นักวิทยาศาสตร์ผู้เฝ้าสังเกตปรากฏการณ์บนดวงอาทิตย์ พบดวงไฟสุริยะปะทุรุนแรงที่สุดในรอบ 4 ปี โดยการปะทุจัดอยู่ในการรุกจ้าระดับ X ซึ่งเป็นระดับรุนแรงที่สุด และส่งผลกระทบต่อการสื่อสารบนโลกได้ อีกทั้งอาจทำให้เกิดแสงออโรราที่เห็นได้ ทางตอนเหนือของอังกฤษและสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ยานหอดูดาวโซลาร์ไดนามิกส์ (Solar Dynamics Observatory: SDO) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้บันทึกการแผ่รังสีอัลตราไวโอเลตอย่างรุนแรงที่พ่นมาจากจุดมืด (sunspot) บนดวงอาทิตย์ และบีบีซีนิวส์รายงานว่าทางหน่วยสำรวจทางธรณีอังกฤษ (British Geological Survey: BGS) ได้ประกาศเตือนพายุสนามแม่เหล็ก และบอกด้วยอาจได้เห็นแสงเหนือหรือออโรรา (aurora) ทางตอนเหนือของสหราชอาณาจักร
ขณะที่ทางสเปซด็อทคอมรายงานว่า การปะทุครั้งนี้จะกระตุ้นให้เกิดแสงเหนือบริเวณละติจูดสูงๆ และบางครั้งอาจเห็นได้ทางตอนเหนือของสหรัฐฯ ด้วย โดยพายุสุริยะได้ส่งการแผ่รังสีเป็นห้วงสั้นๆ พุ่งตรงมายังโลกเป็นเวลาหลายนาที และกลุ่มอนุภาคมีประจุได้พุ่งตรงมายังโลกของเรา ซึ่งการปะทุครั้งนี้เป็นการพ่นมวลโคโรนา (coronal mass ejections) หรือซีเอ็มอี (CME) และอนุภาคมีประจุเหล่านั้นจะใช้เวลา 24 ชั่วโมงหรือมากกว่าเดินทางมาถึงโลก
การปะทุรุนแรงนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลา 08.56 น.ของวันที่ 15 ก.พ.54 ตามเวลาประเทศไทย และจากข้อมูลของนาซายังบอกอีกว่าจุดมืด 1158 ที่มีความเคลื่อนไหวอยู่นี้โตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนการจุกจ้า (Solar flares) ของดวงอาทิตย์นั้น มีสาเหตุจากการปลดปล่อยพลังงานแม่เหล็กที่เก็บไว้ในชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์อย่างรวดเร็ว
ข้อมูลเบื้องต้นที่ชี้ว่าการปะทุครั้งนี้เป็นการพ่นจากชั้นโคโรนานั้นบีบีซีนิวส์ระบุว่า เป็นข้อมูลจากยานสำรวจดวงอาทิตย์ 2 คือ ยานสเตอริโอ บี (Stereo-B) และยานโซโฮ (Soho)
สำหรับการปะทุครั้งใหญ่นี้ จัดอยู่ในประเภทคลาส เอกซ์ 2.2 (Class X2.2) ตามลำดับความรุนแรงในการปะทุของดวงอาทิตย์ และเป็นการปะทุในคลาสเอกซ์ครั้งแรกของวัฏจักรดวงอาทิตย์รอบใหม่ ซึ่งเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และตอนนี้ดวงอาทิตย์กำลังเดินหน้าเข้าสู่ช่วงสูงสุดบนดวงอาทิตย์ (solar maximum) ประมาณปี 2013
“มันเป็นการลุกจ้าที่รุนแรงที่สุดนับแต่เมื่อ 6 ธ.ค.2006 เป็นเวลายาวนานทีเดียว มันมีสัญญาณที่ทำให้เราเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่การปะทุครั้งใหญ่ ตั้งแต่คลาสเอ็ม (Class M) ขึ้นไปจะเกิดขึ้น แต่เราต้องแปลกใจทีเดียวที่เมื่อเกิดขึ้นจริงกลายเป็นการปะทุระดับรุนแรงถึงคลาสเอกซ์” ฟิล แชมเบอร์ลิน (Phil Chamberlin) นักวิทยาศาสตร์โครงการยานหอดูดาวโซลาร์ไดนามิกส์ของนาซา ซึ่งสังเกตเห็นปรากฏการณ์ล่าสุดนี้ให้ความเห็น
การลุกจ้าคลาสเอกซ์นั้นเป็นการลุกจ้ารุนแรงที่สุดที่ดวงอาทิตย์จะปะทุออกมาได้ นอกจากนี้ยังมีระดับที่รุนแรงน้อยกว่า 2 ระดับ คือ การลุกจ้าคลาสเอ็ม ซึ่งมีความรุนแรงระดับกลางแต่ยังทรงพลังอยู่มาก และการลุกจ้าคลาสซี (Class C) ซึ่งเป็นพายุสุริยะที่รุนแรงน้อยที่สุดของดวงอาทิตย์
สเปซด็อทคอมอ้างข้อมูลจากเว็บไซต์สเปซเวเธอร์ (Spaceweather.com) ซึ่งติดตามสภาพอวกาศ (space weather) และปรากฏการณ์บนท้องฟ้าอยู่เสมอว่า การลุกจ้าครั้งนี้เป็นการลุกจ้าที่รุนแรงที่สุดในรอบ 4 ปี และการปะทุเกิดขึ้นในวัฏจักรสุริยะรอบที่ 24 (Solar Cycle 24)
“มันหมายความว่าวัฏจักรสุริยะรอบที่ 24 กำลังถี่ขึ้น และนี่อาจเป็นการปะทุคลาสเอกซ์แรก ซึ่งคาดว่าน่าจะมีมากขึ้นในอีก 2-4 ปีข้างหน้า ซึ่งเรากำลังจะเข้าสู่ช่วงสูงสุดของดวงอาทิตย์ก่อนที่จะค่อยๆ ลดลง” แชมเบอร์ลินอธิบายกับสเปซด็อทคอม
การปะทุคลาสเอกซ์นี้เกิดขึ้นไล่ๆ กับการปะทุคลาสเอ็ม 6.6 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ และทั้ง 2 กิจกรรมนี้เกิดจากบริเวณเดียวกันของดวงอาทิตย์คือบริเวณจุดมืด 1158 และการปะทุรุนแรงครั้งนี้ทำให้โลกของเราอาบรังสีอัลตราไวโอเลตปริมาณมาก และส่งยังรังสีเอกซ์อีกมหาศาลหมุนควงมายังโลกของเรา เมื่อทั้งอิเล็กตรอนและโปรตอนจากลมสุริยะนี้ปะทะเข้ากับสนามแม่เหล็กโลกและขั้วแม่เหล็กโลก แล้วจะทำเกิดพายุสนามแม่เหล็กโลก (Geomagnetic storms) ได้
“พายุสนามแม่เหล็กโลกอาจเกิดขึ้นเมื่อการพ่นมวลซีเอ็มอีมาถึงโลกหลังจากการปะทุ 36-48 ชั่วโมง” สเปซด็อทคอมระบุรายงานของเว็บไซต์สเปซเวเธอร์
ชมคลิปการจุกจ้าคลาสเอกซ์ 2.2 ที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุด