์ดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยๆ แล้วให้เครื่องรับสัญญาณจีพีเอส กลุ่มละ 2 เครื่อง จากนั้นแต่ละกลุ่มต้องหาสิ่งของหรือสถานที่จากค่าพิกัดที่กำหนดไว้และตามเวลาที่กำหนด

หลังจากนั้นวิทยากรยังได้อธิบายประโยชน์ของเครื่องรับสัญญาณจีพีเอส ให้ผู้เข้าฐานฟังว่า สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น ใช้ระบุพิกัดในการเดินทาง ดูการคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก โดยนำไปติดตั้งสันเขื่อนหรือปากปล่องภูเขาไฟ แล้วนำข้อมูลมาคำนวณหาการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก รวมถึงใช้ติดตามตัวสัตว์ป่าเพื่อตามพิกัดของสัตว์นั้นๆ ในป่า หรือติดในรถยนต์เพื่อระบุพิกัด เป็นต้น

มาที่ “ฐานการเรียนรู้เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล” (Remote Sensing) ฐานนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เล่นเกมฝึกการแปลภาพถ่ายจากดาวเทียมเบื้องต้นที่ได้มาจากเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล โดยให้กลุ่มช่วยกันจับคู่รูปภาพของสถานที่ต่างๆ กับภาพข้อมูลจากดาวเทียมที่มีลักษณะเหมือนกัน เพื่อฝึกการสังเกต และฝึกการทำงานเป็นทีม

ถัดมาที่ “ฐานการเรียนรู้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์” ( Geographic Information System: GIS) เป็นการให้ความรู้กระบวนการทำงานเกี่ยวกับข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่สามารถแสดงรายละเอียดในรูปแบบหลากหลายขององค์ประกอบภูมิประเทศเชื้อมโยงกับฐานข้อมูล เพื่อใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ด้านต่างๆ ในทางภูมิศาสตร์ 

สำหรับ “ฐานการเรียนรู้ตะลุยอวกาศ” วิทยากรได้ให้ความรู้ของวิวัฒนาการในอากาศ ตลอดจนบรรยายประโยชน์และอุปกรณ์สำคัญต่างๆ บนดาวเทียมธีออส (THEOS) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจระยะไกลที่ใช้สำรวจทรัพยากรของประเทศไทย  และในฐานนี้ยังมีคำถามฝึกสมอง “มนุษย์ทำไมถึงลอยในอากาศได้?”, “นักบินอวกาศคนแรกของโลกคือใคร?” เพื่อทดสอบความจำและทบทวนเนื้อหาที่อธิบายในช่วงแรกด้วย

 
สำหรับฐานกิจกรรมในค่ายยังมี "ฐานบูรณาการการเรียนรู้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ" และ "ฐานการเรียนรู้ภูมิศาสตร์และการอ่านแผนที่" ให้เยาวชนในค่ายได้ร่วมสนุกแลกเปลี่ยนความรู้กับวิทยากรอีก ทั้งนี้ เยาวชนแต่ละโรงเรียนยังต้องนำความรู้จากฐานกิจกรรมไปคิดโครงการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาในชุมชน ผลงานที่สามารถนำไปใช้ได้จริงจะได้รับคัดเลือกเพื่อเข้าแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ทาง สทอภ.จัดขึ้นปลาย ปี 2554 นี้

“เปเล่” หรือ ปริญญา บัวบุญ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนป้อมนาคราชสวาทยานนท์ จ. สมุทรปราการ บอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า การเข้าค่ายครั้งนี้สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เขานำความรู้เรื่องเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อพัฒนาประเทศ  โดยเปเล่ อธิบายว่า จะนำความรู้ที่ได้จากการเข้าค่ายครั้งนี้ไปศึกษาท่าเรือปากน้ำ จ.สมุทรปราการ เพื่อสำรวจการทรุดของดิน การเกิดน้ำขึ้นน้ำลง และจะหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการกัดเซาะตลิ่งต่อไป
 
“การเข้าค่ายในครั้งนี้นั้น นอกจากความรู้เรื่องเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศแล้ว ยังทำให้ผมได้รู้จักเพื่อนใหม่ ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดจนการทำงานเป็นทีม ประทับใจมากครับ” เปเล่ กล่าวถึง ความรู้สึก

แม้อนาคตตั้งใจอยากเป็นนักเคมี แต่การได้เรียนรู้กิจกรรมในค่ายเยาวชนตะลุยอวกาศไม่ทำให้ “เอ” นายนพสิทธิ์ เอี่ยมลออธนี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย จ.สมุทปราการ ผิดหวัง ซึ่งเขาบอกว่าการมาเข้าค่ายครั้งนี้ทำให้มีความเข้าใจเรื่องภูมิศาสตร์มากยิ่งขึ้น ทั้งยังได้รู้จักประเภทของดาวเทียม ประโยชน์การใช้ดาวเทียมเพื่อสำรวจ สื่อสาร รวมถึงได้ฝึกดูแผนที่จากดาวเทียมอีกด้วย

ไม่แตกต่างกับ “นุ๊ก” น.ส.กฤษติยา สารพจน์ นักเรียนชั้นม. 4 จาก โรงเรียนอุดมศึกษาพัฒนาการ จ.นนทบุรี ที่เผยว่า การเข้ากิจกรรมในครั้งนี้ทำให้รู้ถึงประโยชน์เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ในการนำไปจัดการและวางแผนงานด้านต่างๆ ทั้งการเกษตร ชลประทาน การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศได้

“โครงงานวิจัยที่จะทำส่งประกวดต่อจากนี้ จะนำความรู้ที่ได้ไปศึกษาสภาพพื้นดินการปลูกทุเรียน เนื่องจากปัจจุบันทุเรียน จ.นนทบุรีเริ่มมีน้อยลง จากสภาพปัญหาน้ำท่วมและจากผลกระทบในหลายด้าน จึงอยากแก้ปัญหาในเรื่องนี้ นอกจากนั้นจะนำใช้ในการสำรวจเส้นทางจราจร เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหารถติดขัดต่อไป” นุ๊กกล่าว

สำหรับค่ายเยาวชนตะลุยอวกาศนี้ ทาง สทอภ.ได้จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งแต่ละปีจะตระเวณจัดค่ายตามภูมิภาคต่างๆ 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคใต้
น้องๆ ในค่ายได้ฝึกการดูแผนที่ 1:50,000 ซึ่งเป็นแผนที่มีความละเอียดค่อนข้างสูงและนิยมนำมาใช้งานในหน่วยงานราชการทั่วไป
กิจกรรมจาก ฐานการเรียนรู้ระบบการกำหนดตำแหน่งพื้นโลกด้วยดาวเทียม” ที่น้องๆ ได้ทดลองใช้เครื่องรับสัญญาณจีพีเอส ซึ่งเครื่องนี้อาศัยการคำนวณจากความถี่ส่งมาจากดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลกมาประมวลผลเพื่อหาค่าพิกัดปัจจุบันได้
“ฐานการเรียนรู้ตะลุยอวกาศ” วิทยากรได้ให้ความรู้ของวิวัฒนาการในอากาศ ตลอดจนบรรยายประโยชน์และอุปกรณ์สำคัญต่างๆ บนตัวดาวเทียมธีออส  พร้อมกับคำถามฝึกสมอง “มนุษย์ทำไมถึงลอยในอากาศได้”, “นักบินอวกาศคนแรกของโลกคือใคร” เพื่อทดสอบความจำและทบทวนเนื้อหาที่อธิบายในช่วงแรกด้วย
วิทยากรได้บรรยายความหมายและลักษณะเส้นชั้นความสูงที่ปรากฏในแผนที่ภูมิประเทศ  เพื่อให้เด็กฝึกทักษะการสังเกต คิดอย่างมีเหตุผล จากฐานการเรียนรู้ภูมิศาสตร์และการอ่านแผนที่
ฐานบูรณาการการเรียนรู้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ  ฐานนี้วิทยากรได้บรรยายให้ชาวค่ายเกิดความเข้าใจว่า ความรู้จากฐานการเรียนรู้ต่างๆ สามารถบูรณาการเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ข้อมูลจากดาวเทียมธีออส  และเรื่องภูมิศาสตร์และการอ่านแผนที่เข้าด้วยกันได้  เพื่อนำไปพัฒนาประเทศทั้งการการวางแผนงาน ตลอจนการจัดการบริหารทรัพยากรของประเทศ
ตัวอย่างแผนที่ดาวเทียมของกรุงเทพมหานคร
นางสาวสุภาพิศ ผลงาม ผอ.สพอ. กล่าวว่า นอกจากการทำกิจกรรมตามฐานการเรียนรู้แล้ว แต่ละโรงเรียนจะต้องนำความรู้ที่ได้จากฐานกิจกรรมทั้ง 6 ฐาน ไปคิดโครงงานวิจัยในการแก้ปัญหาชุมชน หากผลงานใดผ่านการเข้ารอบจะได้ไปแข่งขันโครงงานระดับเยาวชนที่จะมีขึ้นปลายปีนี้
“เปเล่”  นายปริญญา บัวบุญ นักเรียนชั้นม.4  ร.ร.ป้อมนาคราชสวาทยานนท์ จ. สมุทรปราการ หนึ่งในเยาวชนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ บอกว่าจะนำความรู้ที่ได้จากการเข้าค่ายครั้งนี้ไปศึกษาการทรุดของดินที่ท่าเรือปากน้ำของ จ.สมุทรปราการ เพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการกัดเซาะตลิ่งต่อไป
“เอ”  นายนพสิทธิ์ เอี่ยมละออธนี  นักเรียนชั้น ม.5 ร.ร. นวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย จ.สมุทปราการ
“นุ๊ก” น.ส.กฤษติยา สารพจน์ (ขวา) และ “เดียร์” นายฉัฐวัชร์ แพรสุวรรณ์ นักเรียนชั้นม. 4 จากร.ร.อุดมศึกษาพัฒนาการ จ.นนทบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น