วิศวกรดาวเทียมเผยปีหน้าอาจมีกรณี “จอมืด” อีก เหตุเพราะจะเกิดพายุสุริยะรุนแรงขึ้น ระบุหากเกิดปัญหาขึ้นแล้วทำอะไรไม่ได้ นอกจากดาวเทียมเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่ “เซฟโหมด” โดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นเรื่องปกติในการทำงานของดาวเทียม ส่วนการแก้ปัญหาโดยทั่วไป ในสัญญาต้องระบุอยู่แล้ว ว่าจะรับมืออย่างไร
จากเหตุขัดข้องที่เกิดขึ้นกับดาวเทียมไทยคม 5 จนเป็นเหตุให้หลายพื้นที่ไม่สามารถรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมได้ หรือที่เรียกกันว่า “จอมืด” ซึ่งผู้เกี่ยวข้องได้ออกมาชี้แจ้งว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหา “อิเล็กโทร สเตติก ดิสชาร์จ” (Electrostatic discharge: ESD) หรือการถ่ายเทประจุอย่างรวดเร็ว
นายดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด หัวหน้าฝ่ายควบคุมดาวเทียม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. อธิบายถึงปัญหาดังกล่าว ให้แก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า จากคำอธิบายว่าเกิดปัญหาการถ่ายเทประจุอย่างรวดเร็วนั้น เป็นไปได้ที่จะเกิดปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้ เขาได้เปรียบเทียบการส่งดาวเทียมขึ้นไปในอวกาศว่า เหมือนการนำคอมพิวเตอร์ออกไปไว้บนอวกาศ เมื่อคอมพิวเตอร์เกิดอาการค้างหรือที่เรียกกันว่า “แฮงค์” นั้น คอมพิวเตอร์จะเข้าสู่ “เซฟโหมด” (Safe Mode) ในกรณีของดาวเทียมก็เช่นกันกับ
“วิศวกรของไทยคม ต้องแก้จากเซฟโหมดเป็นโอเปอเรชันโหมด (Operation Mode) ส่วนคำอธิบายที่บอกว่า ต้องให้ดาวเทียมหันหน้าเข้าดวงอาทิตย์นั้น น่าจะเป็นการหันแผงเซลล์แสงอาทิตย์เข้าหาดวงอาทิตย์เพื่อชาร์จพลังงาน เนื่องจากปัญหาดังกล่าวทำให้ดาวเทียมต้องใช้พลังงานมาก"
"ส่วนระยะเวลาในการแก้ปัญหานั้น ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของดาวเทียมและปัญหาที่เกิด ซึ่งการแก้ปัญหา 3 ชั่วโมงก็เป็นระยะเวลาที่ไม่นานเกินไป แต่ที่บอกว่าปกติต้องใช้เวลาแก้ปัญหาถึง 10 ชั่วโมงนั้น ไม่เห็นด้วย เพราะปัญหาแต่อย่างไม่เหมือนกัน เหมือนเวลาคอมพ์เสีย” นายดำรงฤทธิ์อธิบาย
ปัญหาการถ่ายเทประจุอย่างรวดเร็วนั้น เป็นผลจากลมสุริยะ ซึ่งหัวหน้าฝ่ายควบคุมดาวเทียม สทอภ.กล่าวว่า ปีหน้าอาจจะเกิดปัญหาจอมืดคล้ายๆ กันนี้อีก เพราะปีหน้าจะเกิดพายุสุริยะรุนแรงขึ้นอีก และยกตัวอย่างด้วยว่า อนุภาคมีประจุจากพายุสุริยะนั้น เคยทำให้เกิดเกิดไฟฟ้าดับและดาวเทียมขัดข้องในสหรัฐฯ เมื่อหลายปีก่อน
ส่วนจะป้องกันอะไรได้หรือไม่นั้น โดยปกติดาวเทียมจะมีระบบป้องกันตัวเอง ในกรณีเกิดปัญหาแบบซิงเกิล อีเวนต์ อัพเซ็ต (single event upset : SEU) คือปรากฎการณ์อนุภาคพลังงานสูงเคลื่อนที่มากับลมสุริยะ ส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนดาวเทียม ทำให้ทำงานผิดพลาด แต่กรณีล่าสุดเป็นปัญหาแบบมัลติเพิล อีเวนต์ อัพเซ็ต (multiple event upset) ซึ่งดาวเทียมจะเข้าสู่เซฟโหมดโดยอัตโนมัติ และสถานีควบคุมภาคพื้นก็ไม่สามารถทำอะไรได้
“พายุสุริยะนั้นจะส่งอนุภาคมีประจุ หรือรังสีออกมา ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ และอีกปัญหาคือ คล้ายมีลมเข้ามาปะทะดาวเทียม คล้ายๆ ลูกบอลที่อยู่ใกล้พัดลม จึงจำเป็นต้องปรับตำแหน่งของดาวเทียมในวงโคจร ซึ่งปกติต้องปรับอยู่แล้ว เพราะดาวเทียมนั้น จะเคลื่อนตัวเล็กน้อยโดยหมุนอยู่ในกรอบเหมือนเลข 8 ซึ่งผู้ควบคุมภาคพื้น ต้องคอยปรับให้ดาวเทียมอยู่ในกรอบ แต่ถ้าเจอพายุสุริยะอีกก็ต้องปรับอีก” นายดำรงฤทธิ์กล่าว
ดาวเทียมค้างฟ้า ซึ่งต้องอยู่สูงจากโลกถึง 36,000 กิโลเมตรนั้น จะได้รับผลกระทบจากพายุสุริยะมากกว่าดาวเทียมที่อยู่ในวงโคจรระดับต่ำ อย่างดาวเทียมธีออส (THEOS) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของไทย ที่อยู่ในวงโคจรสูงประมาณ 820 กิโลเมตรเท่านั้น แต่เคยมีปัญหาเดียวกันนี้ และไม่สามารถส่งสัญญาณได้ แต่ไม่มีใครรู้เพราะดาวเทียมธีออสไม่ได้ถ่ายทอดสดสัญญาณเหมือนดาวเทียมไทยคม และทีมวิศวกรธีออสสามารถแก้ปัญหาจนกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม
อย่างไรก็ดี ดาวเทียมทุกดวง มีโอกาสเผชิญกับพายุสุริยะอยู่แล้ว ซึ่งในการรับมือกับปัญหานั้น นายดำรงฤทธิ์กล่าวว่า สำหรับดาวเทียมที่ใช้งานในเชิงพาณิชย์นั้น ต้องต้องระบุแนวทางรับมืออยู่ในสัญญาอยู่แล้วว่า หากเกิดปัญหาจะต้องแก้ไขให้สามารถกลับมาสื่อสารได้ภายในระยะเวลาเท่าไร อาจจะมีดาวเทียมสำรองหรือเชื่อมสัญญาณกับดาวเทียมอื่นก็ได้ ไม่เช่นนั้นจะจะทำให้เสียผลประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ.